svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

นายกฯ กล่อมนักลงทุนญี่ปุ่นมาไทย ด้าน รมต.ญี่ปุ่น หนุนไทยส่งออกรถอันดับ 1 โลก

15 ธันวาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"นายกฯ เศรษฐา" โชว์วิชั่นกล่อม 500 นักธุรกิจญี่ปุ่น ย้ำความสัมพันธ์ 136 ปี ระบุนโยบาย 2 ชาติสอดคล้อง พร้อมชวนลงทุนในไทย ลั่น พร้อมหนุนนักธุรกิจรายเดิม-รายใหม่ ร่วมพัฒนาแลนด์บริดจ์ ด้าน "รมต.เศรษฐกิจญี่ปุ่น" ป้ายแดง ยาหอมเล็งยกไทยศูนย์การผลิต-ส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งโลก

15 ธันวาคม 2566 เมื่อเวลา 09.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่น ที่เร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง) ที่โรงแรมอินพีเรียลโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ธ.ค. เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นายไซโต เค็น (H.E. Mr. Saito Ken) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อช่วงเย็นวันที่ 14 ธ.ค. เข้าเยี่ยมคารวะ นายเศรษฐา

หลังจากนั้น นายเศรษฐา ขึ้นกล่าวปาฐกถาในงานสัมมนา “Thailand-Japan Investment Forum” ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โดยมี นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมงานด้วย โดยมี นายไซโต รวมถึงนักลงทุนจากญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 500 คนเข้าร่วม นับเป็นการรสัมมนาใหญ่ระหว่าง 2 ประเทศด้านเศรษกิจครั้งแรก หลังสถานการโควิด-19 คลี่คลาย

โดย นายเศรษฐา กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ขอบคุณและถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจและการพัฒนาที่รัฐบาลไทยเร่งดําเนินการ เพื่อเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก โดยไทยและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการทูตอันดีและยาวนานกว่า 136 ปี  ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และสังคม

     1. ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่มีกว่า 136 ปี เป็นมิตรแท้ที่มีความสัมพันธ์กันในทุกระดับ ทั้งราชวงศ์ รัฐบาลและภาคธุรกิจไป ตลอดจนภาคประชาชน มีบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท มีชาวญี่ปุ่นในไทย 80,000 คน ซึ่งมีส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจไทย

นายกฯ เศรษฐา กล่าวปาฐกถา

     2. วันนี้รัฐบาลมีแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งเศรษฐกิจใหม่, เศรษฐกิจดิจิทัล, เศรษฐกิจสีเขียว, อุตสาหกรรมเอไอ, การวิจัย และพัฒนาสตารท์อัพให้เติบโตในเวทีโลก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายญี่ปุ่นที่เน้นเทคโนโลยีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่บริษัทใหญ่ไปจนถึงบริษัทท้องถิ่น หวังว่าไทยจะเป็นจุดมุ่งหมายของพวกท่าน แม้เศรษฐกิจไทยจะชะลอตัว แต่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้น อัดเงินเข้าระบบ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนด้านการค้าญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าลำดับต้น เชื่อว่าขยายได้อีก ให้ครอบคลุมสินค้าได้หลากหลาย

ด้านการลงทุนมีโครงการบีโอไอส่งเสริม 4,000 โครงการ การลงทุนญี่ปุ่นมีส่วนผลักดันให้เศรษกิจไทยโตอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณนักลงทุนญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับประเทศไทย เป็นเวลากว่า 50 ปีที่อุตสาหกรรมญี่ปุ่นขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เราไม่ลืมและสนับสนุนให้แข่งขันเติบโตได้ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีใหม่ และส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์สู่ระดับสากล ด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม พัฒนา 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ต่อยอดภูมิปัญญาเป็นโอกาสต่อยอดของญี่ปุ่น

     3. ด้านแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของไทย รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ยกระดับระบบคมนาคมขนส่ง โดยมีหลายภาคส่วนที่มีความร่วมมือกับทางญี่ปุ่น ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีแล้ว ขณะนี้รัฐบาลยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจ เชื่อมทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มูลค่าเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 4 ล้านล้านเยน

เพื่อสร้างเส้นทางการค้าการขนส่งใหม่ของโลก ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยท่าเรือ ระบบราง และระบบถนน ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญของภูมิภาคและระดับโลก จึงขอเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมศึกษาและลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ เสริมสร้างการเชื่อมโยงและซัพพลายเชนในภูมิภาคให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“สุดท้ายนี้ ผมในนามรัฐบาลไทยให้ความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมุ่งมั่นจะยกระดับเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เดินหน้าขยายการเจรจาเอฟทีเอ กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และเร่งปรับปรุงบริการภาครัฐ เพื่อทำให้การประกอบธุรกิจมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนี้ประเทศไทยเปิดกว้างสำหรับการลงทุนจากทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่รายสำคัญของไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนจากญี่ปุ่นทั้งรายเดิมและรายใหม่ และพร้อมร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นในการยกระดับอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความก้าวหน้าของทั้ง 2 ประเทศต่อไป” นายเศรษฐา กล่าว

