svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจโลกซบเซา 'ฉุด' ส่งออกประเทศไทยแผ่ว

17 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การส่งออกที่เคยเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มไม่สดใสนักจากตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ปี 2565 เดือน ต.ค.หดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ติดลบ 4.4% และเดือน พ.ย. ติดลบ 6%

การส่งออกที่เคยเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มไม่สดใสนักจากตัวเลขการส่งออกที่ชะลอตัวลงในไตรมาส 4 ปี 2565 เดือน ต.ค.หดตัวครั้งแรกในรอบ 20 เดือน ติดลบ 4.4% และเดือน พ.ย. ติดลบ 6% และเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยการส่งออกที่หดตัวเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัว อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

 

ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. ชัยชาญ เจริญสุข ระบุ การส่งออกไตรมาส 4 ปี 2565 ชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยสถิติการส่งออกเดือน ธ.ค.ที่ยังไม่ประกาศก็เชื่อว่าจะติดลบต่อเนื่อง ผลกระทบมาจากเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจน ส่วนการส่งออกปี 2566 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 1-3% หรือมีมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ โดยการส่งออกไตรมาส 1 ยังน่ากังวลเนื่องจากปัจจัยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกไทยอย่างมาก

ดังนั้น สิ่งที่ต้องเร่งทำจากนี้เพื่อสนุนการส่งออกให้เติบโต คือ การเปิดตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดที่ชะลอจากเศรษฐกิจโลก โดยกลุ่มตลาดใหม่ที่มีความสำคัญ ได้แก่ 1.ตลาดตะวันออกกลาง ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย ยูเออี โอมานและกาตาร์ โดยสินค้าสำคัญ ได้แก่ ข้าวและอาหาร ซึ่งปี 2566 ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นประกอบกับวิกฤติอาหารโลก ทำให้ผู้นำเข้าเพิ่มการสำรองอาหารในประเทศมากขึ้น 2.ตลาดเอเชียใต้ ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ และเนปาล สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ 3.ตลาด CLMV ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม สินค้าเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เม็ดพลาสติก สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม น้ำตาล เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นกลุ่มประเทศที่ส่งสินค้าได้สะดวกรวดเร็วและค่าขนส่งต่ำ

เศรษฐกิจโลกซบเซา 'ฉุด' ส่งออกประเทศไทยแผ่ว

ด้านกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ระบุ คาดว่าการส่งออกปี 2566 จะขยายตัวเพียง 1-2% ชะลอลงจาก 7-8% ในปี 2565 โดยมีปัจจัยกดดันมาจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐฯ และยุโรปที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ขณะเดียวกันปัญหา Global Supply Chain Disruption แม้จะคลี่คลายลงบ้าง แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีต่อเนื่องยังคงจะกดดันการส่งออกไทยในระยะถัดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เศรษฐกิจโลกซบเซา 'ฉุด' ส่งออกประเทศไทยแผ่ว

ด้านผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ดร.อมรเทพ จาวะลา ระบุ คาดว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 1% แต่มีโอกาสติดลบมากกว่าคาด จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะถดถอยในยุโรปและสหรัฐ

 

สำหรับการสนับสนุนการส่งออกให้เติบโตในระยะยาว คือ การหาตลาดใหม่ โดยการทำข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA มากขึ้น รวมถึงต้องเร่งต่างชาติเข้ามาลงทุน ไม่เฉพาะผ่านบีโอไอ แต่รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนมากขึ้นว่าแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล แต่การสนับสนุนต่างชาติลงทุนในไทยจะไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น รวมถึงแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการลงทุน รวมถึงการเพิ่มทักษะแรงงานให้รองรับอุตสาหกรรมใหม่

logoline