svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ครบกึ่งศตวรรษ"เหตุการณ์ 14 ตุลา"ในปีหน้า  โดย "โคทม อารียา"

30 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ปี 2566 เป็นปีที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะผ่านพ้นมา 50 ปีพอดี จึงขอเชิญชวนผู้อยู่ในเหตุการณ์หวนระลึกถึงอดีตในความทรงจำบ้าง ส่วนผู้ที่เติบโตมาหลังเหตุการณ์นั้น ควรศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ติดตามได้ในเจาะประเด็น โดย "โคทม อารียา"

 

ปี 2566 เป็นปีที่"เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516" จะผ่านพ้นมา 50 ปีพอดี จึงขอเชิญชวนผู้อยู่ในเหตุการณ์หวนระลึกถึงอดีตในความทรงจำบ้าง ส่วนผู้ที่เติบโตมาหลังเหตุการณ์นั้น ควรศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งเรื่องที่นำไปสู่เหตุการณ์และผลที่ตามมา เพื่อว่าในที่สุด "14 ตุลา" จะได้รับการสถาปนาทั้งในทางความคิดและจิตใจ ให้เป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

ขอเล่าเรื่องในความทรงจำของผมเพื่อเป็นการแบ่งปันสักเล็กน้อย ผมเรียนหนังสือที่ฝรั่งเศสและจบกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตอนนั้นชื่อทางการยังเป็น "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" ไม่มีการันต์ ) อธิการบดีคือ ศ. แถบ นีละนิธิ ก่อนหน้านี้ อธิการบดีคือ พลเอกประภาส จารุเสถียร (เป็นอธิการบดีสามสมัย ๆ ละ 3 ปีตามวาระ ตั้งแต่ 7 กันยายน 2506 ถึง 26 มีนาคม 2512)

 

ผมทราบเรื่องนี้และได้แต่สงสัยว่า ทำไมมหาวิทยาลัยที่พึงมีเสรีภาพทางวิชาการจึงต้องมีฝ่ายการเมืองมาเป็นผู้บริหาร ได้ยินคำบอกเล่าที่แสดงถึงทัศนคติของพลเอกประภาสว่า นิสิตเรียนวิชารัฐศาสตร์ก็ดีในแง่วิชาการ แต่ในตอนนี้ยังไม่ต้องนำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์

 

เมื่อมาอยู่จุฬาฯใหม่ ๆ มีเพื่อนผู้อาวุโสที่จบจากฝรั่งเศสคนหนึ่งและมาสอนวิชารัฐธรรมนูญที่คณะรัฐศาสตร์ เลยลองถามว่า "อาจารย์สอนได้อย่างไร" เพราะตอนนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ที่ผู้มีอำนาจใช้เวลานับ 10 ปีจัดทำขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2500 เพิ่งถูกฉีกไปด้วยการรัฐประหารตนเองและแทนที่ด้วยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2515 เพื่อนผู้อาวุโสตอบว่า ก็สอนรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสยังไง เพราะกว่าจะมาถึงรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐที่ 5 ฝรั่งเศสได้มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 4 ฉบับ

 

ครบกึ่งศตวรรษ"เหตุการณ์ 14 ตุลา"ในปีหน้า  โดย "โคทม อารียา"

 

มีรายละเอียดและข้อวิเคราะห์มากมาย นิสิตคงได้ความรู้พอไปประยุกต์ต่อได้ ฝรั่งเศสหยุดอยู่ที่ฉบับที่ 5 ส่วนไทยประยุกต์ความรู้ได้เก่งกว่า เลยจัดทำรัฐธรรมนูญไปอีกเรื่อย ๆ จนถึงฉบับที่ 20 แล้วในวันนี้

 

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมฉงน คือเรื่องการสอนวิชาการปกครองส่วนท้องถิ่น พอจำได้ว่าตอนนั้นเรามีการปกครองท้องถิ่นน้อยมาก เลยสงสัยว่าเขาสอนวิชานี้กันอย่างไร ถามเพื่อนอีกคนหนึ่งเลยได้คำตอบว่า สอนหลักการและความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเกณฑ์การจัดตั้งเทศบาล สุขาภิบาล ฯลฯ โดยผู้มีอำนาจเป็นคนตั้งเกณฑ์ ด้วยคิดว่าหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเขตชนบทยังไม่พร้อม องค์กรปกครองจึงมีลักษณะพันทางคือกึ่งท้องที่กึ่งท้องถิ่น

