svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

ปม "8 ปีนายกฯ" บานปลาย ใช้ "กฤษฎีกา" สู้คดีส่วนตัว?

12 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นการต่อสู้คดี ปม "8 ปีนายกฯ" ชวนเกิดข้อสงสัยกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะคำสั่งกฤษฎีกาที่ 19/65 ตั้งกก.กฤษฏีคณะพิเศษ เพื่อพิจารณาปม "8 ปีนายกฯ"เป็นการเฉพาะ ใครเป็นคนสั่งและเป็นการตั้งขึ้นก่อนเรื่องถึงมือศาลรธน.นานกว่า 8 เดือนด้วยซ้ำ

 

คดีว่าด้วยการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯของ "พล.อ.ประยุทธ์" ว่า ครบ 8 ปี ตามนัยแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรค 4 ก่อผลสะเทือนรุนแรงอย่างไม่น่าเชื่อ 

 

ทั้งในแง่ของผลคดีที่จะออกมา และความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระ ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องแทบทุกคนทุกฝ่าย โดยเฉพาะบรรดา "นักกฎหมายชั้นครู" นับตั้งแต่เกิด "เทศกาลเอกสารหลุด" ทั้งบันทึกการประชุม กรธ. ครั้งที่ 500 ตามมาด้วยคำชี้แจงของ อ.มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. และตบท้ายด้วยบันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 501 

 

ทำเนียบรัฐบาล

 

แต่เรื่องนี้จะยังไม่จบง่ายๆ เพราะมีการตั้งคำถามถึงการใช้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในลักษณะที่อาจมองได้ว่าเป็นการตอบสนองทางการเมืองส่วนบุคคลหรือไม่ โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ เพื่อให้วินิจฉัยปม 8 ปี ทั้งๆ ที่เรื่องนี้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ต้องวินิจฉัยอยู่แล้ว

 

การตั้ง "คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ" ถูกอ้างอิงอยู่ในเอกสารที่อ้างว่าเป็นคำชี้แจงของ"พล.อ.ประยุทธ์" ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เอกสารนี้หลุดในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.65 ท้ายเอกสารทุกหน้ามีการลงลายมือชื่อ อ่านดูเผินๆ ก็รู้ว่าเป็นลายมือชื่อของ "พล.อ.ประยุทธ์" กับหัวหน้าทีมกฎหมายที่ทำหน้าที่เขียนคำชี้แจง

 

ปม "8 ปีนายกฯ" บานปลาย ใช้ "กฤษฎีกา" สู้คดีส่วนตัว?

 

ข้อมูลในเอกสารนี้อ้างว่า ได้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ตาม คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 19/2565 เรื่อง การแต่งตั้งกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ลงวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2565 

 

ข้อชวนสงสัยอีกประการ มีคำสั่งตั้งกก.กฤษฏีกาชุดพิเศษรับมือเรื่องปมนายก8ปี มาตั้งแต่ม.ค.65 ภายหลังฝ่ายค้านทิ้งประเด็นช่วงปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อก.ย. 64

 

"คณะกรรมการกฤษฎีกา" (คณะพิเศษ) นี้ มีความเห็นตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับมาก เรื่อง การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่องเสร็จที่ 150/2565

 

โดยความเห็นที่สรุปอย่างรวบรัดก็คือ การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ห้ามเกิน 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรค 4 หมายถึงระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่เข้าดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 60 เท่านั้น ไม่รวมถึงการดำรงตำแหน่งนายกฯตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ช่วงก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะใช้บังคับ 

 

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มี 7 คน ทั้งหมดเป็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และมีเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาคนปัจจุบันรวมอยู่ด้วย 

 

มีชัย  ฤชุพันธุ์  อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

 

หน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 สรุปง่ายๆ มีอยู่ 2 อย่าง คือ พิจารณาร่างกฎหมาย (ทั้งยกร่าง และตรวจร่าง) และการรับปรึกษาเพื่อให้ความเห็นทางกฎหมาย 

 

การตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เพื่อพิจารณาประเด็นการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ตามมาตรา 158 วรรค 4 ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นการ "ร่างกฎหมาย" หรือ "ตรวจร่างกฎหมาย" แต่เป็นการ "รับปรึกษาเพื่อให้ความเห็นทางกฎหมาย" 

 

เรื่องนี้มีระเบียบว่าด้วยการรับปรึกษาให้ความเห็นทางกฎหมายของกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ.2522 เป็นหลักอยู่ 

 

