svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ไทยเตรียมรับมืออย่างไร ! เมื่อสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีนปะทุ

16 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สนค.เผยสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มเร่งตัวรุนแรงขึ้น แนะไทยควรเร่งปรับตัวรับผลกระทบ-ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมีรายละเอียดอะไรบ้างนั้น ตามไปดูกันเลย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีการดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้ระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2561 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและความขัดแย้งได้ขยายวงกว้างไปยังด้านอื่น โดยเฉพาะการแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเป็นมหาอำนาจของโลก

นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน พบว่า สหรัฐฯ มีจุดแข็งคือการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ (ความสามารถในการวิจัยพื้นฐานและคิดค้นสิ่งที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน) และมีความสามารถในการเปลี่ยนผ่านนวัตกรรม (Breakthrough) ให้ใช้งานได้ดีกว่าเดิมหรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยสหรัฐฯ ได้เปรียบจีนด้านนวัตกรรมที่โดดเด่น สัดส่วนการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับกลาง และความคืบหน้าของเทคโนโลยียุคใหม่ อาทิ เทคโนโลยีควอนตัม เซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีชีวภาพ

ขณะที่จีนมีจุดแข็งคือการประยุกต์และการต่อยอดเทคโนโลยีเดิม และความสามารถในการผลิต เนื่องจากจีนมีแรงงานทักษะมหาศาล รวมไปถึงสามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต ทำให้จีนเป็นโรงงานของโลก

โดยจีนได้เปรียบสหรัฐฯ ด้านการครอบครองทรัพยากรสำคัญในยุคเทคโนโลยี เช่น ลิเทียม ธาตุหายาก แกรไฟต์ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับสูง และความคืบหน้าของเทคโนโลยียุคใหม่ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ การสื่อสารแบบไร้สาย และพลังงานสีเขียว

ทั้งนี้แนวโน้มการแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มเร่งตัวรุนแรงขึ้น มีโอกาสส่งผลต่อไทย อาทิ การเป็นแหล่งผลิตทางเลือกที่สามารถสนับสนุนเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ โอกาสที่ไทยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่สหรัฐฯ ให้การส่งเสริม

ซึ่งเป็นสาขาที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของไทย และโอกาสในการดึงดูดการลงทุนของไทย จากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงตามยุทธศาสตร์ China Plus One

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ไทยยังต้องจับตา และเฝ้าระวัง  เช่น  การส่งเสริมการย้ายฐานการผลิต (Reshoring) ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศในไทยในอนาคต

ความขัดแย้งในประเด็นไต้หวันหากรุนแรงขึ้น อาจทำให้เกิดการหยุดชะงักของอุปทานเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงไทยเป็นฐานการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งมีเซมิคอนดักเตอร์เป็นชิ้นส่วนสำคัญ

สำหรับความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งในระยะสั้น (ปัจจุบัน – ปี 2568) และในระยะกลาง (ปัจจุบัน – ปี 2573) อาจสร้างความเปลี่ยนแปลง และส่งผลกระทบต่อการลงทุน การผลิต การค้า และห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการกีดกันเทคโนโลยีขั้นสูงระหว่างห่วงโซ่อุปทานของทั้ง 2 ชาติและประเทศพันธมิตรที่มีแนวโน้มแยกจากกัน

ซึ่งคาดว่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมายของไทยในสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ในอนาคต

นอกจากนี้ธุรกิจเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติในมิติต่าง ๆ อีกทั้งสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะทำให้ภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทาน ทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งไทยควรเร่งปรับตัว เพื่อรับมือกับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

1.ส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนา ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองและสามารถขยายฐานการผลิตและแข่งขันได้ต่อไปในอนาคต รวมถึงเชิญชวนแบบเฉพาะเจาะจงสำหรับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ไทยต้องการให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ตลอดจนดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงหรือผู้เชี่ยวชาญ ด้านเทคโนโลยี

2. เตรียมพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือและการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมาย

3. ปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งขั้วห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยยึดโยงกับห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศผ่านการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ จีน และประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสำคัญภายใต้กรอบ IPEF และส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยที่สอดรับกับเป้าหมายของสหรัฐฯ และจีน

4. เร่งส่งเสริมการค้าสินค้าเทคโนโลยี โดยในช่วง 5 ปีล่าสุด (2560 – 2564) มูลค่าการส่งออกเทคโนโลยีระดับกลาง (เช่น เครื่องยนต์ ยานยนต์) ของไทยขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ขณะที่สินค้าเทคโนโลยีระดับสูง (เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์) ขยายตัวเฉลี่ย 1.5% ต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งอยู่ที่ 6.9% และ 4.2% ตามลำดับ จึงยังมีโอกาสที่ไทยจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับกลางและระดับสูงต่อไปได้อีก

5. ลดความผันผวนของห่วงโซ่อุปทานและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป โดยส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่

6.เร่งส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเป้าหมาย และ 7. ผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์ากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาคและระดับอนุภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษี การเก็บภาษีระดับต่ำ และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)

อย่างไรก็ตาม  ภาครัฐและภาคเอกชนควรกระชับความสัมพันธ์ร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จาก การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนที่มีแนวโน้มย้ายสู่อาเซียนมากขึ้น โดยต้องผนึกกำลัง เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจร่วมกับชาติพันธมิตรอาเซียน

ทั้งนี้ประเทศไทยควรบริหารความสัมพันธ์กับสองประเทศอย่างสมดุล มุ่งสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่เสรีและเป็นมิตรกับทุกประเทศ

logoline