svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"90 ปีประชาธิปไตย" จาก 24 มิ.ย. 2475 ถึงวันนี้ ประชาธิปไตยยังไม่เสร็จสิ้น

24 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"90 ปีประชาธิปไตย" การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยของสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475​​​​​​​เดินทางมาอย่างทุลักทุเลถึง 90 ปีแล้ว… เป็น 90 ปีที่บ่งบอกว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยยังไม่เสร็จสิ้นลง เจาะประเด็นโดย สุรชาติ บำรุงสุข

 

การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยของสยามในวันที่ 24 มิถุนายน 2475เดินทางมาอย่างทุลักทุเลถึง 90 ปีแล้ว… เป็น 90 ปีที่บ่งบอกว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยยังไม่เสร็จสิ้นลง

 

อันเป็นเสมือนการเดินทางไกลที่ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง
ทุกคนรู้ดีว่า เป็น 90 ปีของการเดินทางไปบนถนนที่ไม่เคยราบเรียบ
และเส้นทางนี้ไม่ได้ปูราดสดใสด้วยกลีบกุหลาบ หากมีแต่หลุมบ่อ
และอุปสรรคนานับประการขวางกั้นการเดินทางสู่ประชาธิปไตยไปตลอดเส้นทาง และสิ่งกีดขวางใหญ่ที่สุดคือด่านทหารที่มีรถถังคอยหยุดการเดินทางของนักประชาธิปไตยว่าที่จริงแล้ว พัฒนาการจาก 2475 จนถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึง "สงครามการเมือง" ของการต่อสู้ของอุดมการณ์ 2 ชุดอย่างชัดเจน

 

จนอาจกล่าวได้ว่า สงครามระหว่าง "เสรีนิยม vs อนุรักษนิยม"
ไม่เคยจบในสังคมไทย และยิ่งนานวัน การต่อสู้ของสองค่ายความคิดนี้ ยิ่งทวีความเข้มข้นและส่งผลโดยตรงต่ออนาคตทางการเมืองของประเทศอย่างมีนัยสำคัญและบางทีอาจส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึงด้วย

 

อย่างไรก็ตาม สภาวะของการต่อสู้เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าในช่วง 90 ปีที่ผ่านมาการเมืองไทยเป็นการหมุนกลับไปมาระหว่าง "เลือกตั้งและรัฐประหาร" 

 

… ถ้านับจากเหตุการณ์ 2475 แล้ว

 

เรามีรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จทั้งหมด 13 ครั้ง และมีรัฐประหารที่ล้มเหลวอีกประมาณ 10 ครั้ง ฉะนั้นต่อให้เรามีการเลือกตั้งในการเมืองไทยกี่ครั้ง ก็ไม่มีความหมายอะไรเพราะการเลือกตั้งที่เกิดกลับไม่เคยยั่งยืนแต่อย่างใด

 

ถ้าย้อนกลับไปดูจะเห็นชัดอีกว่า หากเทียบช่วงเวลาของระบอบเลือกตั้งกับระบอบรัฐประหารแล้ว

 

ระบอบเลือกตั้งมีชีวิตอยู่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ส่วนระบอบรัฐประหารกลับคงทนถาวร ที่ต้องใช้คำว่า "คงทนถาวร"


เพราะคณะรัฐประหารจะออกแบบรัฐธรรมนูญให้เสร็จแล้ว จึงเปิดการเลือกตั้งซึ่งไม่มีทางเลยที่การเลือกตั้งภายใต้ "กติกาคณะรัฐประหาร" จะอยู่ในมาตรฐานสากล คือ "เสรีและเป็นธรรม"
(free and fair election)

 

ดังนั้น แม้การเมืองไทยจะมีการเลือกตั้งหลายครั้ง แต่การเลือกตั้งเหล่านี้หลายครั้งเกิดหลังรัฐประหารและไม่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยได้จริง จนกลายเป็นข้อสังเกตที่สำคัญว่าการเลือกตั้งหลังระบอบทหารสิ้นสุดนั้น คือ การกำเนิดของ "ระบอบพันทาง" (hybrid regime) เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของผู้นำรัฐประหาร และเป็นเช่นนี้จนเป็นเสมือน  "ละครที่เดาตอนจบได้" …


