svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กรมประมงเปิดตัว “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” เจาะตลาดปลาสวยงาม

02 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กรมประมง" พัฒนาสายพันธุ์ปลาการ์ตูนด้วยเทคนิค ผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์เพาะ “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” เล็งกระตุ้นตลาดปลาสวยงาม สร้างความหลากหลายด้วยลวดลายแปลกใหม่ ให้เหล่านักเลงปลาตู้ได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

จากยุทธศาสตร์ และ โครงการสำคัญภายใต้ นโยบายพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และ อุตสาหกรรมต่อเนื่องพ.ศ. 2564 -2570 เนื่องด้วยสัตว์น้ำสวยงามเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มการขยายตัว ของตลาดปลาสวยงามอย่างรวดเร็ว และเกษตรกรไทยมีศักยภาพการผลิตสัตว์น้ำสวยงามที่โดดเด่น แปลกใหม่และมีคุณภาพมาตรฐานตามที่ผู้ซื้อต้องการ กรมประมง จึงได้ส่งเสริมศักยภาพการผลิต ของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ด้วยการลดปริมาณการจับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยว่า “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” (Gold x thunder maroon) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Premnas biaculeatus  เป็นปลาที่กรมประมงใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์ตามหลักพันธุศาสตร์ปลาสวยงามด้วยการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่าง ปลาการ์ตูนทองโกลด์นักเก็ตกับปลาการ์ตูนแดงทันเดอร์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไม่พบในธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงพันธุ์จากโรงเพาะฟัก

กรมประมงเปิดตัว “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” เจาะตลาดปลาสวยงาม

โดยลูกพันธุ์ปลาที่ได้มีลักษณะลวดลายแปลกใหม่แตกต่างไปจากพ่อและแม่พันธุ์จึงเรียกลักษณะนี้ว่า “โกลด์ครอสทันเดอร์” โดยปลาสายพันธุ์นี้ เป็นปลาที่ถูกพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อกระตุ้นศักยภาพการผลิตปลาสวยงามเท่านั้น กรมประมงไม่มีนโยบายปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด

ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์

นายสามารถ เดชสถิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปู ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยการเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์ เริ่มตั้งแต่ปี 2563 และประสบความสำเร็จในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งความท้าทายของการเพาะพันธุ์ปลาสายพันธุ์นี้ คือ จำเป็นต้องศึกษา จนทราบรูปแบบการถ่ายทอดลักษณะโกลด์นักเก็ต และ ลักษณะแดงทันเดอร์ เพื่อให้ได้มาซึ่งปลาสายพันธุ์แท้

กรมประมงเปิดตัว “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” เจาะตลาดปลาสวยงาม
สำหรับปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์ ลักษณะเด่นจะอยู่ที่ลักษณะรูพรุนและความพลิ้วไหวของลายสีขาวบนพื้นลำตัวสีแดงซึ่งแตกต่างไปจากปลาการ์ตูนทั่วไปที่เคยมี โดยที่มาของชื่อเกิดจากการรวมชื่อของสายพันธุ์พ่อและแม่ปลา โดยจะมีชีววิทยาเหมือนปลาการ์ตูนแก้มหนามทั่วไป คือ ความยาวสูงสุดประมาณ 17 ซม. ปลาเพศผู้เจริญพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน ในขณะที่เพศเมียเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 18 เดือน

กรมประมงเปิดตัว “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” เจาะตลาดปลาสวยงาม

 

โดยมีลักษณะเป็นปลากะเทย นั่นคือ ปลาเพศผู้สามารถเปลี่ยนเพศเป็นเพศเมียได้ แต่เพศเมียไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเพศผู้ได้ อายุขัยเฉลี่ยทั่วไปประมาณ 15 ปี ปัจจุบันปลาดังกล่าวเริ่มได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ และ อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ต้นทุน

กรมประมงเปิดตัว “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” เจาะตลาดปลาสวยงาม

เพื่อขอเสนอจำหน่ายกับ สำนักงานเงินทุนหมุมเวียนของกรมประมง และ มีแผนถ่ายทอดเทคนิควิธีการเพาะเลี้ยงไปยังเกษตรกร เพื่อให้สามารถเพาะเลี้ยงและจำหน่ายสู่ตลาดปลาทะเลสวยงามของไทยให้เกิดความหลากหลายต่อไปในอนาคต

กรมประมงเปิดตัว “ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” เจาะตลาดปลาสวยงาม

ทั้งนี้ "ปลาการ์ตูนโกลด์ครอสทันเดอร์” ไม่ควรเลี้ยงร่วมกับปลาที่เป็นนักล่า และ ที่สำคัญปลาที่กรมประมงเพาะขยายพันธุ์ได้ทางนักวิชาการจะปรับพฤติกรรมการกิน ตั้งแต่ขั้นตอนอนุบาล ให้สามารถกินอาหารเม็ดสำเร็จรูปได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อาหารสด จึงสะดวกสำหรับผู้เลี้ยงมากยิ่งขึ้น

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งกระบี่ 141 ม.6 ต.ไสไทย อ.เมือง จ.กระบี่ เบอร์โทรศัพท์ 075-662059-60

logoline