svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

UHT 3 กล่อง : กฎหมายกับความเป็นคน และศรีธนญชัยที่ควรหายไปจากสังคมไทยเสียที

21 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แม่เลี้ยงเดี่ยวลักนม 3 กล่อง : มุมมองอัยการสถาบันนิติวัชร์ “กฎหมายกับความเป็นคน และศรีธนญชัยที่ควรหายไปจากสังคมไทยเสียที”

จากกรณีเมื่อเวลา 3 ทุ่มครึ่ง ของคืนวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา แม่เลี้ยงเดี่ยวลักนมกล่อง จากร้านสะดวกซื้อ ตำรวจไปถึงที่เกิดเหตุ พบนม UHT ของกลางสามกล่อง ด้วยมนุษยธรรมของ ผู้กองไพบูลย์ แห่ง สภ.ศรีสะเกษ จึงจ่ายค่านมให้แทน แต่ผู้จัดการร้านสะดวกซื้อไม่ยอม จึงทำให้ต้องเข้ากระบวนการ ที่เป็นทางการ ต้องดำเนินการต่อไปให้มีการจับกุมเพื่อดำเนินคดีอาญาฐานลักทรัพย์ แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ตำรวจทุกประเทศย่อมมีดุลพินิจตามท้องถนน ที่ผมขอเรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า discretion on the ground หรือดุลพินิจภาคพื้นดิน ที่จะจัดการหรือไม่จัดการกับเรื่องสัพเพเหระที่ประสบพบพาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยเฉพาะหน้าเป็นรายๆ ไป      

 

ผู้คนในสังคมที่ได้รับทราบข่าวนี้ อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันไป บ้างไม่ค่อยเห็นใจแม่เลี้ยงเดี่ยวคนนี้ เพราะเจ้าตัวรับสารภาพกับตำรวจเองด้วยว่าทำแบบนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว อย่างไรก็ตาม ในฐานะอัยการแผ่นดิน ที่ทำงานใกล้ชิดกับตำรวจ จึงมักถูกถามไถ่ว่า เรื่องแบบนี้ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อแผ่นดินตรงไหนเลย

 

ไม่เหมือนกับเรื่องโกงกินบ้านเมืองใหญ่โต ที่ผู้เกี่ยวข้องบางรายกลับลอยนวลพ้นผิด กระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่นๆ เขาทำกันอย่างไรได้บ้าง แล้วของไทยล่ะ เราจะทำอะไรได้บ้างกับกรณีเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ตอนนี้ไทยเรากำลังมีร่างกฎหมายชะลอการฟ้อง ที่จะเปิดช่องให้พนักงานอัยการชะลอการฟ้องคดีทำนองนี้ได้ หากผู้เสียหายยินยอม โดยอาจมีมาตรการคุมประพฤติมาใช้เป็นเงื่อนไขในการประคับประคองคนที่ยังดีอยู่ ให้สามารถประคองตัวไม่ให้เสียหลักไปจนเลยเถิด

UHT 3 กล่อง : กฎหมายกับความเป็นคน และศรีธนญชัยที่ควรหายไปจากสังคมไทยเสียที

                  หากตอนนี้ ไทยเราประกาศใช้กฎหมายชะลอการฟ้องแล้ว คดีลักนม UHT สามกล่องนี้ หากผู้ต้องหาไม่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดซ้ำซาก จะมีลักษณะแห่งคดีเข้าเงื่อนไขให้ตำรวจกับอัยการและพนักงานคุมประพฤติทำงานร่วมกัน ถึงแม้ในชั้นแรกผู้เสียหายจะเอาความ แต่กระบวนการพูดคุยเจรจากันโดยพร้อมหน้า ยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งต่อมาหากผู้เสียหายยินดีไม่เอาความ พนักงานอัยการไม่จำเป็นต้องนำคดีไปฟ้องศาล แต่เพียงแค่สั่งชะลอฟ้อง แล้วกราบเรียนให้ศาลทราบว่าเป็นการสั่งชะลอฟ้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

               

                  ถึงแม้ว่าตอนนี้ เรายังไม่มีกฎหมายชะลอการฟ้อง การลักนมกล่องครั้งนี้ ทำให้หลายคนหันไปมองกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ว่าน่าจะเอามาใช้ช่วยคลี่คลายเรื่องที่ไม่น่าเป็นเรื่องราวใหญ่โตต่อไปจนถึงต้องใช้เวลาอันมีค่าของศาลต้องมาออกนั่งพิจารณาคดีแบบนี้ ซึ่งในที่สุดแล้ว คดีที่มีลักษณะทำนองนี้ มีแนวโน้มว่าอาจจะมีการใช้ดุลพินิจให้รอการลงโทษ แม้พยานหลักฐานชี้ชัดว่าทำผิดจริงก็ตาม