ไซโต กล่าวปฐกถา งานเดียวกับกับ นายกฯ เศรษฐา

ขณะที่นายไซโต กล่าวปาฐกถา ตอนหนึ่งว่า ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยเป็นพันธมิตรสำคัญ ร่วมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมมาโดยตลอด มีอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหลัก บนพื้นฐานความไว้วางใจที่สั่งสมมายาวนานของทั้งสองประเทศ ปีนี้ครบรอบ 50 ปี แห่งมิตรภาพญี่ปุ่นอาเซียน ความร่วมมือที่ผ่านมาได้สะสมความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาโดยตลอด เพื่อสร้างอนาคตร่วมกันในอีก 50 ปีข้างหน้า

โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็น คือ 1.การสร้างอุตสาหกรรมในอนาคต 2.เปิดสายงานที่ญี่ปุ่นถนัด เช่น พลังงานสะอาด, รถยนต์ในยุคต่อไป การบินและอวกาศ รวมถึงการแพทย์ ความมั่นคงด้านพลังงานและลดคาร์บอนฯไป พร้อมกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะผลักดันความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมในการลดคาร์บอนฯ เพราะญี่ปุ่นกำลังดำเนินการกับไทยอยู่หลายโครงการ และ 3.คือการพัฒนาบุคคลที่เป็นพื้นฐานความร่วมมือ เพื่อสร้างอนาคต มีการเริ่มโครงการแลกเปลี่ยนนักธุรกิจรุ่นเยาว์ เพื่อให้มีความสัมพันธ์ร่วมกัน เหมือนที่เรามีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและความไว้วางใจซึ่งกันและกันตั้งแต่รุ่นก่อน

นายไซโต กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตญี่ปุ่นได้เข้ามาไทยในช่วงปี 1960 ตั้งแต่นั้นมา 60 ปี มีการสร้างงานร่วมกันในอุตสาหกรรมนี้อย่างมั่นคง แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มีการลงทุนของสหรัฐอเมริกาและจีนเพิ่มมากขึ้น การแข่งขันระดับโลกทวีความรุนแรง ญี่ปุ่นต้องการให้อาเซียน โดยเฉพาะไทยที่ถูกขนานนามว่าดีทรอยต์อาเซียนที่แข็งแกร่ง เป็นที่สร้างยานยนต์ในยุคต่อไป เพื่อให้แข่งขันในโลกได้ เพราะนอกเหนือจากรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีรถยนต์ไฮโดรเจน และเอสทานอล เราต้องพัฒนาในเรื่องเหล่านี้

และต้องจับตาดูการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลก รวมถึงการพัฒนายานยนต์เชิงกุลยุทธ์ และจับตาตลาดส่งออกยุโรป ที่ต้องการลดคาร์บอนฯในกระบวนการผลิต ซึ่งเราต้องตอบสนองในเรื่องดังกล่าว และอยากทำงานให้ครอบคลุมกับประเทศไทย โดยร่วมมือกับนายเศรษฐา และรัฐบาลไทย สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของ 2 ประเทศ และเร่งสร้างศูนย์การผลิตและการส่งออกรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกในยุคต่อไป และไม่ใช่แค่รถยนต์แต่ยังจะทำงานแข็งขันเพื่อกระชับความสัมพันธ์การลงทุนของทั้งสองประเทศในด้านต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทยานยนต์ของประเทศญี่ปุ่นได้เข้าพบ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย บริษัท Mazda Motor Corporation, บริษัท Suzuki Motors Ltd., บริษัท Honda Motor Ltd., บริษัท Nissan Motor Corporation, บริษัท Isuzu Motors Ltd.

นอกจากนี้ บริษัท Mitsui & Co., Ltd. ซึ่งเป็นบริษัท Trading รายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของญี่ปุ่น ซึ่งมีรูปแบบธุรกิจมุ่งเน้นการพัฒนา 6 สาขา และแบ่งการบริหารงาน เป็น 7 สาขา โดยรูปแบบธุรกิจมุ่งเน้นที่การเติบโตผ่านการค้า การบริหารธุรกิจ และการพัฒนาโครงการจากประสบการณ์ในสาขาต่างๆ ร่วมกับเครือข่ายทั่วโลก โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงโอกาสร่วมมือทางธุรกิจด้านพลังงานสะอาด เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายลดคาร์บอนฯ Decarbonisation ในการคมนาคมขนส่งของรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี ยังได้เชิญชวนบริษัท Mitsui ให้มาเปิด สำนักงานใหญ่ของภูมิภาคในไทยอีกด้วย

ผู้บริหารบริษัท Mazda Motor Corporation เข้าพบ นายกฯ เศรษฐา

ผู้บริหาร บริษัท Suzuki Motors Ltd. เข้าพบนายกฯ เศรษฐา

บริษัท Honda Motor Ltd. เข้าพบ นายกฯ เศรษฐา

บริษัท Nissan Motor Corporation เข้าพบนายกฯ เศรษฐา

ผู้บริหารบริษัท Mitsui & Co., Ltd. เข้าพบนายกฯ เศรษฐา

logoline