svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

สอบได้โรงเรียนดี อนาคตเด็กจะดีตามจริงหรือ?

19 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ถ้าเด็กได้เข้าเรียนในโรงเรียนระดับท็อป เด็กก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าเด็กโรงเรียนระดับปานกลางหรือต่ำกว่า" ฟังดูแล้วก็มีเหตุผล แต่เรื่องนี้มีอะไรมากกว่านั้น เพราะนักเรียนเก่งกับโรงเรียนดีอาจไม่ได้สัมพันธ์กันเสียทีเดียว

ภาพนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 เรือนหมื่นที่แห่แหนจากทั่วประเทศไทยมาสอบแข่งขันเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาปลายในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โดยมีอัตราสอบติดเพียงราว 1 ใน 8 คน ชวนให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าสถาบันการศึกษาชั้นแนวหน้าส่งผลอย่างไรต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและอนาคตเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย

ขอออกตัวสักหน่อยว่า ผมเองก็เคยเป็นคนหนึ่งที่ร่วมสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และอยู่ในกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ต้องผิดหวัง ผมจึงไม่อาจทราบได้ว่าบรรยากาศในรั้วเตรียมอุดมฯ นั้นเป็นอย่างไร แต่หลังจากเข้าเรียนมหาวิทยาลัยก็ได้พบปะกับเพื่อนๆ ‘เด็กเตรียมฯ’ ก็พอสัมผัสถึงความเก่งฉกาจที่โดดเด่นกว่าเด็กซึ่งจบจากสถาบันอื่นไม่น้อย

หากวัดจากอัตราการสอบติดคณะเด่นมหาวิทยาลัยดังของเด็กเตรียมฯ ที่สูงลิ่ว อาจทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนฟันธงไปว่าการส่งลูกเข้าโรงเตรียมอุดมศึกษาคือการการันตีว่าลูกหลานจะมีอนาคตที่สดใส โดยมีสมมติฐานในใจว่านอกจากเด็กๆ จะได้อยู่ท่ามกลางเพื่อนเก่งๆ แล้ว ยังมีครูอาจารย์ที่ใส่ใจ และหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นเลิศ

สอบได้โรงเรียนดี อนาคตเด็กจะดีตามจริงหรือ?

ความเข้าใจดังกล่าวไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง (selective school) มี ‘กลไก’ อย่างการสอบเข้าที่โหดหินเพื่อคัดสรรเด็กๆ ที่เรียนเก่งเป็นทุนเดิม โดยเด็กกลุ่มนี้มักได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ที่ใส่ใจด้านการศึกษา รวมถึงมีแรงผลักดันในตัวระดับที่พร้อมเรียนพิเศษและอ่านหนังสืออย่างหนักเพื่อสอบเข้าให้สำเร็จ จึงเป็นไปได้ว่าต่อให้นักเรียนกลุ่มนี้มี ‘คุณสมบัติพิเศษ’ ที่ต่อให้ไม่ได้เรียนโรงเรียนชั้นแนวหน้าก็อาจประสบความสำเร็จได้ไม่ต่างกัน

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเริ่มสงสัยว่าตกลงแล้วโรงเรียนชั้นนำมี ‘เคล็ดลับ’ ที่ช่วยทำให้เด็กเรียนเก่ง หรือแค่คัดกลุ่มเด็กหัวกะทิมาอยู่รวมกันจึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาโดดเด่น เราสามารถหาคำตอบของคำถามดังกล่าวได้ในงานวิจัยหลายฉบับ แต่น่าเสียดายที่งานวิจัยส่วนใหญ่ทำในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งอาจมีบริบทที่แตกต่างจากประเทศไทย แม้ผลลัพธ์จะน่าสนใจ แต่ต้องตีความอย่างระมัดระวัง
สอบได้โรงเรียนดี อนาคตเด็กจะดีตามจริงหรือ?

โรงเรียนชั้นนำช่วย ‘เด็กยากจน’ ได้แค่ไหน?

