svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

บทสรุป"เอเปค 2022" กับการสลายม็อบในสายตาชาวโลก โดย "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

20 พฤศจิกายน 2565
975

การประชุมเอเปค ปิดฉากลงพร้อมมีการบ้านให้รัฐบาลต่อไปว่า การผลักดันเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไม่ควรหยุดอยู่แค่เวทีเอเปค ขณะเดียวกันเหตุสลายการชุมนุมต่อต้านเอเปค 2022 ทำลายภาพพจน์ไทยในสายตาโลก ติดตามเจาะประเด็นร้อนนี้ได้ที่ "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึง ผลกระทบจากการประชุมเอเปค 2022 ต่อเศรษฐกิจสังคมไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ว่า การเสนอความร่วมมือทางเศรษฐกิจผ่านแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ของไทยในที่ประชุมเอเปคนั้นนับว่าสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญความท้าทายพื้นฐานในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูง วิกฤติพลังงาน รวมทั้งปัญหาภาวะโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม

บทสรุป"เอเปค 2022" กับการสลายม็อบในสายตาชาวโลก โดย "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

อย่างไรก็ตาม การผลักดันเรื่องแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ไม่ควรหยุดอยู่แค่เวทีเอเปค แต่ต้องขึ้นไปสู่เวทีระดับโลกอย่าง องค์การการค้าโลก องค์การสหประชาชาติ World Economic Forum การผลักดันจะต้องต่อเนื่อง จริงจังและเป็นรูปธรรม ไทยจึงอยู่ในสถานะของผู้กำหนดทิศทางและกฎการค้าและการลงทุนของภูมิภาคและของโลกได้

 

ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมแต่เราจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรม (Industry Transformation) และเตรียมความพร้อมทางด้านคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ผ่านระบบการศึกษาที่มีคุณภาพสูง การลดการพึ่งพาการนำเข้าเทคโนโลยีของไทยอาจต้องอาศัย บรรษัทข้ามชาติเป้าหมาย (Targeted MNCs) เข้ามาจัดตั้งสถาบันวิจัยระดับโลกในไทยและพัฒนากลไกในการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศขึ้นมาด้วยตัวเอง 

บทสรุป"เอเปค 2022" กับการสลายม็อบในสายตาชาวโลก โดย "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

ส่วนความร่วมมือทางด้านการคลัง ความร่วมมือทางด้านการเกษตรและป่าไม้ ความร่วมมือทางด้านสาธารณสุข นั้นมีความคืบหน้าตามแนวคิดการเชื่อมโยง เปิดกว้างและสมดุลมากกว่าเดิม ส่วนความร่วมมือทางด้าน SMEs และ ด้านกิจการสตรี ยังไม่เห็นความก้าวหน้าของความร่วมมือเพิ่มเติมมากนัก ขณะเดียวกัน เวทีเอเปคควรเปิดกว้างให้ประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมและมีกลไกความร่วมมือภายใต้เวทีเอเปคด้วย 

 

"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กล่าวต่อว่า แผนงานการขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ระยะที่สี่ ในการประชุมเอเปคครั้งนี้ในกรุงเทพฯไม่มีความคืบหน้าสำคัญใดๆ ซึ่งคาดว่า จะมีความชัดเจนและมีความคืบหน้ามากขึ้นในประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคในสหรัฐฯปีหน้า

 

นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของเขตการค้าเอเชีย-แปซิฟิกจะมีความสำคัญมากเพราะ 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคมีขนาดเศรษฐกิจ 52 ล้านล้านดอลลาร์คิดเป็น 61-62% ของจีดีพีโลก หรือ 2 ใน 3 ของจีดีพีโลก มูลค่าการค้าโดยรวมของสมาชิกประมาณ 50% ของปริมาณการค้าโลก อย่างไรก็ตาม หาก FTAAP เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีข้อตกลงที่ชัดเจน การเกิดขึ้นของ FTAAP จะทำให้ ข้อตกลงเขตเศรษฐกิจอาเซียนภายใต้ AEC หรือ บทบาทของ CPTPP (Comprehensive and Progressive for Trans-Pacific Partnership) หรือ TPP (Trans-Pacific Partnership Agreement) ลดความสำคัญลง การเกิดขึ้นของ FTAAP จะทำให้สินค้าของไทยเปิดและขยายตลาดในละตินอเมริกาและสหรัฐอเมริกาได้ง่ายขึ้น

 

