svasdssvasds
เนชั่นทีวี

คอลัมนิสต์

"คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนมัญจาคิรี" โครงการแก้จน ที่รัฐบาล มิอาจมองข้าม

15 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โครงการ "คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น" เป็นนโยบายที่ขับเคลื่อนโดย สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดหัวก้าวหน้า ท่านเป็นทั้งนักปกครองและนักพัฒนาที่โดดเด่น โดยได้ แรงบันดาลใจจากนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน

 

กรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา สนใจติดตามโครงการ "คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น"เป็นพิเศษมาตั้งแต่เริ่มต้น  


นโยบายนี้ ริเริ่ม สร้างสรรค์และขับเคลื่อนโดยนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดหัวก้าวหน้า ท่านเป็นทั้งนักปกครองและนักพัฒนาที่โดดเด่น รับแนวคิด องค์ความรู้และแรงบันดาลใจจากนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศจีน ทั้งศึกษาดูงานและเชิญเจ้าหน้าที่สถานฑูตจีนมาให้คำปรึกษาแนะนำ

 

"คู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนมัญจาคิรี" โครงการแก้จน ที่รัฐบาล มิอาจมองข้าม

 

ผลสัมฤทธิ์ ๓ ปีของขอนแก่น ได้กลายเป็นโมเดลตัวอย่างให้กระทรวงมหาดไทยได้นำมาใช้ขยายผลไปทั่วประเทศ โดยจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง(ศจพ.) ในระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมาย "แก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน"

 

การประกาศแก้ปัญหาคนจนในระบบ ๑,๐๒๕,๗๘๒ คน กับกลุ่มเปราะบางอีก ๔.๑ หมื่นครัวเรือน ๑๐ ล้านคน โดยขีดเส้นให้ทุกจังหวัดจัด "ทีมพี่เลี้ยง" ให้เป็นรูปธรรมก่อนสิ้นปีงบประมาณ ๒๕๖๕ นี้ รวมทั้งด้านสภาพัฒน์ ก็เร่งทำตัวอย่างเมนูแก้จน เพื่อคิกออฟ "มหกรรมแก้จน" ๑.๙ หมื่นโครงการ  ได้ทำให้สื่อมวลชนนำไปวิพากษ์วิจารณ์ว่าสิ้นปีงบประมาณนี้ รัฐบาลสั่งแก้ความยากจนได้หมดทั้งประเทศแล้ว จึงอดเป็นห่วงกังวลมิได้ว่า ความริเริ่มดีๆที่ขอนแก่น จะถูกกลบไปด้วยกระแสสั่งการจากบนลงล่าง แบบ "ไฟไหม้ฟาง"

 

ในกรอบการทำงานที่จังหวัดขอนแก่นริเริ่ม ประกอบด้วย ๕ มิติ  ๔ กระบวนงาน  ๓ เป้าหมาย  ๒ กลยุทธ์ และ ๑ โครงการ

 

คณะกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี

 

๕ มิติ

 

เป็นการวิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความยากจนและคุณภาพชีวิตใน ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านรายได้ ด้านการศึกษา และด้านสวัสดิการภาครัฐ 

 

นำมาสู่การจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ร่วมกับ ๑๗ อำเภอ  ๑ เทศบาลนคร ๗ เทศบาลเมือง ๗๓ เทศบาลตำบล และ ๑๔๔ อบต. พบข้อมูลครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ๓๘,๐๐๐ บาท/ปี หรือ ๑๐๔ บาท/วัน โดยผ่านกระบวนการตรวจสอบจากเวทีประชาคมหมู่บ้านแล้ว มีครัวเรือนเป้าหมาย ๑,๑๗๔ ครอบครัว ใน ๕๗๗ หมู่บ้าน ๑๔๗ ตำบล  
 
๔ กระบวนงาน
 
เป็นการปฏิบัติการ ๔ ท. เพื่อนำไปสู่วิถีการดำรงชีวิต ได้แก่ 
ทัศนคติ ปรับทัศนคติทางบวก การพูดคุยทำให้ครอบครัวรู้สึกอบอุ่น  
ทักษะ เสริมทักษะการประกอบอาชีพบนฐานความชำนาญของครัวเรือน  