 

                  พอหันไปดูกฎหมายว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กลับพบว่า คดีลักนมกล่องคดีนี้ ใช้มาตรการไกล่เกลี่ยไม่ได้ เพราะความผิดที่ก่อ ไม่ใช่คดีลักทรัพย์ธรรมดา แต่เป็นการลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 กำหนดเอาไว้ให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี ซึ่งเกินกว่าเกณฑ์อัตราโทษของคดีอาญาที่สามารถเข้าสู่กระบวนการการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาตามที่ได้กำหนดไว้ ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 ซึ่งจะต้องเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี พอเป็นเช่นนี้ ทำให้คดีนี้ หากแม้ต่อมาผู้เสียหายเปลี่ยนใจ ไม่ติดใจเอาความ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่แม้มากด้วยมนุษยธรรม ก็จักไม่สามารถจัดให้มีการไกล่เกลี่ยเพื่อไม่เอาความได้ ...เพราะอะไร ?

                ...เพราะอะไร ? คำถามนี้ หากนักกฎหมายถามและตอบกันตามกฎหมาย ย่อมจะตอบได้อย่างหนักแน่นเสียงดังฟังชัดว่า ก็เพราะกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้นนี่หน่า แต่หากถามและตอบกันอย่างเปิดกว้างทางความคิดโดยใช้สามัญสำนึกเป็นวิถีคิด น่าจะทำให้เกิดการเปิดประเด็นให้คิด ให้ถามตามติดกันมาได้อย่างไรบ้าง เช่น

                - แบบนี้ ถ้าคดีนี้ แม่เลี้ยงเดี่ยวเข้าไปขโมยนมกล่องตอนห้าโมงเย็น หรือหกโมงกว่าก็ได้ ตราบเท่าที่พระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน ก็กลายเป็นคดีลักทรัพย์ธรรมดา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ก็ไกล่เกลี่ยได้ ใช่หรือไม่ ?

                - แล้วหากมีคนขโมยเงินผู้อื่นหนึ่งหมื่นบาทตอนเที่ยงวัน หากผู้เสียหายโอเค ไม่ติดใจเอาความ ก็ไกล่เกลี่ยได้ใช่ไหมนี่ ?       

                - แล้วทำไมกฎหมายอาญาถึงมองว่า ขโมยตอนกลางคืน เลวร้ายกว่าขโมยตอนกลางวัน ทั้ง ๆ ที่ขโมยตอนเที่ยงคืนในร้านสะดวกซื้อ อาจมีไฟส่องสว่างชัดเจนกว่าขโมยเงินหมื่นบาทตอนเที่ยงตรง ในซอยเปลี่ยวก็ได้นะ ?

                - ส่วนคนที่เข้าใจหลักคิดในเรื่องรัฐสวัสดิการ ก็อาจตั้งคำถามไปได้ไกลถึงขนาดว่า หากเงินภาษีของไทยไม่รั่วไหล แต่ถูกเอามาใช้สร้างรัฐสวัสดิการ เหตุการณ์แม่เลี้ยงเดี่ยวลักนมกล่อง UHT แบบนี้ คงไม่เกิดขึ้นตั้งแต่แรกแล้วก็เป็นได้

               

                  คำถามเปิดประเด็นข้อสงสัยตามตัวอย่างข้างต้น ปกตินักกฎหมายส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยถามกัน แต่ไม่มีใครสามารถไปห้ามชาวบ้านไม่ให้คิด ไม่ให้สงสัยได้ แม้กระทั่งพวกเราเองที่เป็นนักกฎหมายแก่ สมัยก่อน ที่เรายังเรียนอยู่ พวกเราเองก็เคยถาม เคยพยายามเมคเซ้นส์กับหลาย ๆ เรื่องที่ถูกสอนให้จำตาม ๆ กันมา

                ปรากฏการณ์เช่นนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็นปรากฏการณ์กฎหมายแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น

UHT 3 กล่อง : กฎหมายกับความเป็นคน และศรีธนญชัยที่ควรหายไปจากสังคมไทยเสียที

             

