svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไทยจะมีกฎหมายป้องกันรัฐประหารได้จริงหรือ?

24 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2567 สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เสนอให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม โดยมีจุดประสงค์ก็เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารในอนาคต

เป็นความคิดโลดโผนไม่น้อยสำหรับการเสนอแนวทางการป้องกันการรัฐประหารที่ออกมาจาก 'สุทิน คลังแสง' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือ 'บิ๊กทิน' ผ่านกระบวนการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม

สุทิน คลังแสง

สาระสำคัญของแนวคิดนี้แบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย 1. การกำหนดคุณสมบัติของนายทหารที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพล เช่น ต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพลหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรือ ต้องไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม และ 2. การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้พักราชการทันที เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ข้าราชการทหารผู้ใด ที่ใช้กำลัง ทหาร เพื่อยึดหรือควบคุม อำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาลหรือเพื่อก่อการกบฏ
 

มองกฎหมายค้ำอำนาจ ‘กลาโหม’

ข้อเสนอทำนองนี้ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายกับโครงสร้างของกองทัพพอสมควร เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม  พ.ศ.2551 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันที่บิ๊กทินเสนอแนวคิดอยากจะแก้ไขนั้น เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยรัฐบาลที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (ปัจจุบัน พล.อ.สุรยุทธ์ ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี) โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ ป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งผู้นำเหล่าทัพ จึงเป็นที่มาของการกำหนดให้มีคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล จำนวน 7 คน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน

แม้คณะกรรมการชุดนี้จะมีรัฐมนตรีที่มาจากฝ่ายการเมืองเป็นประธาน แต่องค์ประกอบคณะกรรมการส่วนอื่นๆ ล้วนแต่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหม เรียกได้ว่าถ้ายกมือโหวตกันจริงๆ ฝ่ายราชการประจำย่อมชนะฝ่ายการเมืองแน่นอน เนื่องจากมีมือที่มากกว่า

สุรยุทธ์ จุลานนท์

เมื่อกฎหมายฉบับนี้อยู่คู่กับกองทัพมาเป็นมาเวลามากกว่า 10 ปี ดังนั้น หากพรรคเพื่อไทยจะแก้ไข เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับฝ่ายการเมืองโดยอ้อมผ่านการให้นายกฯ มีอำนาจพักราชการนายทหารที่อาจคิดไม่ซื่อกับรัฐบาล ย่อมไม่ต่างอะไรกับการแหวกม่านประเพณีครั้งใหญ่ของกองทัพ
 

‘เพื่อไทย’ ขี้ระแวงทหารต้นเหตุอยากล้วงกองทัพ?

ย้อนดูประวัติศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พบว่ามีความอ่อนไหวต่อประเด็นการโดนรัฐประหารพอสมควร  โดยสมัยที่ 'ทักษิณ ชินวัตร' เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก เวลานั้นมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก หรือ บิ๊กแอ้ด และมี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรียกได้ว่าขณะนั้นกองทัพกับรัฐบาลก็ดูจะไปด้วยกันได้ดี แต่ก็มาเกิดเหตุที่ต้องให้ 'น้องแม้ว' เตรียมทหารรุ่นที่ 10 หวาดระแวง 'พี่แอ้ด' เตรียมทหารรุ่นที่ 1

ทักษิณ ชินวัตร

เหตุเกิดมาจากการที่ พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เคลื่อนย้ายกำลังพลจากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ซึ่งหน่วยทหารสำคัญในกรุงเทพ ที่เรียกได้ว่าถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้นมาหน่วยนี้จะมีบทบาททันที ไปทำหน้าที่ดูแลชายแดนไทย-เมียนมา แทนกองพลทหารราบที่ 9 ที่ต้องกลับจังหวัดกาญจนบุรี โดยแผนการฝึกและการเคลื่อนย้ายกำลังพลนี้ได้ขออนุมัติจาก พล.อ.ชวลิต แล้ว

ถ้ามองกันตามความเป็นจริงก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะอยู่ในสายตาของคนในรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ลดความระแวงลงไปได้ เนื่องจาก พล.อ.สุรยุทธ์ ได้เคลื่อนย้ายกำลังพลในช่วงเวลากลางคืน ทั้งๆ ที่เป็นความปรารถนาดีที่ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน เวลานั้น 'ทักษิณ' ได้โทรศัพท์เข้าไปที่บ้านพักเกษะโกมล บ้านพักประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ในหนังสือ 'เส้นทางเหล็ก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐคนที่24' เขียนโดย 'วาสนา นาน่วม' ได้ระบุถึงคำพูดของทักษิณที่พุ่งตรงไปยัง พล.อ.สุรุยทธ์ ว่า "มีการเคลื่อนย้ายกำลังทำไม พี่จะปฏิวัติผมหรือ..." จากนั้นหนังสือเล่มนี้ได้บรรยายถึงความรู้สึกของ พล.อ.สุรยุทธ์ ที่มีต่อเหตุการณ์ในคืนนั้นว่า "ท่านโทรศัพท์มาหาผม เพราะสงสัยเรื่องการเคลื่อนย้ายกำลัง เพราะมีข่าวลือเรื่องปฏิวัติ ผมก็ชี้แจงและยืนยันว่าไม่มี เพราะผมย้ำเสมอว่า ตราบใดที่ผมเป็น ผบ.ทบ. จะไม่มีการปฏิวัติเกิดขึ้น"  จากความระแวงในคืนนั้นเองทำให้ พล.อ.สุรยุทธ์ ถูกย้ายจาก ผบ.ทบ. ไปเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดก่อนจะเกษียณอายุราชการในเวลาต่อมา

