svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"มรดกโลก" เสียงแคนสองฝั่งโขง ต้นทางสร้างสรรค์วรรณกรรมนานาชาติพันธุ์

13 สิงหาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แคน พิณ ซอ โหวด เป็นดนตรีพื้นบ้านของพี่น้องชาวไทยและชาวลาวที่อยู่ริมแม่น้ำโขงทั้งสองฟากฝั่ง ด้วยมนต์เสน่ห์ของเสียงแคนคือ "มรดกไทย-ลาว"  ซึ่งเตรียมผลักดันสู่การเป็นมรดกโลกทางศิลปะวัฒนธรรมโดยผ่านองค์กร UNESCO ติดตามได้จากเจาะประเด็นโดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

ระหว่าง ๒๘-๒๙ กรกฎาคม ๒๕๖๕  ผมมีโอกาสไปร่วมงานโครงการสานสัมพันธ์วัฒนธรรมสองฝั่งโขง "ไทย-ลาว" ที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ประจำปี ๒๕๖๕ ซึ่งจัดมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นครั้งที่ ๕ แล้ว องค์กรที่จัดประกอบด้วย สมาคมหมอแคนจังหวัดขอนแก่น ชมรามส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมพื้นบ้านจังหวัดมหาสารคามและภาคีเครือข่ายฝ่ายราชอาณาจักรไทย ร่วมกับโรงเรียนศิลปะแห่งชาติ ฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ต่อการสร้างเสริมความสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรม และความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ

 

จากการร่วมสังเกตุการณ์ การพบปะเยี่ยมเยียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแขกผู้มาเยือนจากฝ่ายไทยกับคณะผู้บริหารโรงเรียน จึงทราบว่าข้าราชการและนักวิชาการของเราหลายท่าน มีญาติพี่น้อง มีสายเลือดสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับญาติพี่น้องฝั่งลาว หลายท่านมีการศึกษาและทำงานวิจัยด้านศิลปะวัฒนธรรมแขนงต่างๆมากมายโดยใช้แผ่นดินและภูมิสังคมลาวเป็นฐานการศึกษา รวมทั้งปัจจุบันยังคงมีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา 

 

"มรดกโลก" เสียงแคนสองฝั่งโขง  ต้นทางสร้างสรรค์วรรณกรรมนานาชาติพันธุ์

"ดร.ราตรี ศรีวิไล" นายกสมาคมหมอลำจังหวัดขอนแก่น ท่านจบปริญญาเอกด้านนี้โดยตรงจากการมาทำวิจัยที่ประเทศลาว เล่าว่าตอนทำปริญญาเอกเลือกทำวิจัยเรื่อง "ลำด้น"  หลังจากนั้นเป็นต้นมา ท่านแทบไม่ต้องเขียนกลอนลำล่วงหน้าอีกเลย เพราะสามารถด้นกลอนสดได้อย่างคล่องแคล่ว


การลำตังหวาย ก็เป็นอีกแบบหนึ่งที่ใช้ปฏิภาณไหวพริบในการด้นกลอนสด จุดกำเนิดอยู่ที่หมู่บ้านตังหวาย แขวงสุรรณเขตของฝั่งลาว ตรงข้ามกับมุกดาหารและอุบลราชธานี เป็นศิลปะการแสดงที่ปรากฏในส่วนที่อยู่ตอนใต้ลงมา การลำตังหวายสามารถลำกันได้ทุกเพศทุกวัย 


ในอดีตผู้ชายจะเป็นฝ่ายลำ เพื่อการเกี้ยวพาราสีฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายหญิงมีความสามารถโต้ตอบได้ก็จะตอบกลับโดยใช้ผญา การลำตังหวายไม่มีการประพันธ์บทไว้ล่วงหน้า จึงเป็นการลำแบบด้นสด สามารถคิดเนื่อหาการลำได้เอง โดยใช้ทำนองลำตังหวาย ส่วนเครื่องดนตรีประกอบได้แก่ แคน พิณ และซอ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีและอีกหลายแห่งในภาคอีสานมีวิชาการเรียนการสอน การทำวิจัยและการส่งเสริมฟื้นฟูและเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมพื้นเมืองเหล่านี้