 

อันที่จริง เมื่อมองย้อนหลังไป น่าจะได้ข้อสรุปทำนองว่า ในช่วงที่เป็นประชาธิปไตยมากหน่อย รัฐบาลจะพยายามกระจายอำนาจให้มีการปกครองตนเองมากขึ้น ในช่วงที่คณะรัฐประหารมีอำนาจ จะเน้นการรวมศูนย์มากกว่า บางครั้ง อำนาจที่กระจายไปแล้วก็แก้กลับมารวมศูนย์ที่การปกครองส่วนภูมิภาคก็มี

 

ครบกึ่งศตวรรษ"เหตุการณ์ 14 ตุลา"ในปีหน้า  โดย "โคทม อารียา"

 

ดังตัวอย่างที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 บัญญัติเรื่องการกระจายอำนาจน้อยกว่าฉบับปี 2540 และการแก้กฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ในตำแหน่งจนครบเกษียณ เป็นต้น


หลังการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2511 โดยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ในปีต่อมา เราได้อ่านจดหมายที่นายเข้ม เย็นยิ่ง เขียนถึงนายทำนุ เกียรติก้อง ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ จดหมายฉบับนี้เขียนในเดือนกุมภาพันธ์ 2515 ต่อมาลงพิมพ์ใน เศรษฐศาสตร์สาร ฉบับชาวบ้าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 3 มีนาคม 2515 ขอนำข้อความบางตอนของจดหมายมาเสนอไว้ ณ ที่นี้

  ครบกึ่งศตวรรษ"เหตุการณ์ 14 ตุลา"ในปีหน้า  โดย "โคทม อารียา"
“...ผมจากหมู่บ้านไทยเจริญมาอยู่ไกลไม่ได้นาน ได้ทราบข่าวว่า พี่ทำนุเปลี่ยนใจโดยกะทันหัน ร่วมกับคณะของพี่ทำนุบางคนประกาศเลิกล้มกติกาหมู่บ้านและเลิกสมัชชาเสียโดยสิ้นเชิง หวนกลับไปใช้วิธีปกครองหมู่บ้านตามอำเภอใจของผู้ใหญ่บ้านกับคณะ ... หมู่บ้านไทยเจริญของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก  แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัวซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก)  

 

เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา เมื่อปัญญาเป็นพิษแล้ว ในบางกรณีก็กลายเป็นอัมพาตใช้อะไรไม่ได้  บางกรณียิ่งร้ายไปกว่านั้น ปัญญาเกิดผิดสำแดง อัดอั้นหนัก ๆ เข้าเกิดระเบิดขึ้น อย่างที่เกิดมีมาแล้วในหมู่บ้านอื่น ๆ หลายแห่ง ... ปัจจัยสำคัญของความเป็นไทยและความเจริญ คือ ความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในหมู่บ้านของเราโดยสันติวิธี และเป็นไปตามกติกา  

 

ถ้าเราทำได้เพียงเท่านี้ แม้จะไม่สามารถทำอย่างอื่นได้มากนัก ผมว่าพี่ทำนุจะมีบุญคุณแก่เยาวชนของเราอย่างเหลือหลาย ... พอหมู่บ้านมีกติกาขึ้น เขาก็ดีใจ เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของเขา ซึ่งตรงกับคำสั่งสอนของพวกเรา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน และไม่มีอะไรให้ความหวังได้แน่นอนว่าจะคืนชีพกลับมากำหนดเมื่อใด ใครเล่าจะไม่เสียดาย ใครเล่าจะไม่ผิดหวัง

 

ครบกึ่งศตวรรษ"เหตุการณ์ 14 ตุลา"ในปีหน้า  โดย "โคทม อารียา"

 

... ผมจึงขอเรียนวิงวอน ให้ได้โปรดเร่งให้มีกติกาหมู่บ้านขึ้นเถิดโดยเร็วที่สุด ในกลางปี 2515 หรืออย่างช้าก็อย่าให้ข้ามปีไป โปรดอำนวยให้ชาวบ้านไทยเจริญมีสิทธิเสรีภาพตามหลักประชาธรรม สามารถเลือกตั้งสมัชชาขึ้นโดยเร็วอย่างที่พี่ทำนุได้ทำมาแล้ว"


