svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

วาทกรรม “ชายชุดดำ” และเรื่องที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2553

10 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ครบรอบ 14 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อ 10 เมษายน 2553 ตลอดเวลาที่ผ่านมามีเรื่องหนึ่งที่ยังคลุมเคลือ นั่นคือการปรากฏตัวของ ‘ชายชุดดำ’

เดือนเมษายนหลายคนอาจดื่มด่ำช่วงเวลาแห่งความสุขเนื่องในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเดือนแห่งเทศกาลสาดน้ำอย่างแท้จริง เพราะหลายพื้นที่จะมีประเพณีและเวลาของการเล่นน้ำแตกต่างกันออกไป แต่เดือนเมษายนสำหรับคนไทยอีกจำนวนหนึ่ง อาจเป็นห้วงเวลาของความสูญเสียที่ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบได้แม้ว่าจะล่วงเลยมานานมากกว่า 10 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งในที่นี้หมายถึงเหตุการณ์ความพยายามสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่มีอายุทางประวัติศาสตร์มาถึง 14 ปีแล้ว

หลายคนอาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในช่วงเดือนพฤษภาคมของปี 2553 ที่ในครั้งนั้นรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมก่อนที่จะเกิดความวุ่นวายใจกลางเมืองตามมา ถึงขนาดต้องประกาศเคอร์ฟิวกันช่วงระยะหนึ่ง แต่สถานการณ์ในเดือนพฤษภาคมอาจมองได้ว่าเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะแท้ที่จริงจุดเริ่มต้นที่ทำให้สถานการณ์มาถึงจุดจบในเดือนพฤษภาคม คือ เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553
 

หากบางฝ่ายบอกว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เข้าปฏิบัติการกับกลุ่มผู้ชุมนุมในเวลากลางคืนและนำมาซึ่งความสูญเสีย การมองเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นนั้นอาจถูกเพียงครึ่งเดียว เนื่องจากสถานการณ์ในคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 มีอีกตัวแปรที่สำคัญ คือ การปรากฏตัวของ ‘ชายชุดดำ’ ที่ใช้อาวุธสงครามกลางเหตุการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะถูกอำพรางด้วยความมืดดำของท้องฟ้าและเสื้อผ้าของผู้ใช้กำลัง

เสียงปืนและอาวุธสงครามที่สาดใส่ช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 ทำให้เกิดความสูญเสียกันทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ชุมนุม จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศในเวลาต่อมามีการแฝงตัวของผู้ก่อการร้ายในการชุมนุม ซึ่งหมายถึงชายชุดดำ
 

นับจากนั้นเป็นต้นมา ‘ชายชุดดำ’ จึงได้กลายเป็นวาทกกรรมหลักของสังคมไทยถึงขั้นต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อไล่ล่าหาความจริงว่าชายกลุ่มนี้เป็นใครกันแน่ หนึ่งในชุดข้อมูลที่ผ่านการค้นคว้าและถูกกลั่นกรองตามหลักวิชาการที่สมบูรณ์ที่สุด คือ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีอาจารย์คณิต ณ นคร เป็นประธาน แม้ว่า คอป. จะถูกตั้งโดยรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ที่อาจมองได้ว่าเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง แต่ คอป. ก็ยังคงได้รับการยอมรับ ถึงขนาดที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งชนะการเลือกตั้งต่อจากนั้น ยังคงใช้ข้อมูลของ คอป. เป็นฐานในการกำหนดมาตรการเยียวยา

รายงานฉบับสมบูรณ์ของ คอป. ตอนหนึ่งได้มีการอธิบายว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ในเดือนเมษายน 2553 นั้น เคยมีการปราศรัยบนเวทีในเดือนมการาคม 2553 เกี่ยวกับ ‘กองกำลังไม่ทราบฝ่าย’ ที่พร้อมจะมาช่วยผู้ชุมนุม ซึ่งเป็นหนึ่งในแก้วสามประการของการต่อสู้ คือ พรรคการเมือง มวลชน และกองกำลัง โดยแกนนำการชุมนุมคนอื่นๆ ก็มิได้ดำเนินการใดๆ ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิเสธหรือการไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมการปราศรัยดังกล่าวแต่อย่างใด 

ขณะที่ เหตุการณ์ในวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ถือว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการปรากฏตัวของชายชุดดำ รายงาน คอป. ได้อธิบายลงลึกว่า ก่อนที่เจ้าหน้าทหารจะถูกโจมตีด้วยระเบิด พบการปรากฏตัวและการใช้อาวุธของคนชุดดำ เมื่อเวลา 17:30 น. มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศพบคนชุดดำจำนวน 5 คน ถืออาวุธปืนกลชนิดเอเค 47 เอ็ม 16 และเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 และปืนพก โดยมีผู้พบเห็นรถตู้สีขาวคนชุดดำสองสามคนพร้อมอาวุธสงครามมาส่งที่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีการ์ด นปช. คอยห้อมล้อม

