svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"อีอีซีภาคประชาชน" ข้อเสนอจาก "คำนูณ สิทธิสมาน"ผ่านสมุดปกขาวแก้ความยากจน

10 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คำนูณ สิทธิสมาน" เป็นอีกผู้หนึ่งที่ริเริ่มจัดทำสมุดปกขาวเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมุมมองของสมาชิกวุฒิสภารายนี้ ให้ความเห็นต่อการแก้ความยากจนในมิติทางเศรษฐกิจและทางกฎหมาย ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย "พลเดช ปิ่นประทีป"

 

"ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน" ในขณะที่เป็นรองประธานกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ เป็นอีกผู้หนึ่งที่คิดริเริ่มการจัดทำสมุดปกขาวขับเคลื่อนข้อเสนอทางนโยบาย ท่านเคยดูแลด้านการแก้ความยากจนในมิติทางเศรษฐกิจและทางกฎหมาย  ท่านมักจะออกตัวว่าเป็นนักกฎหมาย ไม่ใช่ผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์แก้ปัญหาความยากจน แต่ต้องยอมรับว่าในหลายมุมมองของท่านมีความแหลมคมมาก 

 

อีอีซีภาคประชาชน

การเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศหรือในโลกนี้ จะเกิดและยั่งยืนได้ต้องมีกฎหมายรองรับ ในหลักคิดก็ว่ากันไป แต่ว่าถ้าจะทำให้เกิดขึ้นได้นั้นต้องมีตัวกฎหมาย สิ่งที่คิดมาโดยตลอดก็คือการมีกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวกับการนี้ คือถ้าทำออกมาได้ ก็จะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของรัฐบาลที่ชัดเจนที่สุดที่ให้ไว้ต่อประชาคมประเทศไทย 

 

"พูดภาษาแบบชาวบ้าน สิ่งที่ผมต้องการ ผมเรียกร้องให้มีกฎหมายอีอีซีภาคประชาชน"  

 

ท่านชี้ว่าตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ขึ้นบริหารประเทศในปี 2557 หลังรัฐประหาร มีแผนปฏิรูปประเทศชัดเจน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นแผนการปฏิรูประบบทุนนิยมของไทย ซึ่งขณะนี้กำลัง down ลง โดยเพิ่มตัวขับเคลื่อนใหม่ ๆ เข้ามา ก็คือการเร่งจัดทำกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กฎหมายอีอีซี) นี่เป็นด้านหนึ่ง  

 

อีกอันหนึ่งก็คือจัดทำกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจ เป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคทุนนิยม การปฏิรูปเศรษฐกิจด้านการเพิ่มจีดีพี  รัฐบาลเชื่อว่าเชื่อว่าสองตัวนี้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ ที่มาเสริมเครื่องยนต์ตัวเก่าที่หมดพลังลงไป แต่อันหลัง ทำไม่สำเร็จ มีภาคประชาชนคัดค้าน เรื่องจึงมาค้างคาอยู่ใน สนช. ตกลงกันไม่ได้

 

กฎหมายอีอีซีเป็นกฎหมายเฉพาะ ที่มีบอร์ดโดยเฉพาะ รวมทั้งยกเว้นกฎหมายหลาย ๆ ตัว เพื่อทำให้อีอีซีคืบหน้าไปได้โดยเร็ว เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ไม่ได้คัดค้านว่ามันจะกระทบสิ่งแวดล้อมหรือกระทบความเป็นอยู่ภาคประชาชนอย่างที่มีคนตั้งข้อสังเกตุกัน 

 

แต่ก็อยากให้มีกฎหมายพิเศษทางด้านการกระจายรายได้ควบคู่ไปด้วย กฎหมายอีอีซีเป็นกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจเพิ่มจีดีพี เราควรจะมีกฎหมายปฏิรูปเศรษฐกิจด้านกระจายรายได้ด้วย ส่วนรูปร่างหน้าตาของกฎหมายควรจะเป็นอย่างไรนั้นมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านปรมาจารย์ด้านกฎหมายสนใจช่วยคิด 

 

องค์กรกึ่งรัฐ


สภาพัฒน์เป็นองค์กรที่วางแผนเศรษฐกิจด้านพัฒนาทุนนิยม ด้านเพิ่มจีดีพี แต่ด้านกระจายรายได้นั้นเป็นเพียงความสนใจของคนกลุ่มน้อยในองค์กรเท่านั้น จึงต้องดึงส่วนนี้ออกมา ควรออกเป็นพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ ให้เป็นการพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของสองสภาเลย 

