svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"ราคาทองคำ" ปี 2566 เผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง

26 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ธนรัชต์” ประเมินแนวโน้มราคาทองคำสัปดาห์นี้ คาดเคลื่อนไหว Sideways  โดยปริมาณการซื้อขายเบาบางใกล้ช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่  ส่วนปี 2566  จะมีปัจจัยอะไรที่กระทบต่อทองคำบ้าง ตามไปดูกันเลย

นายธนรัชต์ พสวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง เปิดเผยว่า ปัจจัยที่กระทบราคาทองคำในปี 2566  เริ่มแรกเลยก็ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ ที่ใช้นโยบายเข้มงวดมากขึ้น

ซึ่งธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 4.25% สู่ระดับ 4.25%-4.5% ในปี 2565 ที่ผ่านมา  ขณะที่การคาดการณ์ Dot plot ของเจ้าหน้าที่เฟดในเดือนธ.ค. ล่าสุดนั้น

เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ภายในปี 2566 นั้นแสดงว่าเฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% สะท้อนถึงการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มผ่อนคลายลงกว่าเดิม จากมุมมองด้านเงินเฟ้อสหรัฐที่จะลดลงในปี 2566 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารกลางตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำเกินไป จนเกิดเงินเฟ้อ หรือแม้แต่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนดึงเงินเฟ้อให้ชะลอตัว แท้จริงแล้วไม่ใช่เพียงการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางเท่านั้น ที่ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงหรือปรับตัวลง

แต่ยังมีปัจจัยระหว่างประเทศ ได้แก่ ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเช่นกัน  อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวก็ไม่ใช่สาเหตุที่เงินเฟ้อปรับขึ้นไปอย่างมาก

ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินนั้นที่ได้ผลที่สุดคือการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในจำนวนเพียงพอเมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงจะสามารถทำให้เงินเฟ้อเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

ซึ่งหากเราดูตามกฎเทย์เลอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักโดยผู้กำหนดนโยบายการเงินทั้งหมดของเฟด เราจะพบว่าเฟดยังคงตามหลังอยู่ โดยตามกฎเทย์เลอร์ ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินมีเสถียรภาพเมื่อเพิ่มอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ

\"ราคาทองคำ\" ปี 2566 เผชิญสารพัดปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้นโยบายเข้มงวดในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกันเหมือนกับสหรัฐ แต่ไม่รุนแรงเท่าสหรัฐ

ซึ่งในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2.5% เท่านั้น ส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยของยุโรปและสหรัฐระหว่างกันกว้างขึ้น Flow จึงไหลเข้าสู่สหรัฐ ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่า และเงินยูโรก็อ่อนค่าอย่างรวดเร็วสู่ 1 ดอลลาร์ = 1 ยูโร 

ทั้งนี้คาดว่าในปี 2566 ECB ยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นเดียวกับสหรัฐ แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปมีความเสี่ยงที่จะเผชิญต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากที่สุด

จากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ก๊าซ พลังงาน ราคาอาหาร สินค้าโภฑภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นไปมาก และยังไม่มีทีท่าว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลง และผลกระทบของสงครามที่ส่อแววจะยืดเยื้อก็ยิ่งดันให้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปยังคงทรงตัวในระดับสูง

ธนาคารกลางญี่ปุ่น หลังจากที่ BOJ เซอร์ไพรส์ตลาดโดยมีแผนยุติการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ ประกอบกับการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นได้พุ่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2524 เนื่องจากต้นทุนนำเข้าสินค้าอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น และเงินเยนอ่อนค่า

ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลต่อการคาดการณ์ว่า BOJ อาจจะทำการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินอีกครั้งในเดือนม.ค. ซึ่งอาจส่งให้เงินเยนกลับมาแข็งค่ามากขึ้นเมื่อเทียบดอลลาร์ การดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ถ้าเรามองดูแล้วว่า ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่อัตราน้อยลงอย่างมากแตกต่างจากปี 2565 ซึ่งอาจส่งผลให้ดอลลาร์เริ่มชะลอการแข็งค่าลง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีท่าทีที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ประกอบกับแนวโน้มที่ BOJ จะยุติใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐและประเทศท้องถิ่นนั้น ๆ เริ่มมีช่องว่างของดอกเบี้ยที่แคบลง

จึงส่งผลให้ค่าเงินประเทศอื่น ๆ นั้นเริ่มกลับมาแข็งค่ากว่าเดิม เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ จึงส่งผลให้ดอลลาร์อาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในปี 2566  หนุนราคาทองคำ

ปัจจัยต่อมาคือ ปัจจัยทางด้านสงคราม และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งคาดว่ายังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อต่อเนื่องจากจากปี 2565

ส่วนยุโรป ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามมากที่สุดนั้นพยายามที่จะแก้ไขปัญหาด้านพลังงานที่ขาดแคลน และราคาพุ่งสูง

ขณะที่ประเทศเยอรมันนีได้ออกมาประกาศว่าในปี 2566 เป็นต้นไป จะไม่นำเข้าพลังงานและน้ำมันจากรัสเซีย

ซึ่งก่อนหน้านี้เยอรมันนีพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียในระดับสูงถึง 35% ซึ่งลดลงจาก 55% ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน และก็พยายามที่จะลดปริมาณนำเข้าลงเรื่อย ๆ และยุติการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย

นอกจากนี้ติดตามการเดินหน้าทดสอบขีปนาวุธเกาหลีเหนือ ซึ่งคาดว่าเกาหลีเหนืออาจมีการทดสอบยิงขีปานาวุธอย่างต่อเนื่อง และกรณีไต้หวัน

ภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ จากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศ อีกทั้งเศรษฐกิจในหลายประเทศยังฟื้นตัวไม่ดีนัก ส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัจจัยดังกล่าวจะยิ่งหนุนแรงซื้อทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย

แรงซื้อทองคำก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งในช่วงต้นปีมักจะมีแรงซื้อทองคำดังกล่าว จากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ในช่วงต้นปีราคาทองคำส่วนใหญ่จะปรับตัวขึ้น

สำหรับแนวโน้มราคาทองคำคาดเคลื่อนไหว Sideways ซึ่งสัปดาห์นี้ปริมาณการซื้อขายราคาทองคำอาจเบาบาง จากตลาดการเงินของสหรัฐปิดทำการในวันจันทร์ เนื่องด้วย Christmas Day และก่อนที่จะถึงช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลขึ้นปีใหม่

ส่วนสัปดาห์นี้สหรัฐจะเปิดเผยยอดทำสัญญาขายบ้านรอปิดการขายเดือนพ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนี PMI เขตชิคาโกเดือนธ.ค.

อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำ gold spot มีแนวรับอยู่ที่  1,780 ดอลลาร์ และ 1,770 ดอลลาร์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,820 ดอลลาร์ และ 1,830 ดอลลาร์

ส่วนราคาทองแท่งในประเทศมีแนวรับ 29,400 บาท และ 29,300 บาท ขณะที่แนวต้านที่ 29,800 บาท และ 29,900 บาท

Gold Bullish 
    ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
    ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ รัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ สหรัฐและจีน จีนและไต้หวัน
    แรงซื้อทองคำก่อนเทศกาลตรุษจีน
    แนวโน้มทางด้านปัจจัยเทคนิคเป็นขาขึ้น

Gold Bearish 
    การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น
    เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
 

 

logoline