ละครแห่งอำนาจของคณะรัฐประหารไทยไม่เคยซับซ้อน จนเดาได้เสมอ และ "เสนาใหญ่" จะเล่นบทเดียวเสมอ คือ "บทสืบทอดอำนาจ"
ในอีกด้านหนึ่ง 90 ปีที่ผ่านมาฝ่ายอนุรักษนิยมอาจจะถดถอยไปบ้างจากการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาประชาชน แต่ปีกขวาที่เป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ได้พยายามสร้างความเข้มแข็งมาโดยตลอด

 

รัฐประหารแต่ละครั้งล้วนมีนัยสำคัญต่อการเพิ่มอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยมทั้งสิ้นโดยเฉพาะเมื่อเกิดการผสมผสานระหว่าง"อนุรักษนิยมและจารีตนิยม"  พร้อมกับการดึงอำนาจของ
"เสนานิยมและทุนนิยม" มาเป็นพลังเสริม จนกลายเป็น "บ้านสี่เสา"ที่แข็งแรงของฝ่ายขวาในสังคมการเมืองไทย

 

แม้ฝ่ายขวาในปีกอำนาจนิยมจะเป็น "ผู้ชนะ" แต่ก็เป็นชัยชนะที่เปราะบางเสมอ  พลวัตรความเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาล้วนมีทิศทางที่เป็นกระแสเสรีนิยม

 

แม้บางช่วงจะมีสงครามมาเป็นปัจจัยเสริมสร้างกระแสอำนาจนิยม แต่ทิศทางหลักของ "ระเบียบโลก" เป็นเสรีนิยม ยิ่งหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น เกิดกระแสโลกาภิวัตน์พัดไปทั่วโลก

 

ถึงแม้ปัจจุบันจะอ่อนแรงลงบ้างจากการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์และการมาของกระแสประชานิยมปีกขวาของยุโรป
แต่การเปลี่ยนผู้นำของสหรัฐและการผนึกกำลังของรัฐประชาธิปไตยตะวันตกในสงครามยูเครนมีส่วนโดยตรงที่ช่วยให้กระแสเสรีนิยมกลับคืนมาดังนั้น ในวาระครบรอบ “90 ปี 2475” ความหวังของผู้นำคณะราษฎรอาจจะยังไม่ถึงฝั่งฝันการเมืองไทยยังวนอยู่กับการรัฐประหาร แต่อย่างน้อย ฝ่ายประชาธิปไตย ชนะใหญ่ถึง 2 ครั้ง ในปี 2516 และ 2535

นอกจากนี้ ในวาระครบรอบในปี 2565  กระแสประชาธิปไตยและการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่มีพลังมากขึ้นพร้อมกับกระแสอนุรักษนิยมของปีกขวาจัดที่แม้จะคุมอำนาจรัฐ แต่ก็อ่อนแรงลง ด้วยวิกฤตต่างๆ ที่รุมเร้าและไม่มีอะไรเป็นปัญหาใหญ่เท่ากับ "วิกฤตผู้นำ"ในปัจจุบัน ซึ่งไม่มียุคไหน ที่คนในสังคมจะ "ดูแคลน" ผู้นำรัฐบาลมากเท่ากับยุคนี้ จนต้องถือว่า รัฐบาลพันทางของผู้นำรัฐประหารกำลังเผชิญกับ "วิกฤตศรัทธา"อย่างหนัก


"90 ปี 2475" วันนี้จึงสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความ "ไร้ประสิทธิภาพและไร้ความสามารถ"  ผู้นำฝ่ายขวาที่อยู่ในอำนาจ ว่าที่จริงแล้ว อำนาจในมือของผู้นำที่ไร้ประสิทธิภาพและไร้ความสามารถคือ"ระเบิดเวลา" ลูกใหญ่ที่รอการระเบิด เพราะสังคมไทยกำลังเผชิญกับ "อภิมหาวิกฤต"และผู้คนเริ่มหมดความอดทนลง … จนอดคิดไม่ได้ว่ากระแสลมประชาธิปไตยเสรีนิยมที่พัดเริ่มพัดมาครั้งนี้พร้อมกับวิกฤตใหญ่ทั้งในเวทีโลกและในเวทีไทยจะแรงพอที่ทำให้ "บ้านสี่เสา" ในปี 2565 คลอนแคลนได้หรือไม่!

logoline