                จริงๆ แล้ว จะออกแบบกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นนั้น ไม่ใช่ทำไม่ได้ อย่างในประเทศอังกฤษ หลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาสั่งคดีอาญาของพนักงานอัยการประเทศอังกฤษ มีหลักสำคัญคือ ก่อนที่จะมีคำสั่งฟ้องคดีอาญาใด พนักงานอัยการจะต้องทำการตรวจสอบโดยผ่านการพิจารณา 2 ขั้นตอน (The Full Code Test)  ได้แก่ ขั้นตอนแรก ต้องพิจาณาว่าคดีดังกล่าวมีพยานหลักฐานเพียงพอสำหรับฟ้องคดีหรือไม่ (The Evidential Stage) และขั้นตอนถัดไป พนักงานอัยการต้องพิจารณาว่า การฟ้องคดีดังกล่าวสาธารณะจะได้ประโยชน์หรือไม่ (The Public Interest Stage) ซึ่งหากผ่านการพิจารณาสองขั้นตอนดังกล่าวครบถ้วนแล้ว พนักงานอัยการจึงจะสามารถมีคำสั่งฟ้องคดีได้

               โดยในส่วนของการพิจารณาว่าการสั่งฟ้องคดีจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนหรือไม่นั้น พนักงานอัยการจะต้องชั่งน้ำหนักว่าการฟ้องคดีต่อผู้ต้องหา เพื่อลงโทษต่อการกระทำความผิดของผู้ต้องหานั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงหรือไม่ เพราะในหลาย ๆ กรณี การสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาและให้โอกาสผู้ต้องหาในการกลับเข้าสู่สังคม เพื่อให้มีโอกาสในการประกอบอาชีพที่สุจริตอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ซึ่งในการพิจารณาสาธารณประโยชน์นี้ กฎหมายได้วางหลักไว้ว่า พนักงานอัยการมีข้อที่จะต้องพิจารณาหลายประการ ตัวอย่างเช่น ความผิดที่ผู้ต้องหากระทำลงไปนั้น มีความร้ายแรงเพียงใด ความเกี่ยวข้องของผู้ต้องหาในการกระทำความผิด การกระทำความผิดนั้นได้มีการตระเตรียมวางแผนไว้ล่วงหน้าหรือไม่ ผู้ต้องหาได้ประโยชน์จากการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ ผู้ต้องหามีประวัติการกระทำความผิดมาก่อนหรือไม่ หรือในกรณีที่ผู้ต้องหากระทำความผิดลงไปเพราะถูกบังคับให้กระทำ หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงที่จะไม่กระทำความผิดมิได้

 

นอกจากนี้ ในการพิจารณาชั่งน้ำหนักว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ พนักงานอัยการจะต้องพิจารณาถึงผลกระทบของคดีนั้นต่อสังคมด้วย หากการกระทำความผิดของผู้ต้องหานั้น มีผลกระทบต่อสังคมมาก ย่อมถือได้ว่าการสั่งฟ้องคดีเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่ากรณีที่การกระทำความผิดของผู้ต้องหามีผลกระทบต่อสังคมน้อยกว่า เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์เรื่องการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะในการสั่งคดีของพนักงานอัยการอังกฤษนั้น ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่พนักงานอัยการจะต้องนำมาใช้เป็นปกติในการสั่งคดีอาญา ซึ่งไทยเราก็มีหลัก สั่งไม่ฟ้องคดีได้ด้วยเหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติอาจแตกต่างกับระบบและการปฏิบัติของประเทศอังกฤษอยู่บ้าง ตรงที่ของเราไม่ได้เป็นขั้นตอนการพิจารณาที่เกิดขึ้นตามปกติในระดับพนักงานอัยการเจ้าของสำนวน

หลักเกณฑ์เรื่องการคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะในการสั่งคดีของพนักงานอัยการอังกฤษนั้น ถือเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ที่พนักงานอัยการจะต้องนำมาใช้ในการสั่งคดีอาญาทุกคดี โดยหลักเรื่องประโยชน์สาธารณะดังกล่าว ได้ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาใช้มาตรการการหันเหผู้กระทำความผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นก่อนฟ้องของพนักงานอัยการประเทศอังกฤษด้วย ซึ่งอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า “การเตือนแบบมีเงื่อนไข” (conditional caution) โดยหากพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้คดีจะมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องแต่การใช้มาตรการเตือนแบบมีเงื่อนไขจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการสั่งฟ้องคดีพนักงานอัยการก็จะมีคำสั่งให้ใช้มาตรการเตือนแบบมีเงื่อนไขแทนการฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งจุดที่น่าสนใจในเรื่องนี้ก็คือภายใต้กฎหมายอังกฤษนั้น ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจของพนักงานอัยการในการพิจารณาว่า 

