svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

หากยุบก้าวไกล การยุบพรรคการเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม

21 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การยื่นยุบพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกำลังเป็นที่จับตามองขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าก้าวไกลไม่ใช่พรรคแรกที่โดนยุบในประวัติศาสตร์การยุบพรรคการเมืองไทย แต่หากก้าวไกลโดนยุบจริง นี่อาจเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์การยุบพรรคครั้งสำคัญ

การนำคดียุบพรรคก้าวไกลขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ไม่ได้เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายเท่าใดนัก แม้ว่าล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญจะยังไม่มีคำสั่งรับคำร้อง เนื่องจากมีคำสั่งให้ กกต. ส่งเอกสารที่มีความชัดเจนกลับมายังศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม

พรรคก้าวไกล

เดิมทีการยุบพรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ไกลตัวสำหรับสังคมการเมืองไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีแรกนับตั้งแต่การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ที่สถาปนา กกต. และศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา ต่อให้เกิดการทุจริตเลือกตั้งรุนแรงแค่ไหน สุดท้ายจะลงเอยด้วยการแจกใบแดงและเลือกตั้งใหม่เท่านั้น จะมียุบพรรคการเมืองบ้างก็เฉพาะกรณีที่พรรคการเมืองบางพรรคไม่ได้ดำเนินกิจการตามที่นายทะเบียนพรรคการเมืองกำหนด จนถูกสั่งให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพในเวลาต่อมา

แต่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในยุคปลายของรัฐบาล 'ทักษิณ ชินวัตร' ปี 2548 ก่อนเกิดการรัฐประหาร 2549 สังคมไทยก็ได้รู้จักถึงการยุบพรรคการเมืองมากขึ้น เนื่องจาก กกต. ที่กำลังเผชิญวิกฤติเวลานั้น ได้ส่งสำนวนคดีเพื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ในความผิดที่พรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคการเมืองเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถูกกล่าวหาว่าขัดขวางการเลือกตั้ง
 

ออกกฎหมายเอาผิดย้อนหลังก่อนยุบ ‘ไทยรักไทย’

การรัฐประหารปี 2549 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพิจารณาในคดีนี้ เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ยุบ กกต. และศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะมีการตั้ง 'คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ' จำนวน 9 คน มาทำหน้าที่แทนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับยังให้พระราชบัญญัติพรรคการเมือง  มีผลบังคับใช้ เพื่อดำเนินคดียุบพรรคการเมืองต่อไป

สัญญาณที่ออกมาจาก คปค. ต่อคดียุบพรรคการเมืองนั้นยังแสดงออกมาให้เห็นผ่านการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2549  โดยข้อ 3 ของประกาศฉบับดังกล่าว กำหนดให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีกำหนด 5 ปี นับแต่วันให้ยุบพรรคการเมือง ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นในทางวิชาการและกฎหมายพอสมควร เนื่องจากเป็นการออกกฎหมายเอาผิดย้อนหลัง ทั้งๆ ที่การกระทำความผิดของทั้งสองพรรคการเมืองเกิดขึ้นและเสร็จสมบูรณ์ไปตั้งแต่ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2549 ซึ่งที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่าประกาศดังกล่าวใช้บังคับได้ ก่อนที่จะวินิจฉัยยุบเฉพาะพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมือง จำนวน 111 คน เป็นเวลา 5 ปี
 

นับจากนั้นเป็นต้นมา 'คดียุบพรรคการเมือง' ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยในทุกช่วงเวลา ดังเช่นกรณีของการยุบพรรคการเมือง 3 พรรคพร้อมกันในวันเดียวเมื่อปี 2551 ประกอบด้วย พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย

ศาลรัฐธรรมนูญ

 

‘เช้าแถลงปิดคดี-บ่ายยุบ3พรรค’

ปี 2551 เป็นอีกช่วงเวลาที่การเมืองไทยเผชิญวิกฤติครั้งใหญ่ เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ต่อเนื่องมาถึงนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มากกว่าครึ่งปี ปิดทำเนียบรัฐบาล ปิดท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แรงกดดันทวีคูณเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกขณะนั้น ออกโทรทัศน์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน

เสียงเรียกร้องของ 'บิ๊กป๊อก' ไม่เป็นผล จนกระทั่งคดียุบพรรคได้ขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญในช่วงปลายปีท่ามกลางการชุมนุมกดดันรัฐบาลที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เดิมทีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะใช้เวลาพิจารณาพอสมควร เพราะมีถึง 3 พรรคการเมือง แต่เรื่องเซอร์ไพรส์ก็เกิดขึ้น โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงปิดคดี ในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ซึ่งมีพรรคพลังประชาชนเพียงพรรคการเดียวที่ไม่ได้เดินทางมาตามนัดหมาย ภายหลังนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และ อนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย แถลงปิดคดี ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญสั่งนัดฟังคำวินิจฉัยในช่วงบ่ายของวันเดียวกันทันที 

ศาลรัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยในคดีนั้นก็เป็นไปตามรับรู้กันที่เมื่อกรรมการบริหารพรรคทำผิดโดนใบแดงมาแล้ว ย่อมเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยยุบพรรค แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ กรณีของพรรคพลังประชาชน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ความเห็นในทำนองประหนึ่งว่าเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิพากษาให้ใบแดงนายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามนั้น ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค 

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนอกจากทำให้ 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ แล้ว กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยังได้ประกาศยุติการชุมนุม และเกิดเปลี่ยนขั้วทางการเมืองที่ส่งให้ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 

