svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

"เบลารุส"กับไฟที่ยังคุกรุ่น ชนวนเหตุแห่งการลี้ภัยของนักวิ่งสาวกลางโอลิมปิกเกมส์

10 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ถ้าผมไม่ตาย อย่าหวังจะมีการเลือกตั้งใหม่” นี่คือคำกล่าวของ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุสคนปัจจุบัน ภายหลังถูกกล่าวหาว่าโกงการเลือกตั้ง สาเหตุสำคัญในการสร้างความหวาดกลัวจนนำไปสู่การขอลี้ภัยของ “คริสซิน่า ซิมานุสกาย่า” นักกรีฑาสาว ในระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่เพิ่งจบไป

อะไรผลักดันเธอให้ต้องจากบ้านเกิดมุ่งสู่แดนอื่นเช่นนี้? คงต้องทำความเข้าใจ “เบลารุส” บ้านเกิดของเธอกันเสียก่อน

 

ต้นตอความขัดแย้ง เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป

 

หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ดินแดนภายใต้ปกครองทั้งหมดแตกออกเป็นเสี่ยง พัดพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่หลายประเทศ เบลารุสเองก็เช่นกัน จากที่อยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียตอันยาวนาน หลังแยกประเทศ ผู้ที่ขึ้นเป็นผู้นำเบลารุสนับแต่ 20 ก.ค. 1994 จวบจนปัจจุบันคือ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก รวมระยะเวลาในตำแหน่งยาวนานกว่า 27 ปี

อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ตัวลูคาเชนโกเองก็พยายามยื้อยุดในตำแหน่งมายาวนานนับแต่ขยายเวลาดำรงตำแหน่งในปี 2001 ยกเลิกข้อจำกัดดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไม่เกิน 2 สมัยในปี 2004 การดำรงตำแหน่งอันยาวนานหลายสิบปี และนโยบายหลายส่วนที่สานต่อจากโซเวียต เช่น กรรมสิทธิ์ของรัฐในเศรษฐกิจหรือการครอบงำธุรกิจของภาครัฐ ประกอบกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของเบลารุสหดตัวไปกว่า 2.8%

 

แต่ตัวจุดระเบิดความขัดแย้งอย่างแท้จริงคือการเลือกตั้งในวันที่ 9 ส.ค. 2020

 

การเลือกตั้งที่ถูกโกงปลุกระดมประชาชนให้ลุกฮือ

การเลือกตั้งที่ผ่านมาของ ลูคาเชนโก ถูกครหาเรื่องโกงการเลือกตั้งมาหลายครั้ง นับแต่การดำรงตำแหน่งสมัยที่ 5 ในปี 2015 ก่อนความไม่พอใจจะระเบิดขึ้นมาในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด วันที่ 9 ส.ค. 2020 เมื่อมีรายงานว่าการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในเบลารุสถูกตัดลงชั่วคราว ตามด้วยผลเลือกตั้งของ ลูเชนคาโก ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นกว่า 80% ซึ่งค้านกับสายตาและความรู้สึกของปวงชน นำมาสู่การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศ

 

ผู้นำฝ่ายค้าน นาง สเวตลานา ติคานอฟสกายา ออกมาปฏิเสธผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ด้วยผลคะแนนเต็มไปด้วยข้อกังขาและวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นธรรม จุดไฟของผู้ประท้วงให้ลุกโชนจนมีคนออกมาเดินขบวนนับแสนคน และนับเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่เบลารุสมีเอกราช แต่ลงท้าย ติคานอฟสกายา ก็ต้องออกนอกประเทศสู่ลิทัวเนียด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

สเวตลานา ติคานอฟสกายา

ประชาชนนนับแสนออกมาประท้วงผลการเลือกตั้งของเบลารุส มีความพยายามในการควบคุมการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแต่การใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และระเบิดแสง รวมถึงจับกุมผู้ประท้วงไปกว่า 6,700 คน นั่นทำให้ความโกรธแค้นลุกลามใหญ่โตจนต้องมีการทยอยปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม เช่นเดียวกับฐานความนิยมที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐเสมอมาอย่างสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ หรือคนงานเหมืองที่เคยเป็นฐานคะแนน ยังแสดงท่าทีออกมาคัดค้านเรียกร้องการเลือกตั้งใหม่ จน ลูคาเชนโก ต้องเริ่มผ่อนปรนลงบ้าง

 

แต่เบลารุสในวันนี้ นอกจากไม่สามารถเรียกได้ว่า "ผ่อนปรน" แล้ว แลดูทุกอย่างจะเลวร้ายลงไปกว่าเดิมอีก

 

ลุแก่อำนาจ-กำจัดผู้เห็นต่าง

 

ท่าทีของนานาชาติมีต่อเบลารุสค่อนข้างต่างกัน สหภาพยุโรปและชาติตะวันตกพากันคัดค้าน โดยไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งกับการดำเนินนโยบายปราบปรามผู้เห็นต่างซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ตรงข้ามกับรัสเซียที่จัดตั้งกองกำลังตำรวจสำรองพร้อมหนุนช่วยหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ให้เบลารุส 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

