svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

มุมมอง "สังศิต พิริยะรังสรรค์" กับข้อเสนอ 4 นวัตกรรม "แก้ปัญหาความยากจน"

13 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สัปดาห์นี้ "พลเดช ปิ่นประทีป" พาคุณผู้อ่านไปพบกับมุมมองความเห็นของ"รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์" ประธานกรรมาธิการการแก้ความยากจนฯต่อข้อเสนอ "4 นวัตกรรมแก้จน" ติดตามได้ที่นี่

 

เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาแก้จนจากผู้ทรงความรู้ในวุฒิสภา นำไปใช้เป็นกรอบการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เสนอรัฐบาลชุดต่อๆไป ผมได้นั่งสนทนาแบบเจาะลึกกับ "รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์" ประธานกรรมาธิการการแก้ความยากจนฯ

 

ท่านมองว่า ความยากจนวัดกันด้วยเม็ดเงินดีที่สุด ทางเศรษฐศาสตร์เขาพยายามทำอยู่ แม้จะยาก คนจนในภาคการเกษตร ดูเหมือนว่ารายได้น้อย แต่เขาไม่ได้รู้สึกยากจน ผิดกับคนอยู่ในเมืองที่ต้องอาศัยเม็ดเงินในชีวิตประจำวัน 

 

"รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์" ประธานกรรมาธิการการแก้ความยากจนฯ

 

ท่านวิพากษ์ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบที่เชื่อมั่นใน GDP Growth  ว่าส่วนที่เจริญขึ้นไป จะไหลลงมาให้กับคนตรงกลาง แล้วเลยมาถึงคนข้างล่าง เป็นแนวคิดที่ผิดพลาดและเป็นปัญหา 

 

ระบบราชการก็บริโภคทรัพยากรมากเกินไป ในทางเศรษฐศาสตร์ต้องยอมรับว่าราชการ ทหาร ตำรวจ อัยการ ล้วนเป็นแรงงานที่ไม่ productive  บริโภคอย่างเดียว ไม่สร้างผลผลิต งบประมาณเมืองไทยมากเกินไป ควรจะลดลงได้ 30 -50 %  ถ้าเอาส่วนนี้มาทำเรื่องการศึกษา เรื่องสวัสดิการ เรื่องโอกาสคนมีงานทำ จะดีกว่านี้เยอะ หน่วยงานราชการเต็มไปด้วยความซ้ำซ้อน 

 

"กระทรวงศึกษาธิการ"ได้รับงบประมาณมากที่สุด แต่ปรัชญาการศึกษาแบบที่เป็นอยู่ เป็นปรัชญาการศึกษาที่ล้าสมัย ไม่สามารถที่จะใช้กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ เด็กนักศึกษาที่เรียนจบแล้วได้ทำงานอาชีพกันน้อยมาก ไม่รู้ว่าถึง 5% หรือเปล่า ที่เหลือส่วนใหญ่วิชาที่เรียนไปใช้ไม่ค่อยได้ ทุกคนต้องไปดิ้นรนหางานหาอาชีพทำกันเอง 

มุมมอง "สังศิต พิริยะรังสรรค์" กับข้อเสนอ 4 นวัตกรรม "แก้ปัญหาความยากจน"

ท่านให้ความสำคัญต่อการมองหา"นวัตกรรมทางสังคม"ที่ใช้แก้จนลดเหลื่อมล้ำ ในฐานะกรรมาธิการ ต้องเลือกหยิบยกเอาบางประเด็นที่แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สังคมสนใจ แต่เป็นประเด็นใหญ่ในชีวิตของคนจน ที่เราทำกันมา เราพอใจและชาวบ้านก็พอใจก็ถือว่าเราแก้ถูกทาง ถ้าเราพอใจแต่ชาวบ้านไม่พอใจ อันนี้ก็ยังไม่ใช่

แฟ้มภาพ เจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาความยากจน
1.    เรื่องแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชน  

 

ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสังคม เป็นแนวคิดการจัดการแหล่งน้ำที่ออกไปนอกกรอบ จากสิ่งที่เราเคยเชื่อมั่นต่อแนวทางแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เพราะไม่มีความรู้ 

เรื่องนี้ถือเป็นธงของเราได้ เพราะว่าสามารถทะลวงได้ทั้งพื้นอีสานและภาคเหนือตอนบน คนเริ่มยอมรับและลงมือทำกันเอง ขยายตัวออกไปได้รวดเร็ว การแก้ปัญหาแหล่งน้ำขนาดเล็กจะช่วยทำให้คนมีน้ำทำการเกษตรได้ตลอด 365 วัน  

 