กรณีใดจึงถือว่าการเตือนแบบมีเงื่อนไขจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าการฟ้องคดีต่อศาล โดยกำหนดให้พนักงานอัยการอาจพิจารณาจาก ความร้ายแรงของฐานความผิด พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด ความคิดเห็นของผู้เสียหาย ความสำนึกผิดของผู้ต้องหา และเจตจำนงของผู้ต้องหาในการเยียวยาผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนนั้น เป็นต้น

                หากจะเปรียบกันตรง ๆ กับกรณีลักนมกล่อง ซึ่งเป็นการลักเล็กขโมยน้อยในร้านค้าที่ฝรั่งเรียกว่า “low-value shoplifting” นั้น กฎหมายของอังกฤษให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะออกคำสั่งตักเตือน (police caution) แทนการดำเนินคดีได้ด้วยซ้ำไป

               

                 หันกลับมามองกฎหมายไทยของเรา จะพบว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ในการที่ศาลอาจมีคำพิพากษาว่าจำเลยนั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้หรือกำหนดโทษ แต่รอการลงโทษไว้ แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลาที่ศาลจะได้กำหนด กฎหมายได้กำหนดเอาไว้ว่าศาลอาจใช้ดุลพินิจโดยคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือการรู้สึกความผิด และพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้วเห็นเป็นการสมควร ซึ่งก็ถือเป็นการให้อำนาจศาลในการใช้ดุลพินิจพิจารณานอกเหนือจากการดูเพียงที่อัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในตัวความผิดฐานลักทรัพย์เอง กฎหมายอาญายังบัญญัติไว้ในวรรคท้ายของมาตรา 335 ให้ศาลสามารถลดโทษได้  หากเป็นการลักทรัพย์เพราะความยากจนเหลือทนทานและทรัพย์นั้น มีราคาเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม กระบวนการยุติธรรมที่เน้นประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม ไม่จำเป็นต้องจำกัดการสร้างความยืดหยุ่นให้เกิดขึ้นได้เฉพาะในชั้นศาลเท่านั้น ประเด็นสำคัญมีอยู่แค่ว่า หน่วยงานใด 

                   ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล หากเป็นหน่วยงานที่สังคมวางใจได้ในความตรงไปตรงมา เราย่อมออกแบบกฎหมายให้หน่วยงานนั้นมีดุลพินิจตามกรอบที่กำหนดได้

เป้าหมายหลักของบทความนี้คือจะบอกว่า การตั้งคำถามที่อาจดูย้อนแย้งในสายตาปรมาจารย์ด้านกฎหมาย บางทีอาจช่วยนำไปสู่การค้นหาคำตอบที่ช่วยทำให้กฎหมายที่ใช้กับมนุษย์ มีความเป็นมนุษย์มากยิ่งขึ้น โดยไม่ขัดกับหลักวิชานิติศาสตร์และอาชญาวิทยา

UHT 3 กล่อง : กฎหมายกับความเป็นคน และศรีธนญชัยที่ควรหายไปจากสังคมไทยเสียที

แล้วศรีธนญชัยมาเกี่ยวอะไรด้วยกับเรื่องนี้  ทำไมหลายสิ่งหลายอย่างในบางประเทศเขาทำกันได้ แต่พอบ้านเรากลับทำไม่ได้ และในหลายกรณี หลักการที่ดีในกฎหมายกลับถูกยกเว้นให้กับคนตัวใหญ่ในสังคมจนชาวบ้านกังขาว่าสองมาตรฐาน หรือว่าสังคมใดประเทศไหนจะสามารถมีกฎหมายและหลักการดี ๆ ไว้ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน  มันอาจอยู่ที่ว่าสังคมนั้นปล่อยให้มีศรีธนญชัยเข้ามาดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญต่าง ๆ ในบ้านเมืองหรือไม่ หากสังคมใดได้บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นมืออาชีพ สุจริตต่อหน้าที่และซื่อสัตย์ต่อประชาชนเหนือสิ่งอื่นใด ประเทศนั้นย่อมกล้าที่จะออกแบบกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นได้สูง  เพราะไม่ต้องกังวลว่า จะมีศรีธนญชัยมาเล่นแร่แปรธาตุจนกฎหมายที่ออกแบบมาดี กลายเป็นเละเทะในตอนใช้ ก็เป็นได้กระมัง

 

logoline