การยุบพรรคที่เกิดขึ้นทำให้บรรดาพรรคการเมืองเกิดการปรับตัวครั้งสำคัญด้วยการวางจำนวนกรรมการบริหารพรรคเท่าที่จำเป็น และคนที่เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นบิ๊กเนมในทางการเมือง ส่วนแกนนำตัวจริงจะทำหน้าที่ในพรรคการเมืองผ่านตำแหน่งประธานที่ปรึกษาพรรคแทน หรือไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองเลย เช่น กรณีของ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ แม้จะเป็นนายกฯ และ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย แต่ก็ไม่ได้มีตำแหน่งในพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าในห้วงเวลาของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จะปราศจากคดียุบพรรคการเมือง

 

แก้รัฐธรรมนูญผิดจริงแต่ไม่ใช่การล้มล้าง

ในปี 2555-2556 พรรคเพื่อไทยร่วมกับ ส.ว. อีกจำนวนหนึ่ง พยายามผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการการได้มาซึ่ง ส.ว. แต่เวลานั้นได้มีการอาศัยมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนั้นเป็นการใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ยุบพรรคการเมืองพร้อมกับเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ส่วนหนึ่งในคำวินิจฉัยคดีแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่ากการกระทำดังกล่าวยังไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ในกรณีของการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ศาลรัฐธรรมนูญมีความเห็นว่าเป็นการให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง

 

คดีไทยรักษาชาติกับนิยามคำว่า ‘ล้มล้าง’

หลักการของมาตรา 68 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในวันนั้นยังคงได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แต่เนื้อหาแตกต่างกัน คือ มาตรา 49 ไม่ได้บัญญัติเรื่องการยุบพรรคเอาไว้ มีแค่เพียงการมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดการกระทำที่อาจเป็นการล้มล้างการปกครองไว้ตามเดิม เช่นเดียวกับการยุบพรรคการเมืองโดยข้อหาล้มล้างการปครองก็ยังบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560  ซึ่ง ‘พรรคไทยรักษาชาติ’ ก็ได้เป็นพรรคการเมืองแรกที่ได้ลิ้มลองรสชาติของบทบัญญัติใหม่ของกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง

พรรคไทยรักษาชาติ

คดีของพรรคไทยรักษาชาติ ถือเป็นครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นิยามความหมายของคำว่า ‘ล้มล้าง’ และ ‘ปฏิปักษ์’ อย่างเป็นทางการ โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า “ล้มล้าง หมายถึงการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป ส่วนคำว่า ปฏิปักษ์ นั้นไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว”  จากตรงนี้เองจึงเป็นที่มาของยุบพรรคไทยรักษาชาติเมื่อปี 2562

 

คดีแก้ 112 สารตั้งต้นยุบพรรคก้าวไกล?

ถ้าพรรคไทยรักษาชาติไทยเป็นพรรคการเมืองแรกที่ถูกยุบพรรคตามกฎหมายใหม่แล้ว ‘พรรคอนาคตใหม่’ ก็คงเป็นพรรคการเมืองที่สองที่ได้ร่วมประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน

‘พรรคอนาคตใหม่’ ก่อนถูกยุบพรรคจากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้กู้เงิน 191 ล้านบาท ได้เคยเผชิญหน้ากับศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วครั้งหนึ่งในคดีที่ ‘ณฐพร โตประยูร’ ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค เนื่องจากเห็นว่าสัญลักษณ์ของพรรคคล้ายกับสมาคมอิลลูมินาติ ที่มีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการล้มล้างระบอบกษัตริย์ในทวีปยุโรป และมีการกระทำอันเป็นอันตรายต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พรรคอนาคตใหม่

ทว่าศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าการพิจารณาว่าบุคคลใดจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งหมายและประสงค์นั้นระดับที่วิญญูชนควรจักอาจคาดเห็นได้ว่าน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการกระทำนั้นจะต้องกำลังดำเนินอยู่และไม่ห่างไกลเกินกว่าเหตุ ซึ่งกรณีนี้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามที่กล่าวหา

จากบรรทัดฐานในคดีนี้ ทำให้เมื่อพรรคก้าวไกลต้องต่อสู้ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ จากกรณีการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมีความมั่นใจว่าศาลน่าจะยกคำร้องเช่นกัน โดยอาศัยผลคำวินิจฉัยจากคดีอิลลูมินาติมาเพิ่มความมั่นใจ แต่ความมั่นใจที่เคยมีนั้นก็ถูกแทนที่ด้วยคำวินิจฉัยที่ 7 / 2567 ที่บัญญัติให้พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่ใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และนำซึ่งการเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ กกต. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลในเวลาต่อมา

พรรคก้าวไกล

ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีตั้งแต่ปีคดียุบพรรคไทยรักไทย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานไว้อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการที่องค์กรใดตัดสินคดีใดที่มีข้อเท็จจริงคล้ายกันแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องยึดถือตามนั้นดังจะเห็นได้จากกรณีของการยุบพรรคพลังประชาชน หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แม้จะเป็นความผิดแต่ก็ไม่ได้มีความผิดถึงขนาดเป็นการล้มล้างการปกครอง เช่นเดียวกับการวางหลักการเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นการล้มล้างและการเป็นปฏิปักษ์ตามที่ปรากฏในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ มาจนถึงคดีการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้ถูกขึ้นชื่อว่ากระทำการล้มล้างการปกครอง

เมื่อดูจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าพรรคก้าวไกลมองอนาคตของตัวเองไว้อย่างไร
 

logoline