ชวลิต ยงใจยุทธ

ไม่เพียงเท่านี้ ความพ่ายแพ้ที่ไม่ทันต่อการเคลื่อนไหวดุสายฟ้าฟาดของกองทัพในเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้เวลานั้นทักษิณ จะประกาศปลด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. แบบข้ามทวีป แต่ก็ไม่อาจหยุดการรัฐประหารได้ หรือ จะเป็นเหตุการณ์เมื่อปี 2557 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เวลานั้น ประกาศใช้กฎอัยการศึก ริบอำนาจบางส่วนมาจากฝ่ายบริหาร ที่ถูกขนานนามว่าเป็นการซ้อมรัฐประหาร ก่อนจะลงมือจริงในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 

ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ และประสบการณ์ที่ไม่ค่อยดีที่ผ่านมา อาจเป็นวัตถุประสงค์หลักที่พรรคเพื่อไทยเองมองเห็นว่าควรสร้างเครื่องมือบางอย่าง เพื่อต่อกรกับฝ่ายทหาร และป้องกันไม่ให้ตัวเองเพลี่ยงพล้ำอีก

 

เครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้ทหารปฏิวัติ

อย่างไรก็ดี เครื่องมือที่พรรคเพื่อไทยพยายามจะสร้างขึ้นมานั้นจะหยุดการรัฐประหารได้จริงหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าให้คิดแบบเร็วๆ คำตอบที่ได้ คือ ‘ไม่มีทางเป็นไปได้’ เพราะทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหาร จะเกิดการฉีกรัฐธรรมนูญทันที เท่ากับว่าเซ็ตซีโร่ใหม่กันหมด แต่ถ้าคิดให้ช้าลงกว่านี้อีกหน่อยแล้วลองหาเหตุผลว่าทำไมการรัฐประหารถึงเกิดความชอบธรรมในทางกฎหมายได้ จะพบคำตอบที่น่าสนใจ

กล่าวคือ ในอดีตเคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกา 45/2496 ที่เป็นหนึ่งในบรรทัดฐานที่ประทับความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร ซึ่งระบุเอาไว้ว่า "ใน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารประเทศชาติในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไข ยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไป มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์…” จึงกลายเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้การรัฐประหารเกิดความชอบธรรมโดยปริยาย นับจากนั้นเป็นต้นมาจึงไร้กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลการรัฐประหาร

นับจากอดีตถึงปัจจุบันสภาพสังคมการเมืองไทยเปลี่ยนไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง เป็นที่มาที่ทำให้เกิดการท้าทายต่อความคิดความอ่านแบบเดิม โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่า “จะสามารถหยุดวงจรการรัฐประหารได้อย่างไร?” ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเห็นปรากฏร่องรอยแห่งความท้าทายนี้ให้เห็นแล้ว 

เช่น การเกิดขึ้นของตุลาการเสียงข้างน้อยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ปฏิเสธและไม่ยอมรับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 9/2552 เพราะเห็นว่าหากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตย เช่นเดียวกับ การเคลื่อนไหวของภาควิชาการและภาคประชาสังคมที่เสนอว่าศาลในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ ควรต้องเปลี่ยนบรรทัดฐานในเรื่องดังกล่าวเสียใหม่ เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร 

ไทยจะมีกฎหมายป้องกันรัฐประหารได้จริงหรือ?

ที่สุดแล้วการหยุดวงจรรัฐประหารจะเป็นได้หรือไม่นั้น ลำพังแค่มีกฎหมายตามที่ ‘บิ๊กทิน’ เสนอ คงไม่อาจเพียงพอและไม่ตอบโจทย์เรื่องดังกล่าวเท่าใดนัก เพราะมองลึกลงไปแนวคิดเรื่องการเสนอกฎหมายที่ออกมาก็มีวาระซ่อนเร้นให้เห็นเช่นกัน ซึ่งอาจกลายเป็นตัวกระตุ้นให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘กองทัพ-รัฐบาล’ สั่นคลอนด้วยซ้ำ หรือในทางกลับกันต่อให้มีกฎหมายขึ้นมาจริงๆ ก็คงไปห้ามไม่ให้เกิดการรัฐประหารได้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นจากปี 2549 และ ปี 2557 

ดังนั้น คำตอบของคำถามนี้ คงเหลือเพียงคำตอบเดียว คือ ‘ต้องใช้เวลาและพลังทางสังคม’ อาจดูเหมือนว่าเป็นนามธรรม แต่เมื่อคิดว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นแล้ว ก็คงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
 

logoline