เข้ม เย็นยิ่ง เป็นชื่อสมัยเข้าร่วมเสรีไทยของป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขณะที่เขียนจดหมายข้างต้น ป๋วยอาศัยอยู่ที่อังกฤษ ต่อมา เขาเขียนจดหมายลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2515 ถึง ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ความว่า "ผมได้อ่านปัญหาประจำวันของศิษย์โค่ง และคำตอบของอาจารย์ในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคมศกนี้แล้วด้วยความสนใจ ที่อาจารย์ตอบว่า "ได้ทราบมาโดยมีหลักฐานอันแน่นอน ไม่มีที่สงสัยได้" ว่าผมได้เขียนปฏิเสธมาเรียนจอมพลถนอม บอกว่าผมมิได้เป็นผู้เขียนจดหมายของนายเข้มฯ ขึ้นเลยนั้น  ขอได้โปรดสงสัย "หลักฐาน" นั้นจงหนัก เพราะจดหมายนายเข้มนั้นผมเขียนเอง และได้มีหนังสือนำเรียนจอมพลถนอมด้วย ก่อนที่จะเกิดสำเนาเผยแพร่กันออกไป ทั้งตัวจดหมายนายเข้มและหนังสือนำ เขียนด้วยลายมือของผมเอง (อย่างเดียวกับฉบับนี้) ส่วนที่มีผู้อ้างว่า มีจดหมายปฏิเสธทีหลังนั้น ถ้ามีจริงก็ไม่ใช่ของผม เพราะผมไม่เคยปฏิเสธ"

 
ปรากฏว่าจอมพลถนอมไม่รับฟังข้อเสนอของป๋วย แถมยังมีการแสดง "หลักฐาน" ว่าป๋วยไม่ได้เขียนจดหมายถึงจอมพลถนอมจริง จนป๋วยต้องชี้แจงเป็นจดหมายว่า "หลักฐาน" ดังกล่าวเป็นเท็จ แสดงว่าป๋วยคือคนแรก ๆ ที่ร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญก่อนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในเรื่องนี้ในปีต่อมา

 

ในช่วงที่ผมเป็นอาจารย์ใหม่ ๆ ได้ไปเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาค่ายชาวเขาของนิสิตอยู่ 3 ปี ตามคำชวนของอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการบ้านการเมือง และได้เข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตนักศึกษาเป็นครั้งคราว เช่น เขียนบทความ รับเชิญไปพูด หรือร่วมสังเกตการณ์การเคลื่อนไหว โดยเฉพาะของนิสิตจุฬาฯ 

 

กิจกรรมแรก ๆ ของนิสิตคือการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่ใกล้ตัว ในเรื่องนี้ สันติสุข โสภณสิริ เขียนเล่าว่า นายฉันท์แก่น (นามปากกาของผู้นำนิสิตคณะรัฐศาสตร์คนหนึ่ง) เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงอธิการบดีตีพิมพ์ในนิตยสาร "จุฬาสาร" เปิดโปงการแสวงหาผลประโยชน์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยจากที่ดินของจุฬาฯ ผลที่ตามมาคือ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2513 นิสิตกว่า 3,000 คน ได้เดินขบวนจากจุฬาฯ ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการสอบสวนผู้กระทำผิด

 

ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย สมัยที่ธีรยุทธ บุญมี เป็นตัวแทนจากจุฬาฯ และเป็นเลขาธิการ ได้จัดให้มี "การรณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น" ขึ้น เพื่อมุ่งสร้างความรู้สึกชาตินิยมในหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชน และสร้างความตระหนักถึงภัยรุกรานทางเศรษฐกิจจากญี่ปุ่นในขณะนั้นด้วย การรณรงค์ของเยาวชนในช่วงเวลานั้น สามารถหลีกเลี่ยงกฎอัยการศึกที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยจับประเด็นการทุจริต และประเด็นชาตินิยม เป็นต้น ทำให้ศูนย์กลางนิสิตฯ ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้นตามลำดับ 

 