ช่วงที่มีการปะทะ (เวลาประมาณ 20:00-21:00 น.) เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาลพบคนชุดดำจำนวนสี่คน ถืออาวุธปืนเอเค 47 และปืนเล็กยาวเดินออกมาจากถนนตะนาวฝั่งอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกคอกวัว และได้ยึดอาวุธปืนเอ็ม 79 จากคนชุดดำ และปรากฏภาพคนชุดดำสองสามคนบริเวณสี่แยกคอกวัว ใช้อาวุธปืนสงครามยิงไปในทิศทางที่ทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่ จากเหตุการณ์และการปฏิบัติการของคนชุดดำข้างต้นจึงเชื่อว่ามีคนชุดดำปะปนอยู่กับกลุ่มผู้ชุมนุมและปฏิบัติการร่วมกับการ์ดผู้ชุมนุมบางส่วนและโดยการรู้เห็นหรือสนับสนุน ของแกนนำ นปช. บางคนโดยเฉพาะในเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน

รายงานของ คอป. ที่ปรากฏออกมาต่อสาธารณในขณะนั้น แน่นอนว่าได้รับการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงจากแกนนำคนเสื้อแดง เพราะต่างยังยืนยันในจุดยืนของตัวเองเสมอมาว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ผู้ซึ่งเข้ามาเป็นประธาน นปช. ภายหลังเหตุการณ์การชุมนุมในปี 2553 ได้ยุติลง ให้ความเห็นต่อรายงาน คอป. เมื่อเดือนกันยายน ปี2554 ว่า  “รายงานที่ คอป.เสนอทั้งหมดทุกด้านเห็นว่าสอบตกหมดเนื่องจากรายงานที่สนับสนุนความชอบธรรมในการเข่นฆ่าประชาชน มีเรื่องดีที่เรายังเห็นด้วยแต่เรื่องผิดใหญ่กว่า รายงานฉบับนี้เต็มไปด้วยความอคติและสร้างความเกลียดชังคนเสื้อแดง”  เช่นเดียวกับ แกนนำ นปช. ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสายพิราบอย่าง ‘นพ.เหวง โตจิราการ’ ก็ยังยืนยันว่าการชุมนุมของ นปช. ไม่มีชายชุดดำ และเป็นการอ้างโดยฝ่ายรัฐเพียงฝ่ายเดียว

แต่กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไปวาทกรรมต่อเรื่องชายชุดดำก็เริ่มเบาบางลงไปตามลำดับ ซึ่งไม่ทราบเหมือนกันว่าส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแกนนำ นปช. หลายคนเข้าไปมีตำแหน่งในทางการเมืองในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีชัยในสนามการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงท่าทีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พร้อมจะดำเนินการเยียวยาให้กับมวลชนคนเสื้อแดงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เรื่องชายชุดดำได้กลับมาเป็นอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง ภายหลังเกิดการรัฐประหารล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อปี 2557 เนื่องจากปรากฏว่าฝ่ายความมั่นคงได้ทยอยจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนห้าคนที่ถูกอ้างว่าเป็นชายชุดดำในเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และมีการสอบสวนดำเนินคดีพร้อมกับส่งฟ้องศาล 

คดีดังกล่าวในปี 2560 ศาลอาญาได้ยกฟ้องจำเลย 3 คนจากทั้งหมด 5 คน ซึ่งผลคดีที่ออกมาในขณะนั้นแม้ว่าจะเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้เพียงสองคน แต่ดูเหมือนว่านายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเวลานั้นจะพอใจกับคำพิพากษาที่ออกมา เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่าชายชุดดำมีตัวตนจริง อย่างไรก็ตาม จำเลยอีกสองคนที่ถูกตัดสินให้มีความผิดในรอบแรกนั้นต่อมาในปี 2565 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องเช่นกัน เนื่องจากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่มีความน่าเชื่อถือ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรื่องราวของชายชุดดำก็ได้สิ้นสุดลง พร้อมกับฝากรอยแผลไว้กับสังคมไทยและความขัดแย้งทางการเมืองที่จนถึงทุกวันนี้ ยังไม่รู้เลยว่าจะหาเรียกหาความสมานฉันท์ได้อย่างไร
 

logoline