svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือนพุ่งปัญหา "เรื้อรัง"สังคมไทย 

03 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พิษโควิด" ส่งผลกระทบต่อ "หนี้ครัวเรือนไทย" พุ่ง โดยเฉพาะสินเชื่อรายย่อยในรูปบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล  ประกอบกับค่าครองชีพที่สูง-ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นปัจจัยกดดัน กลุ่มเจนวาย-ผู้สูงอายุน่าเป็นห่วง  

ภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบางหนุนให้ภาระหนี้ครัวเรือนถีบปรับตัวสูงขึ้น โดยจากข้อมูลของ "เครดิตบูโร" พบว่า ตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 88% ของจีดีพี (16.7 ล้านล้านบาท)

แม้ว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนได้ผ่านจุดเลวร้ายระดับ 90% ของจีดีพี แต่ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่า 80% ของจีดีพี ยังคงถือว่าอยู่ในระดับอันตราย

ความเสี่ยงดังกล่าว สะท้อนได้อย่างชัดเจนจากความเห็นของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ ไทย(ธปท.)  "นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ที่ยอมรับว่า

ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยในขณะนี้ ยังอยู่สูงกว่าระดับที่ธปท.อยากจะเห็น และการปล่อยให้หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูงขนาดนี้ เป็นสิ่งที่จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีโอกาสที่จะสะดุด หรือฟื้นตัวไม่ได้อย่างต่อเนื่อง เหมือนมีอะไรมาถ่วงตลอดเวลา 

ทั้งนี้ข้อมูล ณ ไตรมาส 3/65 จากเครดิตบูโร พบว่า ตัวเลขหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) คือค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.4%

ซึ่งเป็นจำนวนลูกหนี้ประมาณ 5-5.5 ล้านคน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ และกู้เพิ่มไม่ได้ จากจำนวนลูกหนี้ 32 ล้านคนมูลหนี้รวมอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท  

หากส่องดูในรายละเอียดหนี้ครัวเรือน 14.7 ล้านล้านบาท โดยประมาณ 28% มาจากหนี้ที่เกิดจากบริโภค ส่วนใหญ่มาจากหนี้ไม่มีหลักประกัน หรือเรียกว่าเป็น "กับดักหนี้"

เพราะเป็นการก่อหนี้มาเพื่อการบริโภค หากเทียบกับเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย หนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่จะเป็นหนี้บ้าน หนี้รถ สำหรับหนี้ที่ไม่มีหลักหรือหนี้เพื่อการบริโภคจะมีประมาณ 10% เท่านั้น 

นอกจากนี้การะบาดของโควิด-19 รัฐบาลสนับสนุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ได้มีการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกลุ่มฐานราก

โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1% และชำระหนี้ภายใน 1 ปี วงเงินเฉลี่ยตั้งแต่ 5,000-30,000บาท ทำให้ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา กลุ่มฐานรากเป็นหนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก 

แม้ว่าสถาบันการเงินจะพยายามปรับโครงสร้างหนี้ แต่จะเห็นว่าตัวเลขการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง 3-4 ไตรมาสที่ผ่านมา ล่าช้า เพราะลูกหนี้มีรายได้ไม่พอชำระหนี้ แม้ว่าสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มฟี้น นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมา แต่เป็นการฟี้นตัวแบบไม่ทั่วถึง 

ปัจจุบันพบว่าหนี้ครัวเรือนทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล (พีโลน) สินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน รวมถึงบัตรเครดิต ผู้บริโภคกลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) คือกลุ่มที่เป็นฐานลูกค้าใหญ่ ที่มีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด และมีแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น 

สอดรับกับข้อมูลของ "ศูนย์วิจัยกสิกรไทย" ที่ระบุว่า  ประชาชนรายย่อยและภาคครัวเรือนมีหนี้สินที่อยู่ในรูปบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน มากขึ้น

โดยสัดส่วนหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขยับขึ้นมาที่ 8.2% ของหนี้ครัวเรือนรวมในไตรมาส 2/2565 (จาก 7.9% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 7.7% ในไตรมาส 4/2562 ที่เป็นช่วงก่อนโควิด)