ระเบียบข้อ 9 กรรมการกฤษฎีกาจะไม่พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้ 

 

(1) เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล


(2) เรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสถาบันอื่นอยู่แล้วตามกฎหมาย และกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าสมควรให้มีการดำเนินการตามกฎหมายนั้นก่อน เพื่อประโยชน์แก่การบริหารราชการแผ่นดิน


(3) เรื่องซึ่งหากให้ความเห็นแล้วจะมีผลกระทบกระเทือนในทางการเมือง หรือทางการต่างประเทศ 

 

ทั้งนี้ เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี จะได้มีมติหรือคำสั่งเป็นการภายในให้พิจารณา 

 

วิษณุ  เครืองาม  รองนายกฯ ได้รับมอบหมายจากนายกฯ กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา

 

ตรวจสอบจากระเบียบที่ยกมา พอจะเห็นร่องรอยว่า คำสั่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) น่าจะสั่งโดย พล.อ.ประยุทธ์ นั่นเอง ส่วนจะถึงขั้นใช้มติ ครม.เลยหรือไม่ ยังไม่ทราบ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข่าวว่ามีมติ ครม.ในเรื่องนี้

 

คำถามก็คือ การสั่งให้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ (ทั้งๆ ที่มีคณะปกติก็มีอยู่แล้วถึง 14 คณะ) เป็นความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ และเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี มีหน่วยงานที่จะชี้ขาดอยู่แล้วใช่หรือเปล่า นั่นก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญ 

 

ที่สำคัญ เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ให้ความเห็นไปแล้ว มีผลกระทบกระเทือนในทางการเมืองใช่หรือไม่ 

 

เรื่องเหล่านี้ วิญญูชนทั่วไปที่ติดตามข่าวสารก็น่าจะพิจารณาได้ว่าเข้าเงื่อนไขที่เป็นข้อห้ามตามระเบียบหรือไม่ ซึ่งระเบียบนี้ คนในคณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่า เป็นประเพณีปฏิบัติที่ยึดถือกันมาโดยเคร่งครัดและยาวนาน

 

 

 

แต่ "นายกฯประยุทธ์" กลับนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาไปอ้างในการต่อสู้คดี (แบบนี้ถือว่าเป็นการนำความเห็นที่สั่งกันภายใน ไปยันกับคนนอก หรือองค์กรภายนอกหรือเปล่า) แถมกรรมการทั้ง 7 คน ก็เป็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และเป็น "นักกฎหมายชั้นครู" อีกด้วย 

 

แบบนี้เท่ากับเป็นการกดดัน บังคับวิถีให้ศาลต้องตัดสินไปตามความเห็นของนักกฎหมายระดับปรมาจารย์ แถมยังเป็นคนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย...ใช่หรือไม่ 

 

เพราะหากนายกฯประยุทธ์ ไม่ต้องการชี้นำศาล ก็ควรปล่อยให้ศาลเรียกข้อมูลและความเห็นของนักกฎหมายและอดีต กรธ.เหล่านี้ไปพิจารณา ซึ่งเป็นไปตาม "ระบบไต่สวน" ที่ใช้ในศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม

ถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตอบว่าเอกสารที่ว่อนอยู่ในโซเชียลฯนั้น เป็นเอกสารชี้แจงของท่านจริงหรือไม่ ถ้าจริง...แสดงว่าท่านตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ขึ้นมาตีความหรือให้ความเห็นทางกฎหมายในปัญหาของตัวท่านเอง (ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเทศชาติและความเป็นอยู่ ความเป็นความตายของพี่น้องประชาชน) ใช่หรือไม่ 

 

แบบนี้เรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า ท่านคงวินิจฉัยได้ดี แม้ระเบียบจะเปิดช่องให้ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรี สามารถสั่งให้ดำเนินการได้ก็ตาม แต่ก็ยังมีคำถามเรื่องความเหมาะควร และเจตนารมณ์ของการ "เปิดช่อง" ก็ไม่น่าจะให้ใช้ในเรื่องแบบนี้

 

จากการสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดจากปม 8 ปี 

 

แต่การที่ท่านรอด แล้วทำให้อีกหลายๆ องคาพยพในบ้านเมืองได้พังลง หรือสิ้นศรัทธาไป โดยเฉพาะองค์กรทางกฎหมายและองค์กรบังคับใช้กฎหมายแล้วไซร้ ย่อมต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่ามันคุ้มกันหรือไม่ที่ประเทศไทย คนไทย ต้องเดิมพันกับท่านมากมายถึงเพียงนี้!

logoline