 

รัฐบาลได้หน้า เพราะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่ารัฐบาลจะขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ แล้วใช้การอภิปรายในสภาและกลไกกรรมาธิการเป็นกระบวนการทำงาน 

 

ที่สำคัญอย่าออกแบบองค์กรรับผิดชอบให้เป็นองค์กรราชการอีกองค์กรหนึ่ง แต่ต้องให้เป็นองค์กรแบบกึ่งรัฐกึ่งเอกชน สไตล์ สสส. หรือ กองทุน กศส. อันนี้มีต้นแบบอยู่แล้ว ขาดอย่างเดียวคือการขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของสังคม รัฐบาลเอาตรงนี้ แม้ปัญหาจะยังแก้ไม่ได้ สังคมจะไม่โทษรัฐบาลแล้ว เพราะได้แสดงเจตจำนงว่าเอาจริงเรื่องนี้ รัฐบาลได้คะแนน คนฐานล่างก็มีกำลังใจ

 

กฎหมายขายฝาก

ประสบการณ์ในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ชาวนาตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ต่อสู้เรียกร้อง ถูกลอบยิงตายกันเยอะ แต่พวกเขายืนหยัดเรียกร้องกันจนได้กฎหมายมาสองฉบับ คือกฎหมายควบคุมค่าเช่านา และกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ส่วนเรื่องขายฝากทำไม่สำเร็จ 

 

กฎหมายขายฝากตอนนี้เสร็จแล้ว บังคับใช้แล้ว ที่ทำสำเร็จก็เพราะระหว่างทำร่างพรบ. มีทีมงานนายกรัฐมนตรีเข้ามาช่วยกันดู ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีกอบศักดิ์ ภูตระกูล เขามาช่วยดูด้วย เอาไปให้นายกรัฐมนตรีพูดในรายการวิทยุวันศุกร์ บอกว่าเราอยู่กับเหตุการณ์นี้มาตั้งแต่ 40 ถึง 50 ปี แก้ไม่ได้ ท่านก็โตขึ้นมาตอนเรียนโรงเรียนนายร้อย มีชาวนาเดินขบวน กฎหมายนี้ในตอนนั้นระบบราชการต้านพอสมควร  

 

ปัญหาอุปสรรค

กฎหมายอีอีซีได้ยกเว้นกฎหมายกี่ฉบับ ควรไปดูเป็นข้อมูลเอาไว้ เพื่อนำมาทำกฎหมายแก้ความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ นักกฎหมายระดับปรมาจารย์ ถ้าจะทำท่านทำได้ทุกอย่าง 

 

แต่ว่าตอนหลังมานี้ ภาคราชการเขาไม่ยอมให้ออกกฎหมายมาในลักษณะที่เอื้อให้ภาคประชาชนมากเท่าในยุคทักษิณ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นข้อดีของยุคทักษิณ 

 

กฎหมายกองทุนสื่อที่ออกมาไม่นาน เห็นได้ชัดเลยว่าถูกภาคราชการ(กระทรวงวัฒนธรรม)ครอบอยู่ระดับหนึ่ง กระทรวง พม.ก็มีกฎหมายแบบนี้อยู่หลายกองทุน เป็นระบบราชการหมดเลย มีจึงเหมือนไม่มี ไม่ได้ช่วยทำให้ภาคประชาชนทำงานง่ายขึ้น

 

คือตอนหลังมานี้ เขาจะไม่เปิดโอกาสให้เอ็นจีโอเข้ามา แต่กฎหมายฉบับนี้มันจะไร้ผลทันที ถ้าเป็นระบบราชการ ต้องให้เป็นแบบที่เอื้อต่อประชาชน พูดง่าย ๆ คือ ต้องเอากฎหมายแบบตระกูล ส. มาใช้เป็นตัวแบบ

 

แต่กฎหมายตระกูล ส. ก็ทำให้คนเขานินทากันมาก เพราะเปิดโอกาสให้เอ็นจีโอเข้าไปหมุนเวียนกันมาก ครองอำนาจกันอยู่นานเกินไป ไม่เปลี่ยนให้คนกลุ่มอื่น ควรเปิดโอกาสให้มีเลือดใหม่จากภายนอกเข้ามาผสม แล้วเรื่องผู้อนุมัติกับผู้เสนอโครงการก็มีประเด็นที่คนกังขา  

 

logoline