เรื่องที่สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง คือกรณีที่มีคณะนายทหารและตำรวจคณะหนึ่ง แอบใช้ทรัพย์สินทางราชการ เพื่อไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร เหตุการณ์ได้มาปรากฏต่อสายตาประชาชน เมื่อเฮลิคอปเตอร์ของราชการที่กลับจากป่าทุ่งใหญ่ลำหนึ่งมาตกลงที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2516 ในซากเฮลิคอปเตอร์มีเนื้อสัตว์ เช่น กระทิง เก้ง กวาง จำนวนมาก

 

ในเฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าว นอกจากจะมีนายทหารและตำรวจแล้ว ยังมีดาราภาพยนตร์หญิงร่วมเดินทางไปด้วย จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า คณะนายทหารและตำรวจไปล่าสัตว์ในเขตสงวนพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่เพื่อหาความสำราญส่วนตัว แล้วยิงสัตว์ป่าตายเป็นจำนวนมาก

 

ต่อมาเมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่ง ออกหนังสือมีข้อความเสียดสีจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ต่ออายุราชการให้ตนเองหลังเกษียณอายุว่า "สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ" แต่อธิการบดีเห็นว่านักศึกษากลุ่มนี้หมิ่นประมาทผู้นำประเทศ จึงลบชื่อนักศึกษากลุ่มดังกล่าวทั้ง 9 คน ออกจากการเป็นนักศึกษา

 

ต่อมา ในวันที่ 21 มิถุนายน 2516 ศูนย์กลางนิสิตฯจึงได้จัดชุมนุมที่หอประชุมจุฬาฯ แล้วเดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีนิสิตนักศึกษาประชาชน เข้าร่วมชุมนุมนับหมื่นคน นับเป็นการชุมนุมทางการเมืองก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ครั้งใหญ่ที่สุดภายใต้กฎอัยการศึก ผลของการชุมนุมคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหงยอมคืนสภาพแก่นักศึกษาทั้ง 9 คน และอธิการบดียอมลาออกจากตำแหน่ง 
    

เหตุการณ์ที่ยกมาเล่าเหล่านี้ เตรียมสร้างจิตสำนึกต่อต้านรัฐบาลที่ใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และแสดงให้เห็นว่า การไม่เชื่อฟังและการไม่ยอมรับอำนาจของผู้ใช้กำลังบังคับอย่างไม่เป็นธรรมนั้น ทำให้อำนาจดังกล่าวอ่อนแรงลงและพลิกผันไปได้ ดังปรากฏเป็นผลของเหตุการณ์วันที่ 14 – 15 ตุลาคม 2516 ที่ทำให้รัฐบาลต้องลาออกไป อย่างไรก็ดี ได้มีการบันทึกเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาไว้ในที่ต่าง ๆ กันมากพอสมควรแล้ว จึงไม่ขอนำมาเล่าซ้ำในที่นี้ 
    

ในปี 2516 ผมได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาคณาจารย์จุฬาฯ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2514 ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา อาจารย์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีความห่วงใยในความปลอดภัยของนิสิตนักศึกษาเป็นธรรมดา ประกอบกับสภาคณาจารย์มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ถือเป็นความคิดเห็นของผู้บริหาร

 

สภาคณาจารย์จุฬาฯจึงได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับ ที่แสดงความห่วงใย แต่ก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา สะท้อนว่าอาจารย์จำนวนมากมีความเห็นคล้ายกับป๋วย อึ๊งภากรณ์ คือต้องการให้มีรัฐธรรมนูญโดยไว สำนักงานสภาคณาจารย์เป็นสถานที่ที่สมาชิกที่เห็นด้วยกับนิสิต ได้มาพูดคุยกัน ติดตามสถานการณ์ และช่วยกันร่างแถลงการณ์ดังกล่าว 


ภายหลัง 14 ตุลา อาจารย์จากหลายมหาวิทยาลัยได้มาประชุมกันที่สำนักงานสภาคณาจารย์จุฬาฯ เรื่องหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันคือ การก่อตั้งสหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน (Union for Civil Liberty) ซึ่งได้มีการประชุมใหญ่เพื่อรับรองธรรมนูญของสหภาพฯในเดือนพฤศจิกายน 2516 ที่หอประชุมใหญ่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ต่อมาในปี 2526 สหภาพเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้จดทะเบียนเป็นสมาคมและใช้ชื่อว่า สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สหภาพฯ (หมายรวมถึงสมาคมฯ) จะมีอายุครบ 50 ปี ในปีหน้า เช่นเดียวกับการครบกึ่งศตวรรษของเหตุการณ์ 14 ตุลา
    