 

กิจกรรมการแสดงแลกเปลี่ยนศิลปะวัฒนธรรมในครั้งนี้ เป็นการจัดแสดงบนเวทีในห้องเธียเตอร์ของโรงเรียน ให้แต่ละฝ่ายแสดงสลับกัน เริ่มจากวงออเคร้สต้าของโรงเรียนที่เล่นดนตรีสมัยใหม่ดังกระหึ่ม อลังการ สอดประสานเสียงขับขานตามจังหวะของไวทยากร  จากนั้นเป็นการแสดงสลับไทย-ลาว ซึ่งชุดการแสดงของไทยที่เตรียมไว้มีมากมาย จนเกรงว่าจะไม่สามารถบรรจุเข้าในระยะเวลาที่มีจำกัดได้ แต่ในที่สุดทุกอย่างก็ลงตัว คิวแสดงกระชับดีมาก ไม่รู้สึกเยิ่นเย้อ 
มีทั้งการแสดงยุคโมเดิร์นของศิลปินรุ่นเด็กจากศูนย์แลกเปลี่ยนศิลปะนานาชาติที่กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี มาเลเซีย

 

รวมทั้งหมอลำพื้นบ้านอีสาน และโปงลางวงใหญ่จากโรงเรียนพระมหาไถ่ ซึ่งขนกันไปแสดง  ในส่วนของฝ่ายลาว มีการเต้นรำแบบบัลเล่ต์  เข้าใจว่าได้วัฒนธรรมมาจากฝรั่งเศสและสหภาพโซเวียต และการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว

 

"มรดกโลก" เสียงแคนสองฝั่งโขง  ต้นทางสร้างสรรค์วรรณกรรมนานาชาติพันธุ์  
  
นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมประกาศเกียรติคุณผู้มีคุณูปการต่อการพัฒนาอนุภาคลุ่มน้ำโขง ไทย-ลาว ด้วยการมอบรางวัลแม่โขงทองคำ (Golden Mekong Award)  ๘๐ รางวัลโดยผ่านตัวแทนสองฝ่าย มีกิจกรรมผ้าป่าวัฒนธรรม เพื่อมอบทุนการศึกษาให้กับเยาวชนและสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอนดนตรีผ่านโรงเรียนศิลปะแห่งชาติ สปป.ลาว  นี่ก็นับเป็นเรื่องดีงามที่ช่วยสานสัมพันธ์พี่น้องไทย-ลาวได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถขยายไปสู่เด็กเยาวชนลาวในพื้นที่อื่นและสาขาอื่นๆได้อีกมาก


เมื่อปี ๒๕๖๐ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเคยจัดการประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง "แคน" มนต์เสน่ห์ศิลปวัฒนธรรมอีสาน-ลาว เพื่อเป็นเวทีในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนแนวคิด ลงลึก รากฐานมรดกวัฒนธรรมมนต์เสน่ห์ของเสียงแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสำคัญและผูกพันกับชาวอีสานและชาวลาว มาอย่างยาวนาน ในหลากหลายแง่มุม ทั้งด้านทำนอง จังหวะ เครื่องดนตรี และการนำไปใช้ รวมไปถึงงานวรรณกรรมที่ก่อเกิดจากการได้ยินได้ฟังเสียงแคน ผู้เชี่ยวชาญบางท่านถึงกับชี้ว่า "หมอแคนหมอลำ เป็นต้นทางสร้างสรรค์วรรณกรรมนานาชาติพันธุ์"


ปลายปีนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจะจัดงานสัมมนานานาชาติว่าด้วยเรื่องเสียงแคน มรดกไทย-ลาว  เพื่อผลักดันสู่การเป็นมรดกโลกทางศิลปะวัฒนธรรมโดยผ่านองค์กร UNESCO  


เสาหลักประชาคมอาเซียนในด้านสังคมวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในสามเสาหลัก  กิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน และการผลักดัน"เสียงแคน มรดกสองฝั่งโขง" จึงเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนอย่างยิ่ง
 

logoline