ทรัพยากร ปัจจัยการผลิต พื้นที่ ที่ดินทำกิน ฐานทุนต่างๆที่สามารถแปลงและสร้างอาชีพได้   


ทางออก เป็นหนทางที่ครัวเรือนคิดและตัดสินใจว่าจะแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมต่อตนเอง

 

๓ เป้าหมาย

 

เป็นตัวชี้วัดเป้าหมายการแก้ความยากจนของจังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย ๓ ดี ได้แก่ 


ความเป็นอยู่ดี เน้นการจัดทำบัญชีครัวเรือน เรียนรู้ที่จะลดรายจ่าย ลดต้นทุนการผลิต ลดละเลิกอบายมุข มีสุขภาพดีและมีการออม
รายได้ดี  เสริมด้านการฝึกอบรมอาชีพ การรวมกลุ่ม การออม ทุนชุมชนหมุนเวียนเสริมอาชีพ


สวัสดิการดี  เข้าร่วมสวัสดิการชุมชน  จิตอาสา การช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ด้อยโอกาส

 

๒ กลยุทธ์

 

เป็นกลยุทธ์สานพลัง ๒ ส่วน คือ พลังจากภายในชุมชน อันได้แก่ ผู้นำชุมชน องค์กรชุมชน  กับพลังจากภายนอก คือคู่เสี่ยว ข้าราชการ เอกชน และประชาสังคม

 

๑ โครงการ

 

หมายถึง โครงการคู่เสี่ยวเกี่ยวก้อย แก้จนคนขอนแก่น อันเป็นนวัตกรรมและความริเริ่มของผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้ 

 

อำเภอมัญจาคีรี รับนโยบายจากผู้ว่าราชการจังหวัดมาดำเนินงานบริหารครัวเรือนยากจนแบบบูรณาการอย่างแข็งขันมาตั้งแต่ต้น ปัจจุบันมีครัวเรือนยากจนเป้าหมายรวม ๑๐๙ ครอบครัว มีข้าราชการคู่เสี่ยวจำนวน ๕๙ คน  ที่นี่เขายังคงใช้กลวิธี "จับคู่"  ๑:๑ แบบดั้งเดิม ซึ่งพบว่าได้ผลดีมากกว่าการออกคำสั่ง "แต่งตั้งทีมปฏิบัติการ" มาเป็นพี่เลี้ยงอย่างที่กระทรวงมหาดไทยสั่งการ   

 

"เสี่ยว" มีความหมายในเชิงวัฒนธรรมที่ลึกมากกว่าความเป็นเพื่อน  "คู่เสี่ยว" ส่วนใหญ่มิใช่คนในพื้นที่ เขาจึงเน้นการมีคู่เสี่ยวในชุมชนเข้ามาประกบเพื่อความยั่งยืน

 

กรณีนายประสิทธิ์ อายุ ๗๐ ปี อาศัยปลูกเพิงพักอยู่ท้ายที่ดินชาวบ้าน หารับจ้างและปลูกผักขาย เมื่อถูกกำหนดเป็นเป้าหมายของจังหวัด มีข้าราชการสตรี ๒ คนเป็นคู่เสี่ยวมาช่วยดูแลทุกข์สุข หน่วยงานช่วยหางบประมาณมาสร้างบ้าน แรงงานและวัสดุบริจาคเพิ่มจากชุมชนและท้องถิ่น ทั้งหมู่บ้านมีกรณีแบบนี้อยู่เพียง ๒-๓ คนเท่านั้น การแก้ไขแบบพุ่งเป้าจึงอยู่ในวิสัยที่จะสำเร็จได้ไม่ยาก

 

แต่อย่างไรก็ตาม มีคำถามทิ้งท้ายว่า เรื่องดีๆแบบนี้จะยังคงเดินหน้าต่อไปได้เพียงใด เมื่อหมดยุคของผู้ว่าราชการจังหวัดท่านนี้ และสิ้นวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน


 

logoline