เนื่องจากความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์ทางการศึกษาระหว่างเด็กจากครัวเรือนร่ำรวยและครัวเรือนยากจนในสหรัฐฯ ถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโกและธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาชิคาโก มองว่าโรงเรียนรัฐชั้นแนวหน้าที่มีอัตราการแข่งขันสูงอาจเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่จะช่วยลดช่องว่างด้านความเหลื่อมล้ำนั้นลงได้ นำไปสู่งานวิจัยชิ้นสำคัญว่าโรงเรียนชั้นนำช่วยยกระดับผลลัพธ์ทางการศึกษาได้จริงหรือไม่

ระบบการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อของโรงเรียนรัฐในชิคาโกเป็นระบบรวมศูนย์ นักเรียนจะสามารถเลือกเข้าศึกษาต่อได้ในโรงเรียนชั้นแนวหน้าอย่างน้อย 6 แห่ง โดยที่นั่งจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์แรกจะวัดจากคะแนนสอบ ส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือจะเป็นโควตาที่จัดสรรโดยอิงกับสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียน นักวิจัยจึงเลือกติดตามกลุ่มนักเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำและได้รับจัดสรรให้เข้าโรงเรียนชั้นนำ

สอบได้โรงเรียนดี อนาคตเด็กจะดีตามจริงหรือ?

ผลลัพธ์ที่ได้อาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะกลุ่มนักเรียนจากครอบครัวยากจนที่ได้รับโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นแนวหน้ากลับไม่ได้มีผลคะแนนสอบที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือต่อให้เรียนโรงเรียนแห่งอื่นก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกัน ในทางกลับกัน เด็กนักเรียนเหล่านี้กลับมีเกรดเฉลี่ยที่ลดลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยและการขอรับทุนการศึกษา โดยผลลัพธ์เช่นนี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกหลายชิ้นในสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม การได้เข้าเรียนโรงเรียนชั้นนำก็สร้างผลลัพธ์เชิงบวกในแง่ประสบการณ์การเรียนระดับมัธยมปลาย กลุ่มเด็กจากครอบครัวยากจนระบุว่าพวกเขาเข้าได้ดีกับเพื่อนๆ โดยที่เพื่อนในโรงเรียนปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างให้เกียรติ ครูในโรงเรียนพร้อมรับฟังความคิดเห็น และพวกเขารู้สึกปลอดภัยในรั้วโรงเรียนโดยมีความกังวลในเรื่องอาชญากรรม ความรุนแรง และการกลั่นแกล้งในโรงเรียนน้อยกว่าโรงเรียนรัฐทั่วไป

 

เด็กเก่งอยู่แล้วหรือโรงเรียนช่วยให้เก่ง?

อีกโจทย์วิจัยที่มีการศึกษาอย่างแพร่หลายคือการทดสอบว่าโรงเรียนชั้นนำช่วยให้เด็กเรียนเก่งขึ้น หรือเด็กเหล่านั้นเก่งอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ในทางทฤษฎี หากจะเปรียบเทียบกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ เราจำเป็นต้องสร้างโลกขึ้นมาสองใบ ใบแรกคือโลกที่นักเรียนกลุ่มหนึ่งสอบติดแล้วเข้าเรียนโรงเรียนชั้นนำ อีกใบหนึ่งคือโลกที่นักเรียนกลุ่มเดียวกันสอบไม่ติดจึงเรียนต่อในโรงเรียนทั่วไป แล้วนักวิจัยจึงนำผลการศึกษา เช่น คะแนนสอบหรืออัตราการเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำมาเปรียบเทียบกัน

น่าเสียดายที่เราไม่มีอำนาจในการเสกโลกสร้างมิติขึ้นมาใหม่ เหล่านักวิจัยจึงต้องใช้เทคนิคทางสถิติเพื่อสร้างคู่เปรียบเทียบที่ใกล้เคียงกันระหว่างสองกลุ่มตัวอย่างโดยมีสองวิธีที่ได้รับความนิยม ดังนี้