รูปแบบหนึ่งคือฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ และอีกรูปแบบหนึ่งเป็นระบบบ่อบาดาลน้ำตื้นร่วมกับพลังงานโซล่าร์เซลล์  แบบแรกชาวบ้านอาจจะใช้แรงมากหน่อย องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นสามารถช่วยได้มาก ส่วนแบบหลังชาวบ้านทำเองได้เลย เช่นที่ทุ่งชมพูโมเดล ขอนแก่น ทำเกษตรผสมผสานและใช้ระบบน้ำหยด ดีกว่าสปริงเกอร์ ยิ่งน้ำหยดทั้งวันโดยไม่หยุด ต้นไม้จะยิ่งโตเร็ว  เป็นประสพการณ์ที่ชาวบ้านศึกษาเลียนแบบจากประเทศอิสราเอล 

 

ที่สำคัญเขาต้องทำเกษตรอินทรีย์ด้วย ถ้ามีน้ำแล้วยังปลูกแบบเดิมก็ยากจนแบบเดิม ต้องผสมผสาน ถ้าอยากจะปลูกเชิงเดี่ยวอยู่อีก ต้องประนีประนอมว่า เชิงเดียว 80% ผสมผสาน 20% ก็ได้         

 

2.    เรื่องคนกับป่า  


ชาวบ้านเขาเรียกร้องเรื่องนี้กันมานานนั้น เป็นเรื่องใหญ่จริง ๆ เพราะว่าคนที่เข้าไปอยู่ในป่า ไม่ได้สิทธิอะไร จะมีไฟฟ้าก็มีไม่ได้ พื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับคนมีเยอะจริงๆ  

 

ลงไปดูสถานการณ์ ปรากฏว่า เรา ส.ว.ช่วยเป็นคนกลางเจรจา สามารถแก้ปัญหาได้ที่เชียงรายสองกรณี โดยไม่ต้องแก้กฎระเบียบ จึงนำรูปแบบนี้ไปช่วยต่อที่ป่าสอยดาว มีปัญหา 40 ปี ชาวบ้านเอาไฟฟ้าเข้ามาใช้ไม่ได้  ส.ว.ไปคุยปรึกษาหารือกับผู้รับผิดชอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนในที่สุดช่วยได้โดยไม่ต้องแก้ระเบียบอะไรเลย  ที่มุกดาหารก็ช่วยไปอีก 14 กรณี รวมทั้งแก้ไขเรื่องน้ำด้วย 16 กรณี 

 

3.    การศึกษาแก้ยากจน สร้างพลเมือง  


เรื่องของการศึกษานี้สำคัญ แต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน จนกระทั่งมาเจอคุณหมอพลเดช ถึงได้จุดไฟติด 

 

ที่ดีใจที่สุด คือตอนที่ลงพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณหมอพลเดชได้หยิบยกกรณีการปฏิรูปการศึกษาในชายแดนใต้ ที่ผู้นำชุมชนท้องถิ่นสามารถเปลี่ยนค่านิยมสังคมจากการเรียนศาสนาเพียงอย่างเดียว มาเป็นการเรียนวิชาสามัญควบคู่กัน กล่าวย้ำความสำคัญของการศึกษาว่าเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาท้องถิ่น 

 

มาคราวนี้ จึงอยากเชิญชวนให้มาช่วยกัน"ปฏิรูปการศึกษา"สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบใหม่ ด้วยการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนของเรา เปลี่ยนจากระบบการศึกษาฐานความรู้(ท่องจำความรู้) ไปเป็นฐานสมรรถนะ(คิดเป็น ทำเป็น มีจิตสำนึกส่วนรวม) มีการเรียนการสอนเพิ่มเติมในด้านทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ สามารถทำงานและมีรายได้โดยไม่ต้องรอเรียนจบ ไม่กลัวตกงาน จนทำให้ทั้งที่ประชุมขานรับข้อเสนอของ ส.ว.ด้วยความยินดี

 

4.    เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น 


เรื่องการตลาด เรายังรุกได้ไม่ค่อยได้มาก ต้องพยายามอาศัยภาคเอกชน จึงจะเข้าใจ เร้าใจ ถ้าเราคิดแค่ไปขายของชาวบ้านที่หน้าเทศบาล หน้าศาลากลางจังหวัด แบบนี้มันไม่ยั่งยืน

 

อยากเห็นวิสาหกิจชุมชนทำได้ดีพอประมาณ จนคนรุ่นลูกหลานเขาก็ไม่ต้องไปรับจ้างที่อื่น หันกลับมาช่วยครอบครัว นำเทคโนโลยีสมัยใหม่และระบบซื้อขายออนไลน์ มาช่วยทำให้เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นเติบโต

logoline