บทสรุป"เอเปค 2022" กับการสลายม็อบในสายตาชาวโลก โดย "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตลาดไปยังประเทศที่ไทยยังไม่ได้มี FTA ทำให้ปริมาณการค้าของไทยเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5% หากสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการดำเนินการ FTAAP จะทำให้ เป็นข้อตกลงเปิดเสรีการค้าที่คลอบคลุมมากกว่าการค้าและการลงทุน จะขยายไปเรื่อง การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และ คุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่นเดียวที่เคยเกิดขึ้นในข้อตกลง FTA ของ TPP  อาจจะเกิดผลดีระยะยาวจากการยกระดับมาตรฐานแรงงานและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้หากการเจรจามีการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม โดยต้องระมัดระวังผลกระทบทำให้ต้นทุนภาคเกษตรกรรมและภาคสาธารณสุขเพิ่มขึ้น กระทบต่อเกษตรกรและประชาชนผู้ใช้ยารักษาโรคได้ 


"รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ" กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า การจัดประชุมในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างต่อเนื่องในอาเซียนในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาในกัมพูชา ในอินโดนีเซียและไทย ตามลำดับ ทำให้ "ภูมิภาคอาเซียน" โดดเด่นบทเวทีโลก เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้การพบปะและหารือกันของผู้นำสหรัฐอเมริกาและผู้นำจีน ทำให้ความตึงเครียดทางการเมืองและการค้าลดลงอย่างมากและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ

บทสรุป"เอเปค 2022" กับการสลายม็อบในสายตาชาวโลก โดย "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

ส่งผลดีต่อการลงทุน การค้าและเศรษฐกิจโลกในปีหน้า นอกจากนี้ การค้าระหว่างไทยกับเอเปคมีแนวโน้มขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในปีหน้า คาดการณ์ว่า การค้าระหว่างไทยกับกลุ่มสมาชิกเอเปคมีมูลค่าราว 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2565 คิดเป็นมากกว่า 72% ของปริมาณการค้าโลกของไทย เอเปคนั้นสนับสนุนการสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจภูมิภาคแบบเปิด (Open Regional Economic Integration) คือ สามารถเปิดกว้างให้สิทธิประโยชน์ต่อประเทศนอกกลุ่มเอเปคได้ด้วย การเป็นภูมิภาคแบบเปิดนั้นจะช่วยขยายห่วงโซ่อุปทานให้กว้างขวางมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์อย่างเต็มที่โดยเฉพาะบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆในภูมิภาคเอเปครวมทั้ง EEC น่าสนใจมากยิ่งขึ้น

 

ขณะเดียวกัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงโอกาสอาจเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก การผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในบางประเทศอาจควบแน่นมากขึ้นกว่าเดิม การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองให้เป็นธรรมจึงควรเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในทุกเวทีทุกข้อตกลง

 

บทสรุป"เอเปค 2022" กับการสลายม็อบในสายตาชาวโลก โดย "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า แม้นการประชุมเอเปคจะแสดงความพร้อมในการจัดงานระดับนานาชาติและทำให้ “ไทย” เพิ่มบทบาทบนเวทีระหว่างประเทศ เกิดประโยชน์ต่อการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจโดยรวม

 

 

แต่ การสลายการชุมนุมต่อต้านเอเปค 2022 ทำลายภาพพจน์ไทยในสายตาโลก การยื่นข้อเรียกร้องขององค์กรประชาสังคมมักเกิดขึ้นในหลายเวทีการประชุมผู้นำระดับภูมิภาคและระดับโลก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ การเปิดโอกาสให้ดำเนินการได้จะทำให้เวทีการประชุมพิจารณาประเด็นปัญหาต่างๆ

 

หรือ การมีความร่วมมือทางด้านต่างๆบูรณาการความต้องการของประชาชนได้มากขึ้นหลากหลายขึ้น กรณีการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่โดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายต่อประชาชนผู้เดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องต่อผู้นำเอเปค รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เป็นอิสระและเป็น กลาง

 

บทสรุป"เอเปค 2022" กับการสลายม็อบในสายตาชาวโลก โดย "รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ"

กรณีดังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุหรือไม่ และรัฐบาลต้องให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพและแสดงออกทางการเมือง และปฏิบัติตามกฎหมาย ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมุ่งแก้ปัญหาความเห็นต่างด้วยกระบวนการประชาธิปไตยและการหารือกันบนหลักของเหตุผลและการมีส่วนร่วม