svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

น้ำมัน-ราคาอาหารร่วง ฉุดเงินเฟ้อมี.ค.ต่ำสุดรอบ 15 เดือน

05 เมษายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

พาณิชย์ประกาศเงินเฟ้อมี.ค.แตะระดับ 2.83% ต่ำสุดรอบ 15 เดือน หลังราคาน้ำมัน-อาหารร่วง พร้อมปรับเป้าใหม่เป็น 2.5% เพื่อให้สอดคล้องเศรษฐกิจ

นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 107.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.79 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้น 2.83% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ทำให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้ที่ 1-3% ในปีนี้  

สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า 
ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ขณะที่
ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว สำหรับเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น  3.88%

สำหรับอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม 

ส่วนสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น  5.22% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้น  5.74% สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักและผลไม้ (มะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง) ตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดน้อย ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มชะลอตัว ข้าวสาร ตามโปรโมชัน ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง กาแฟ ชา  และน้ำอัดลม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ยังสูงกว่าเดือนมีนาคม 2565 ประกอบกับความต้องการมีอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ

นอกจากนี้อาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า) ปรับขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยหอม ทุเรียน น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง-ขูด) และมะขามเปียก 

หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.22% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.47 สินค้าที่ราคายังคงสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก สองแถว เครื่องบิน) น้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภท (น้ำมันดีเซล ก๊าซยานพาหนะ (LPG)) ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และสิ่งที่เกี่ยวกับความสะอาด (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า)

นอกจากนี้ ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย-สตรี ค่าทำเล็บ) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมชะลอตัวค่อนข้างมาก อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เสื้อผ้าบุรุษ หน้ากากอนามัย โฟมล้างหน้า ที่เขียนคิ้ว ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และค่าทัศนาจรในประเทศ 

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 1.75% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้น 1.93% (YoY)

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าสำคัญหลายรายการ มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ ประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ระดับสูง และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้การส่งออกของไทยที่ชะลอตัว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะส่งผลให้กำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ระดับสูง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนอยู่ระดับสูง

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาว และการหา เสียงของพรรคการเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และจะส่งผลต่ออุปสงค์โดยรวม ราคาสินค้าและบริการ ตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป 


ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จากระหว่าง 2-3 % (ค่ากลาง 2.5%) เป็นระหว่าง 1.7 – 2.7% (ค่ากลาง 2.2%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 52.3 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) แม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)

ส่วนสาเหตุการปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นโดยรวมมาจาก (1) เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศ (2) ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

(3) มาตรการลดค่าครองชีพและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อาทิ การตรึงค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน และโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 และ (4) พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงเพื่อเลือกตั้งในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งประชาชนส่วนมากคาดหวังที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเมือง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ดี

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในระยะต่อไป

ทั้งนี้ กำหนดการแถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้าครั้งต่อไป จากเดิมวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ เปลี่ยนเป็นวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2566

 

 

logoline