svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

บาทแข็งฉุดส่งออก! สรท.ยื่น 4 ข้อเสนอ เร่ง ธปท. คุมเสถียรภาพเงินบาท

24 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เสนอ 4 แนวทางดูแลปัญหาเงินบาทแข็งค่า ให้ ธปท. เร่งแก้ไข โดยขอชะลอขึ้นดอกเบี้ย คุมค่าเงินในระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเครื่องมือป้องกันค่าเสี่ยงค่าเงิน

โกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ประเมิน กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่าจะอยู่ที่   32.50-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขยับแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค.- 20 ม.ค. 2566  พบว่า ค่าเงินบาทของไทยขยับแข็งค่าขึ้นแล้วกว่า 5.30% และเมื่อเทียบกับประเทศ อื่นๆ ในภูมิภาค ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเวียดนามซึ่งเป็นประเทศคู่แข่ง ด้านการส่งออกของไทย ที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นเพียง 0.81%  มาเลเซีย 2.58% และ อินเดีย 1.88%  
 

ค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับค่าเงินอื่นๆ ในภูมิภาค
 

24 มกราคม 2566 ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า ขณะนี้สมาชิกผู้ส่งออก ต่างได้รับผลกระทบ จากค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้ผลิต เพื่อส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร และ กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสูง อาทิ กลุ่มสินค้าผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง กระป๋องและแปรรูป  
 

ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย

ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวในปี 2564 จากเงินบาทอ่อนค่า แต่มูลค่าส่งออกกลับหดตัวในไตรมาส 3-4 ของปี 2565 และ ต่อเนื่องมายังไตรมาส 1 ปี 2566 เมื่อค่าเงินบาทเริ่มกลับมาแข็งค่า โดยการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลต่อการกำหนดราคา และ ขีดความสามารถ ในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย เมื่อเปรียบเทียบกับคู่ค้าของไทย ที่ค่าเงินอ่อนกว่า ดังนั้น หากไม่สามารถรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาท จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้า ที่มีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศสูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

 

คณะกรรมการสรท. จึงได้พิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางบรรเทาปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกไทย ต่อ ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.ขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณา “ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ออกไป เนื่องจากจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการทั้งซัพพลายเชน และ เป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น วัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น

2.ขอให้ ธปท. ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อ รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทในระดับ 34-35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ในอัตราที่ไม่แข็งค่าไปกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญ

3.ขอให้ ธปท. กำหนดมาตรการและเครื่องมือในการตรวจสอบ ติดตาม กระแสเงินไหลเข้าประเทศอย่างรวดเร็ว รวมถึงขอความร่วมมือไปยังสถาบันการเงิน ให้ติดตามข้อมูลการโอนเงินบาท ระหว่างบัญชีผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ (Non-resident Baht Account) จากสัญญาณของธุรกรรมการเงินต่างประเทศที่เริ่มมีความหนาแน่นกว่าปกติ

4.ขอให้ ธปท. และธนาคารพาณิชย์ พิจารณาอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการเลือกใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง (Hedging) อาทิ

  • จัดสรรหรือขยายวงเงินสำหรับการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบของ Forward และ Option ให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวน
  • ขยายระยะเวลาในการทำประกันความเสี่ยง ทั้งในรูปแบบของ Forward และ Option ให้เหมาะสม  
  • ออกแคมเปญช่วยเหลือและดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง อาทิ โครงการบริหารความเสี่ยง FX (Option ประกันค่าเงิน) สำหรับ SMEs เป็นต้น  

5.ขอให้ ธปท. ร่วมกับ สรท. จัดกิจกรรมให้ความรู้ในทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการเกี่ยวกับมาตรการและเครื่องมือทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาท

ทั้งนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ยินดีร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้น เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกและนำพาให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคง

บาทแข็งฉุดส่งออก! สรท.ยื่น 4 ข้อเสนอ เร่ง ธปท. คุมเสถียรภาพเงินบาท

logoline