นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจากการติดตามการดำเนินโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ขับเคลื่อนโดยกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับผู้นำชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่าตามนโยบายนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล
เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร ได้เปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี เพื่อเพาะปลูกอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น และ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตข้าว ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยมีเป้าหมายการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 58,700 ตัน ให้เกษตรกรไม่น้อยกว่า 205,965 ครัวเรือน
และดำเนินการในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศไทย รวมทั้งยังสามารถนำเมล็ดพันธุ์ข้าวมาใช้เพาะปลูกได้ถึง 3.91 ล้านไร่ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลผลิตข้าวคุณภาพดี 2.60 ล้านตันข้าวเปลือก
สำหรับโครงการ ส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 ได้คัดกรองเกษตรกร ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการฯ กลุ่มชาวนาแรก คือกลุ่มชาวนาที่ยังไม่เคยเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับชาวนาทั่วประเทศ โดยหลักเกณฑ์การเปลี่ยนพันธุ์ข้าว กำหนดให้เมล็ดพันธุ์ตามพื้นที่การเพาะปลูกที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ไร่ละ 15 กิโลกรัม
รายละไม่เกิน 450 กิโลกรัม ซึ่งมีจำนวน 4 ชนิดกลุ่มข้าว ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียว เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมปทุม และเมล็ดพันธุ์ข้าวขาว ทั้งพื้นแข็งและพื้นนุ่ม ซึ่งการดำเนินโครงการฯ ทำให้ชาวนาได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีนำไปปลูก ได้ผลผลิตข้าวคุณภาพดีได้ตามความต้องการของตลาด
ทำให้สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ราคาเพิ่มขึ้นและสามารถส่งออกข้าวได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมการข้าวพบว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่างมีความพึงพอใจต่อคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับ เกษตรกรมีโอกาสเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ดี ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเห็นว่าควรมีการดำเนินงานโครงการในปีต่อ ๆ ไป เพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ภาครัฐ ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและชาวนา เช่น เกษตรแปลงใหญ่ การส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยพัฒนาด้านการเกษตรผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ การส่งเสริมการทำเกษตร GI รวมทั้งการสนับสนุนเงินช่วยเหลือผ่านโครงการต่าง ๆ ล่าสุด เช่น
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 มีผลการดำเนินการ ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ได้โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 2.636 ล้านครัวเรือน วงเงิน 7,866.81 ล้านบาท
2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ มีผลการดำเนินการ ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ดังนี้
โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 317,747 ราย ให้สินเชื่อ 22,496.99 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณผลผลิต 2.225 ล้านตันข้าวเปลือก
โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 มีสถาบัน/เกษตรกรเข้าร่วม 65 ราย ให้สินเชื่อ 5,565.70 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณผลผลิต 0.557 ล้านตันข้าวเปลือก
โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 209 ราย รับซื้อผลผลิต จำนวน 2.515 ล้านตันข้าวเปลือก
3. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 มีผลการดำเนินการ ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 4.650 ล้านครัวเรือน วงเงิน 54,074.11 ล้านบาท