ผมมีเพื่อนสนิทอยู่คนหนึ่ง ชื่อนิโคลัส เบ็นเนตต์ เขาเป็นชาวอังกฤษและได้จากเราไปแล้วในปี 2553 ซึ่งปีนี้ครบหนึ่งรอบนักษัตรพอดี ระหว่างปี 2513-2522 เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ยูเนสโกส่งมาทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการในการพัฒนาการศึกษาชนบท ระหว่างที่อยู่ประเทศไทย เขาได้บุกเบิกงานสันติวิธีและสิทธิมนุษยชนอยู่ไม่น้อย

 

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา ผู้นำนักศึกษาหลายคนชอบไปปรึกษาหารือกันและปรึกษาหารือกับเขาที่บ้านเขา กล่าวได้ว่าเขามีส่วนช่วยให้ผู้นำนักศึกษาสามารถจัดการชุมนุมประท้วงด้วยสันติวิธี ซึ่งช่วยให้ฝ่ายนักศึกษามีความชอบธรรมเมื่อรัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปราม เขาเขียนอัตชีวประวัติไว้เล่มหนึ่ง ใช้ชื่อว่า "หน้าที่แห่งชีวิต" เขาเล่าเรื่องนี้ไว้ในบท "เพื่อพิทักษ์สิทธิมนุษยชน" โดยมีข้อความที่พอเป็นอุทาหรณ์ได้บ้างดังนี้ 

 

"... ผมจึงรู้จักกับนักศึกษาที่เป็นนักกิจกรรมหลายคน ซึ่งได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น ... สามารถช่วยพวกเขาหายุทธศาสตร์สันติวิธีที่เหมาะสมสำหรับการชุมนุมเหล่านั้น ... [แต่] การโค่นล้มรัฐบาลทหารก็เป็นเรื่องหนึ่ง ... ส่วนการที่จะมีอิทธิพลต่อรัฐบาลที่ควบคุมโดยนักการเมืองที่เป็นกระฎุมพีชั้นนำให้ได้นั้น ก็เป็นคนละเรื่องกันเลยทีเดียว ... ชนชั้นกลางในเมืองต้องการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้พวกเขามีบทบาทสำคัญในการปกครอง ... สิ่งสุดท้ายที่ต้องการคือการทนฟังนักศึกษาคนหนุ่มสาวพูดฟุ้งซ่านเกี่ยวกับความเสมอภาค ... กว่าเพื่อนของผมจะตระหนักรู้ว่าโอกาสที่สูญหายไปย่อมไม่หวนคืนมาก็สายไปแล้ว โรคจิตหวาดผวาเข้ามาแทรก และพวกเขาค่อย ๆ ลืมไปว่าความสำเร็จในปี 2516 นั้นเนื่องมาแต่การใช้สันติวิธี พวกเขาเริ่มพ่นศัพท์แสงการปฏิวัติและพกพาปืน แม้ว่าน้อยคนจะรู้จักวิธีการใช้มัน พวกเขายังคงมาชุมนุมกันที่บ้านผม ผมเน้นเสมอให้เขาเอาปืนไว้นอกบ้าน ด้วยผมพยายามจะโน้มน้าวเขาว่า วิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายต้องสอดคล้องกับตัวเป้าหมายนั้นเอง แต่ก็เปล่าประโยชน์ การแบ่งแยกในสังคมไทยถ่างออกไปทุกที ฝ่ายทหารรวมพลได้ และพร้อมสรรพที่จะกลับมา"
    

การกลับมาครั้งนั้นได้เปิดบทเรียนทางประวัติศาสตร์อีกชุดหนึ่ง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นในโศกนาฏกรรม 6 ตุลาคม 2519 ในที่นี้ ขอเพียงน้อมรำลึกถึงวีรกรรมและความเสียสละของคนหนุ่มสาวในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งจะครบ 50 ปี ในปีหน้านี้
    
 

logoline