ซึ่งสะท้อนว่า มีครัวเรือนจำนวนมากกู้ยืมผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อดังกล่าวเพื่อเสริมสภาพคล่องและแก้ไขปัญหาการเงินในระยะสั้นที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 

แม้ว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปหนี้บ้านและหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ (สัดส่วนรวมกันประมาณ 53% ของหนี้ครัวเรือนในภาพรวม หรือประมาณ 46.5% ของจีดีพี) ล้วนมีอัตราการเติบโตที่ช้าลงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ซึ่งในด้านหนึ่งอาจสะท้อนว่า ครัวเรือนมีการเพิ่มความระมัดระวังในการก่อหนี้ก้อนใหญ่ก้อนใหม่ในช่วงที่เศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือนยังมีความไม่แน่นอนในช่วงวิกฤตโควิด - 19 

แต่ในขณะเดียวกันก็อาจมองได้ว่า ครัวเรือนมีภาระหนี้เดิมอยู่ในระดับสูงและเริ่มมีข้อจำกัดในการก่อหนี้ใหม่ เพราะฐานะทางการเงินมีสัญญาณอ่อนแอลง 

ทำให้ศูนย์วิจัยฯ  ปรับทบทวนประมาณการตัวเลขสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลงมาที่กรอบ 85.0-87.0% (คาดการณ์เดิมที่ 86.5-88.5%) ชะลอลงเมื่อเทียบกับสัดส่วน  90.1 % ต่อจีดีพีในปี  64 

เนื่องจากมูลค่าจีดีพี (Nominal GDP) เติบโตสูงตามภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับครัวเรือนหลายๆ ส่วนระมัดระวังการก่อหนี้ก้อนใหม่ ทั้งนี้ แม้ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้ที่ชะลอตัวลง  

ปิดท้ายที่ "สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)"  ที่ระบุว่า ภาวะหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 2/65 ชะลอตัวต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5% จากไตรมาส 1/65 อยู่ที่  3.7%  

ขณะที่สัดส่วนหนี้สิน ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่  88.2%   ส่วนคุณภาพสินเชื่อในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ และการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างต่อเนื่องของสถาบันการเงิน  

แต่ต้องต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อยานยนต์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเริ่มมีการค้างชำระเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ จากข้อมูลเครดิตบูโรในไตรมาส 2/65 ยังพบว่า หนี้เสีย ขยายตัวในระดับสูงในกลุ่มลูกหนี้อายุตั้งแต่ 41 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะลูกหนี้กลุ่มสูงอายุ และลูกหนี้ NPLs จากผลกระทบของโควิด-19  

นอกจากนี้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน คือ ภาระค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น  ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมีแนวโน้มก่อหนี้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นเราต้องให้ความสำคัญเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อ ยานยนต์กลุ่มลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสีย เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 2. การมีมาตรการสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น

จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาอุทกภัย รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับประชาชน 

แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐ และสถาบันการเงินจะออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้มาในระดับหนึ่งแหล้ว

แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหา "หยั่งรากลึก" ในเศรษฐกิจไทยยาวนานที่จะต้องใช้เวลา ในระยะสั้นนั้นต้อง  มุ่งส่งเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เพื่อลดการก่อหนี้เกินตัวในอนาคต ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงหนี้ในระบบมากขึ้น  

แต่ระยะยาวลูกหนี้ต้องปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายสร้าง "วินัยการออม" ไม่ใช้จ่ายเกินตัว เพราะหากใช้จ่ายเพลินโดยไม่ดูกำลังของตนเองอาจทำให้หนี้สินพอกพูนจนยากเกินแก้ไข   

ขณะที่สถาบันการเงินไม่ควรออกโปรโมชันหรือผลิตภัณฑ์การเงินที่สุ่มเสี่ยง จนทำให้ "ประชาชนติดกับดักหนี้"  ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต....

หนี้ครัวเรือนพุ่งปัญหา \"เรื้อรัง\"สังคมไทย 

logoline