วิธีแรกคือการจับคู่ด้วยคะแนนแนวโน้ม (propensity score matching) โดยนักวิจัยจะสร้างดัชนีชี้วัด เช่น คะแนนสอบวัดผล เกรดเฉลี่ย หรือสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม แล้วหาคู่นักเรียนที่มีคะแนนแนวโน้มใกล้เคียงกัน แต่คนหนึ่งสามารถสอบเข้าโรงเรียนชั้นนำได้ ส่วนอีกคนสอบไม่ผ่าน เพื่อนำมาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในอนาคต

วิธีที่สองคือการออกแบบสมการถดถอยแบบไม่ต่อเนื่อง (regression discontinuity design) โดยนักวิจัยจะพิจารณากลุ่มนักเรียนที่ ‘จุดตัด’ ของคะแนนสอบเข้า เช่น ถ้านักเรียนที่สอบติดโรงเรียนชั้นแนวหน้ามีคะแนนสอบเข้าต่ำสุด 81 คะแนน นักวิจัยก็จะเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาระหว่างนักเรียนที่สอบติดซึ่งสอบได้ 81 คะแนนและนักเรียนที่สอบไม่ติดซึ่งได้ 80 คะแนน โดยใช้สมมติฐานว่านักเรียนสองกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่สามารถเทียบเคียงกันได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งใช้ข้อมูลกลุ่มประชากรนักเรียนในประเทศออสเตรเลียโดยประยุกต์ใช้ทั้งวิธีจับคู่ด้วยคะแนนแนวโน้มและการออกแบบสมการถดถอยแบบไม่ต่อเนื่อง ผลลัพธ์ที่ได้คือนักเรียนสองกลุ่มนี้ที่สอบติดและสอบไม่ติดโรงเรียนชั้นแนวหน้ามีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษานี้สอดคล้องกับงานวิจัยอีกหลายชิ้นในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ โดยทีมวิจัยอธิบายข้อค้นพบดังกล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้นักเรียนมีคะแนนสอบเป็นเลิศอาจไม่ได้อยู่ที่สถาบันการศึกษา แต่อยู่ที่ระดับความมุ่งมั่นทะเยอทะยานส่วนบุคคลของนักเรียนเสียมากกว่า

สอบได้โรงเรียนดี อนาคตเด็กจะดีตามจริงหรือ?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นประเด็นที่สลับซับซ้อน ในทางทฤษฎีคำอธิบายทั้งทางบวก เช่น โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงจะช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาจากกลุ่มเด็กเรียนเก่งที่สร้างแรงผลักดัน หรือครูและทรัพยากรทางการศึกษาคุณภาพสูง ในทางกลับกัน บรรยากาศในรั้วโรงเรียนชั้นแนวหน้าอาจเคร่งเครียดและแข่งขันสูงเกินไปจนสร้างแรงกดดันต่อนักเรียน

แต่เมื่อพิจารณาหลักฐานในเชิงประจักษ์กลับพบว่าการสามารถสอบเข้าโรงเรียนชั้นแนวหน้าอาจไม่ใช่เงื่อนไขจำเป็นในการประสบความสำเร็จด้านการศึกษาซึ่งปูทางไปสู่อนาคตด้านการงานที่สดใส เพราะนักเรียนเหล่านี้ต่อให้อยู่ที่ไหนก็ย่อมประสบความสำเร็จไม่ต่างกัน โดยโรงเรียนอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนเสริม แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่กระทบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้ต่างใช้กลุ่มตัวอย่างจากประเทศพัฒนาแล้ว สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยซึ่งมีความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพทางการศึกษาสูงกว่า การได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงและมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าอาจส่งผลอย่างยิ่งต่อระดับรายได้และหน้าที่การงานในอนาคต ส่วนสมมติฐานนี้จะเป็นจริงหรือไม่นั้นก็ฝากเป็นโจทย์วิจัยสำหรับเหล่านักวิชาการในแวดวงการศึกษาของไทยต่อไปครับ

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline