svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กกพ. เปิด 3 แนวทางค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. ถูกสุด 4.77 บาท เคาะ 23 มี.ค.นี้

10 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กกพ. เผย 3 แนวทาง ค่าไฟงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 แพงสุดหน่วยละ 6.72 ถูกสุด4.77 พร้อมเปิดรับฟังความเห็นแนวทางค่าไฟที่เหมาะสม ชี้เคาะราคาค่าไฟทางการอีกครั้งวันที่ 23 มี.ค. 2566 นี้

แนวโน้มสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติแอลเอ็นจีน ในตลาดโลกที่ราคาลดลง รวมทั้งปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า ประกอบ กับภาคนโยบาย (กพช.) ไม่มีนโยบายขยายเวลาการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้ประชาชนก่อน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมและประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที ในอัตราเดียวกันตามต้นทุนการผลิต ดังนั้น กกพ. จึงจะเสนอรับฟัง ความเห็น 3 ทางเลือกในการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง (คงค้าง) กฟผ. ในอัตรา 293.60 105.25 และ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 12/2566 (ครั้งที่ 840) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าเอฟที่ประจำรอบ ก.ย. - ธ.ค. 2565 และ เห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสําหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 ใน 3 แนวทาง พร้อมให้นำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นดังนี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

 

กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ทั้งหมดภายในงวดเดียวจำนวน 150,268 ล้านบาท จะทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 293.60 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็น เอฟทีขายปลีกจำนวน 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนกฟผ. 230.23 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเอฟที รวมเพิ่มขึ้นเป็น 6.72 บาทต่อหน่วย 

กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวดจำนวน 136,686 ล้านบาท แบ่งจ่ายงวดละ 27,337 ล้านบาท ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2556 จำนวน 105.25 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟที่ขายปลีก 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนกฟผ.  41.88 สตางค์ต่อหน่วย  โดย กฟผ. จะต้องบริหาร ภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 109,349 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้าเอฟที ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.84 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด จำนวน 136,686 ล้านบาท แบ่งจ่าย งวดละ 22,781 ล้านบาท ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2556 จำนวน 98.27 สตางค์ต่อหน่วย แบ่งเป็นเอฟที่ขายปลีก 63.37 สตางค์ต่อหน่วย และ เงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุน งวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วย  โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระ ต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 113,905 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้าเอฟที ปรับเพิ่มขึ้น เป็น 4.77 บาทต่อหน่วย

กกพ. เปิด 3 แนวทางค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. ถูกสุด 4.77 บาท เคาะ 23 มี.ค.นี้

นายคมกฤช กล่าวว่า การประมาณการค่าไฟฟ้าดังกล่าว เป็นไปตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ และขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยมีสมมุติฐานและปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีใน รอบเดือน พ.ค. - ส.ศ. 2566 ตามการประมาณราคาก๊าซจาก ปตท. และผลการคำนวณค่าเอฟทีของ กฟผ. โดยมีปัจจัยที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

1.การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 เท่ากับประมาณ 72,220 ล้าน หน่วย เพิ่มขึ้น 4,387 ล้านหน่วยจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค. – เม.ย. 2566) ที่คาดว่าจะมีการ จัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 67,833 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 6.47%

2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 57.80% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 17.34% ทั้งนี้ ประมาณการการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 6.75% จากรอบเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 เพื่อรองรับการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้ม ราคา LNG ในตลาดโลกที่มีราคาลดเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าในช่วงวิกฤต ราคา LNG

3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566 เปลี่ยนแปลงจาก การประมาณการในเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิต ไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงอย่างมากโดยเฉพาะราคา LNG ในตลาดจร ที่ลดลงจาก 29.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเป็น 19-20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ในขณะ ที่ราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาปรับตัวลดลงเล็กน้อยในรอบเดือน พ.ค. - ส.ค. 2566

4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย ที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือน ย้อนหลังก่อนทําประมาณการ (1 – 31 ม.ค. 2566) เท่ากับ 33.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลธนาคาร แห่งประเทศไทยเป็นฐานซึ่งแข็งค่าขึ้นจากประมาณการในงวดเดือน ม.ค. - เม.ย. 2566 ที่ประมาณการไว้ที่ 35.68 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งลดลง 2.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

กกพ. เปิด 3 แนวทางค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค. ถูกสุด 4.77 บาท เคาะ 23 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ กกพ.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นวันที่ 10-20 มี.ค. 2566 และ นำข้อเสนอจากผู้ใช้ไฟและผู้เกี่ยวข้องมาพิจารณาในการประชุมบอร์ดกกพ.อีกครั้งวันที่ 22 มี.ค. 2566 และประกาศเป็นทางการวันที่ 23 มี.ค. 2566

logoline