svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เอกชนขอทุกภาคส่วนยอมรับ "ผลเลือกตั้ง"หวังเร่งตั้งรัฐบาลใหม่

14 พฤษภาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หอการค้าไทยขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย คาดรูปแบบเป็นรัฐบาลผสม ขณะที่ประธานส.อ.ท.ระบุการเลือกเลือกตั้งถือเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต อยากให้รัฐเร่งตั้งครม.ไม่เกิดช่องว่างทางสุญญากาศ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  เปิดเผยว่า หอการค้าไทยหวังว่าทุกภาคส่วนจะยอมรับผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามระบอบประชาธิปไตย

สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลเชื่อว่าน่าจะออกมาในรูปแบบรัฐบาลผสม และควรเร่งจัดตั้งให้แล้วเสร็จตามกรอบของระยะเวลา เพราะหากมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ล่าช้า จะยิ่งส่งผลกระทบต่อทั้งความเชื่อมั่นและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณและนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่รอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาเร่งดำเนินการ

ถ้าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้เร็วก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศ และตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างทันท่วงที ดังนั้นเป้าหมายสำคัญ คือ ต้องสามารถตกลงแนวทางการทำงานและนโยบายของพรรคร่วมให้ชัดเจนและลงตัว ไม่เกิดความขัดแย้งและต้องมีเสถียรภาพ ซึ่งที่ผ่านมาต่างก็มีรัฐบาลผสมที่สามารถบริหารประเทศไปได้

 

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการเมืองไทย และจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต โดยสิ่งที่ภาคเอกชนคาดหวังเป็นลำดับแรกคือการเร่งจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้ามาทำหน้าที่โดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดช่วงสุญญากาศหรือเว้นว่างในการบริหารประเทศ

สำหรับนโยบายของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งและเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาลชุดใหม่ มีความเห็นว่าบางนโยบายของพรรคการเมืองหลายเรื่องเป็นประโยชน์นำไปใช้เป็นแนวทางในการทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนได้

ทั้งนี้เห็นว่าหากรัฐบาลชุดใหม่นำนโยบายหาเสียงที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ มาพิจารณาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทและสภาพการณ์ในแต่ละช่วงได้ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ  และต้องเร่งแก้ปัญหาปัญหาปากท้องของประชาชนและการเร่งแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่อยากให้เร่งดำเนินการ

นอกจากนี้ อยากให้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนงานการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้อันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business ของไทยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญอย่างหนึ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนและดำเนินธุรกิจในประเทศไทย

รวมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะในการกำหนดนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์บรรลุเป้าหมายร่วมกันเพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า   การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2566  ขึ้นกับหน้าตารัฐบาลใหม่ หากยังเป็นขั้วเดิมนโยบายและการบริหารประเทศก็คงเหมือนเดิม แต่หากเป็นขั้วใหม่ มุมมองต่อความเชื่อมั่นของการลงทุนใหม่ และการใช้จ่ายก็จะดีขึ้น เศรษฐกิจจะยิ่งดีขึ้นไปอีก หากขั้วใหม่ผลักดันนโยบายและบริหารจัดการประเทศได้ตามที่ได้หาเสียงไว้ อย่างไรก็ตาม คาดทั้งปี 2566 จีดีพีไทยจะขยายตัวได้เกิน 3% แน่นอน  

นอกจากนี้จะไม่เกิดความวุ่นวายภายในประเทศหลังการเลือกตั้ง และได้รัฐบาลเสียงข้างมาก มีเสถียรภาพและมีเวลาจัดการบริการประเทศได้ครบเทอม เพราะเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลกว่าจะได้คณะรัฐมนตรีและบุคคลที่จะเข้าดูแลในแต่ละกระทรวง รวมถึงการลงในรายละเอียดของการบริหารประเทศของรัฐบาลใหม่จะใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งดูจากโพลและการดีเบตก่อนเลือกตั้ง เห็นน้ำหนักเทไปขั้วประชาธิปัตย์

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งดังกล่าวทำให้เกิดความเชื่อมั่นการลงทุนของไทยและต่างชาติมีการใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนจีดีพีจะดีขึ้นหรือแย่ลงขึ้นกับหน้าตารัฐบาลใหม่ ก็หวังว่าไทยจะไม่เป็นประเทศโหล่สุดของอาเซียน

สำหรับนโยบายแรกที่ประชาชนและนักธุรกิจอยากเห็นการแก้ปัญหาคือ   การขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ การแก้ปัญหาส่งออก อิทธิพลและบทบาทของจีนต่างชาติที่กำลังเข้าแย่งพื้นที่ขายในไทย ไม่ว่าจะทุนจีน ทุนตะวันตก หรือการเข้ามาของสหรัฐในเอเซียแปซิฟิก ที่จะมีผลต่อห่วงโซ่ซัพพลายเชน

รวมถึงภูมิรัฐศาสตร์ ต้องเพิ่มความเข้าใจให้ประชาชนและธุรกิจได้รับรู้ว่ารัฐบาลจะรับมือและทำอย่างไร เชื่อว่ารัฐบาลใหม่เข้าใจแก้ไขอย่างไร  เพื่อให้ไทยหลุดพ้นรั้งท้ายประเทศในอาเซียน

logoline