svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ลุ้น "ส่งออก" ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลกถดถอย    

23 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผวาส่งออกไทยทรุด หลังเศรษฐกิจโลกเสี่ยงสู่ภาวะถดถอย จากนโยบายเร่งขึ้นดอกเบี้ยของมะกัน-ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ยืดเยื้อ ขณะที่การเปิดประเทศของจีนจะพยุงเศรษฐกิจ-การค้าโลกไม่ให้ร่วงไปมากกว่านี้หรือไม่นั้น มีข้อมูลความเห็นหลากหลายแง่มุม ที่จะชวนมาวิเคราะห์กัน

สัญญาณการชะลอตัวของการส่งออกไทย ที่เริ่มเห็นเด่นชัดหลังจากตัวเลขส่งออกเดือนต.ค. ติดลบ 4.4% หดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือนนับแต่เดือนก.พ.64 ขณะที่ในเดือนพ.ย. ยังติดลบต่อเนื่องอีก 6% สะท้อนให้เห็นภาพว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในเกือบทุกประเทศปรับตัวลดลง

ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายๆ ประเทศ และทำให้เศรษฐกิจไทยเสี่ยงที่จะชะลอตัวตามไปด้วย โดยจีดีพีของไทยที่หลายสำนักฟันธงว่าอาจปรับขึ้น 3-4% ในปีนี้ อาจพลาดเป้า หากการส่งออก ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจ ชะลอตัวหรือสะดุดหยุดลง

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีความน่ากังวลมากขึ้น จะกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกไทยให้ฟุบมากแค่ไหนนั้น หลายสำนักวิจัยทางด้านเศรษฐกิจ ก็มีมุมมองความเห็นที่แตกต่างกันดังนี้ เริ่มจากมหาวิทยาลัยการค้าไทยมองว่า ส่งออกของไทยปี 66 อาจติดลบ 0.5% ถึงบวก 1.5%   หรือโดยเฉลี่ยส่งออกไทยบวกได้เพียง 1% หรือมีมูลค่า 295,203 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีนับจากปี 63 เป็นต้นมา และชะลอตัวลงจากปี 65 ที่คาดขยายตัวได้ถึง 6.5-7.5% ด้วยมูลค่า 289,686-292,281 ล้านเหรียญสหรัฐ

เนื่องจากต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัว ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ  ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่สูง อัตราเงินเฟ้อปี 66 ยังสูงแม้ลดลงจากปี 65 และราคาวัตถุดิบและสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าไตรมาส 1/66 การส่งออกไทยยังคงชะลอตัวอยู่ เพราะมีแรงเฉื่อยมาตั้งแต่ปลายไตรมาส 3/65 และไตรมาส 4/65  โดยคาดว่าไตรมาส 1/66 การขยายตัวมีโอกาสติดลบ 2% ถึงติดลบ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 65

สอดรับกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) ที่มองว่า อุปสรรคต่อการส่งออกปี 66 ยังเป็นเรื่อง เศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนรุนแรงแบบไม่มีทิศทางที่ชัดเจน สถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ(FOMC) อาจมีการชะลอหรือลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Rate) ลง ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเข้ามาที่ไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว  

ดัชนีภาคการผลิต PMI ในตลาดส่งออกสำคัญเริ่มชะลอต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนกำลังการผลิตและความต้องการของประเทศคู่ค้า ราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนหลัก ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคการผลิตโดยรวมทั่วโลกปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้นทาง สรท.จึงได้เรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ  รวมถึงพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป ขอให้ภคารัฐดูแลค่าไฟฟ้า ค่าพลัง งาน (น้ำมัน) และค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น เพื่อไม่ให้ต้นทุนภาคการผลิตปรับตัวสูงขึ้น  สนับสนุนและเร่งรัด ความต่อเนื่องของการเจรจา FTA อาทิ  ไทย-อียู และ ไทย-GCC (กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง)

ทั้งนี้ สรท.ประเมินส่งออกไทยปีนี้ขยายตัว 1-3%  หรือมีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  โดยการส่งออกไตรมาส 1 ของปีนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่ากังวล เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกไทยอย่างมาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- เศรษฐกิจโลกซบเซา 'ฉุด' ส่งออกประเทศไทยแผ่ว

- อานิสงส์จีนคลายมาตรการโควิดดัน "ส่งออก" พลิกบวก    

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเปิดประเทศเร็วกว่าคาดของจีนส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 66 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.7% จาก เดิม 3.2% ขณะที่การส่งออกโดยรวมหดตัวลดลงมาอยู่ที่ -0.5%  จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ -1.5% เนื่องจากการส่งออกสินค้าไปจีนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าผู้บริโภคคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น แม้ว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังคงกดดันการส่งออกไทยอยู่ก็ตาม   ด้วยความที่สัดส่วนการส่งออกไทยไปจีน สูงถึง 12% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย การเปิดประเทศจีนอย่างรวดเร็ว ก็อาจจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจีนให้ฟื้นกลับมาได้ตั้งแต่ต้นปี และส่งผลให้จีดีพีจีนปีนี้อาจจะเติบโตได้มากกว่า 4%

ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยสินค้าส่งออกไทยไปจีนที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุด อยู่ที่สินค้าที่ตอบโจทย์การบริโภคในกลุ่มอาหารเป็นหลัก อาทิ ผลไม้ ผลไม้กระป๋อง ข้าว ไก่ กุ้ง น้ำตาล รวมถึงสินค้าเพื่ออุตสาหกรรมและสินค้าเพื่อการผลิต ที่มีสัญญาณว่าน่าจะทำตลาดได้มากกว่าเดิมด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ไร้ข้อจำกัดจากการปลดล็อกมาตรการโควิดเป็นศูนย์  

อย่างไรก็ตาม สินค้าอาหารที่มีทิศทางสดใสที่สุดนั้น มีสัดส่วนเพียง 20% ของการส่งออกไปจีน ขณะที่สินค้าที่เหลือล้วนมีข้อจำกัดในการเติบโต บวกกับผลของฐานในปีที่แล้วที่ทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ จึงทำให้การส่งออกไปจีนเติบโตเลขหลักเดียวที่ 3.4%  

ส่วนผลทางอ้อมจากเศรษฐกิจคู่ค้าของไทยในเอเชีย น่าจะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของจีนเช่นเดียวกับไทย แต่มีผลต่อการส่งออกจากไทยจำกัด โดยการส่งออกของไทยไปอาเซียนยังมีแรงฉุดด้านราคาสินค้าโภคภัณฑ์น้ำมัน แร่ น้ำตาลทราย และทองคำ ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปหลายประเทศ ยกเว้นการส่งออกของไทยไปเวียดนามมาเลเซียและอินโดนีเซียยังคงเติบโต

สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯ และยุโรป ยังไม่เปลี่ยนภาพเนื่องจากยังเผชิญภาวะเศรษฐกิจในปี 2566 ที่คาดว่าจะชะลอตัวลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี ตลาดใหม่อย่างตลาดตะวันออกกลาง และอินเดียมีศักยภาพเติบโตไม่ต่ำกว่าเลขสองหลักก็ยังเป็นแรงส่งสำคัญสำหรับภาพรวมการส่งออกไทยตลอดปี 2566

ด้าน Krungthai COMPASS คาดปี 2566 ผู้ส่งออกไทยจะเผชิญความเสี่ยงจากอุปสงค์โลกที่ชะลอตัวชัดเจน หลังการส่งออกไทยในเดือน พ.ย. หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2566 จากเศรษฐกิจโลกที่แผ่วลงโดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศหลักอย่าง สหรัฐฯ และยุโรป ที่อยู่ในภาวะชะลอตัวและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดทำให้ต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในดับสูง ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แผ่วลง

ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จึงกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตได้ในระดับต่ำ สอดคล้องกับ Oxford Economics ที่ประเมินว่าปริมาณการค้าโลกในปี 2566 จะหดตัว 0.2% โดยกลุ่มประเทศในแถบเอเชียจะได้รับผลกระทบมากที่สุด  

ส่วน KKP Research มองว่า การเปิดประเทศของจีนจะส่งผลบวกบ้างต่อภาคการส่งออกไทย แต่อาจยังไม่เพียงพอชดเชยการชะลอตัวของภาคการผลิตในประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากไทยมีการส่งออกไปยังประเทศกลุ่มนี้รวมกันมากกว่าจีน

โดยยังคงประเมินว่าปริมาณการส่งออกของไทยจะยังเติบโตติดลบ 1.8% ในปีนี้ จากปี 65 โต 4% และการส่งออกในรูปสกุลเงิน ดอลลาร์สหรัฐฯ  มีโอกาสหดตัวรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี จากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า ก่อนที่อาจจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี

แม้ว่าในภาพรวมการเปิดประเทศที่เร็วขึ้นของจีนจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งก็เพิ่มความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทย คือ  ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูงจะกระทบผู้ส่งออกและนำเข้า ในปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปมาก จากการปรับตัวแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ในปีนี้ แม้ว่าเงินบาทจะเริ่มแข็งค่าขึ้น แต่สถานการณ์ค่าเงินบาทยังมีความไม่แน่นอนสูง และจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อการทำธุรกิจของผู้ส่งออกในปีนี้

ปิดท้ายที่ กระทรวงพาณิชย์ มองว่า ส่งออกปีนี้โตเพียง 2.7% จากปี 65 เติบโต 3.2%  เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง และการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารประเทศต่างประเทศตลอดปีนี้ ทำให้ความต้องการบริโภคได้รับผลกระทบ และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังมีแนวโน้มไม่ยุติ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงจากพลังงาน อาหารสัตว์ และความต้องการบริโภคลดลงไปด้วย

ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางสูงและสุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดภาวะถดถอย ภาคการส่งออกคงต้องพยายามปรับตัวและหาหนทางรับมือเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีในการผลิต และการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อเข้ามาทดแทนกับหลาย ๆ ตลาดที่จะชะลอตัวลง

ขณะที่ภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องการดูแลค่าเงินบาท และการทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันให้กับการส่งออกไทยมากขึ้น และประคับประคองให้การส่งออกยังคงเดินหน้าต่อไป ไม่กลายเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจไทยที่กำลังฟื้นตัว หลุดจากวงโคจรที่ประเมินกันไว้  

ลุ้น "ส่งออก" ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลกถดถอย    

logoline