แรงสนับสนุนจากรัสเซียช่วยต่อลมหายใจ ทำให้ ลูคาเชนโก กลับมาเคลื่อนไหว ตั้งแต่การกล่าวโทษนานาประเทศเรื่องจัดตั้งม็อบเข้าป่วน ปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์สื่ออิสระและสื่อต่างประเทศไปนับร้อย จับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหญิงอย่าง มาเรีย โคเลสนิโควา กับอีกสารพัดการจับกุมที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม หลายคนอ้างว่าถูกบีบบังคับให้รับสารภาพในความผิดที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ จนล่าสุด สเตฟาน ลาตีปอฟ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดัง พยายามฆ่าตัวตายด้วยปากกากลางศาลเพื่อต่อต้านการถูกบังคับให้รับสารภาพ

สเตฟาน ลาตีปอฟ พยายามฆ่าตัวตายกลางศาล

หนึ่งในเหตุการณ์ปราบปรามผู้เห็นต่างโด่งดังที่สุดครั้งหนึ่งของเบลารุสคือ การส่งเครื่องบินรบเข้าจี้เครื่องบินโดยสารและบังคับให้ลงจอดในวันที่ 25 พ.ค. 2021 โดยอ้างว่ามีการขู่วางระเบิด แต่หลายฝ่ายรายงานว่าสาเหตุที่แท้จริงคือต้องการจับกุม โรมัน โปรตาเซวิช ผู้สื่อข่าวที่นำเสนอประเด็นโจมตีวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่โดยสารมากับเที่ยวบินนี้ด้วยเท่านั้น นั่นทำให้สหภาพยุโรปสั่งคว่ำบาตร ไม่ให้สายการบินของตนผ่านหรือใช้งานน่านฟ้าของเบลารุสอีกต่อไป

 

แต่ทางด้าน ลูคาเชนโก กลับปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น อ้างว่าการนำเครื่องบินรบจี้เครื่องบินโดยสารลำดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทางเบลารุสให้เที่ยวบินลงจอดเป็นไปตามข้อกำหนด อีกทั้งยังสั่งปิดกั้นพรมแดน ห้ามประชาชนและผู้พำนักอาศัยเดินทางออกนอกประเทศเป็นการชั่วคราวในวันที่ 1 มิ.ย. 2021 โดยอาศัยการควบคุมโควิด-19 เป็นข้ออ้าง แต่มีเสียงวิจารณ์ว่าสาเหตุที่แท้จริงคือเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เห็นต่างหรือใครก็ตามที่รัฐบาลคิดว่าเป็นภัย หลบหนีออกจากประเทศมากกว่า

 

การลี้ภัยและความตายของคนที่หลบหนี

 

นับแต่หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน สเวตลานา ติคานอฟสกายา ลี้ภัยออกนอกประเทศ ก็มีบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลทำแบบเดียวกัน เพื่อหนีการจับกุมปราบปรามผู้เห็นต่างดังที่กล่าวไป แต่ระยะหลังเริ่มมีการสกัดจับดังที่ได้เห็นจากกรณีการจี้สายการบินให้ลงจอดและสั่งปิดพรมแดน อย่างไรก็ตามประชาชนบางส่วนยังลักลอบหาทางออกนอกประเทศจนได้

 

หนึ่งในนั้นคือ "อาร์เซนี ซดาเนวิช" สามีของ ซิมานุสกายา นักกรีฑาสาว ที่หนีไปยูเครน ประกอบกับความขัดแย้งที่เกิดภายในหมู่บ้านนักกีฬา เมื่อเธอถูกบังคับให้ลงแข่งในการวิ่ง 4x400 เมตรซึ่งเธอปฏิเสธ แต่ก็ทำให้รู้สึกหวาดกลัวว่าจะเป็นอันตรายถึงชีวิตหากกลับประเทศไป เป็นผลให้เกิดการร้องขอความคุ้มครองในวันที่ 1 ส.ค. 2021 รวมถึงยื่นเรื่องของลี้ภัยจากสถานทูตโปแลนด์

 

วันรุ่งขึ้นหัวหน้ากลุ่มลี้ภัยชาวเบลารุสในยูเครน "วิตาลี ชีชอฟ" ก็ถูกลักพาตัวก่อนพบเป็นศพในวันถัดมา ซึ่งคาดว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยลี้ภัยกับครอบครัวของนักกรีฑาสาว โดยเพื่อนร่วมงานของเขาให้การว่า เครือข่ายเคจีบี (ตำรวจลับ) ของเบลารุส มีการเคลื่อนไหวสอดส่องพวกเขามาสักพักก่อนเกิดเหตุ

 

จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดข้อเรียกร้องขอลี้ภัยของ ซิมานุสกายา จึงถูกตอบสนองอย่างรวดเร็วและง่ายดายขนาดนี้

 

"ค่ายกักกันเบลารุส" สู่อีกระดับแห่งการควบคุม

 

สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น เผยแพร่วีดีโอของสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่จัดเก็บขีปนาวุธของสหภาพโซเวียตเดิม โดยเป็นสิ่งปลูกสร้างติดตั้งรั้วไฟฟ้าสามชั้น กล้องวงจรปิด ทหารยาม บานหน้าต่างติดตั้งเหล็กดัดและกระจกสะท้อนแสง คาดว่าอาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นค่ายกักกันหรือแหล่งคุมขังในกรณีเรือนจำเต็ม

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เบลารุสพยายามสร้างค่ายกักกัน ในการจับกุมผู้ชุมนุมเมื่อเดือนส.ค. 2020 บรรดาผู้ถูกจับกุมต่างถูกขังในค่ายกักกันดัดแปลงมาจากสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด หรือในเดือน ต.ค. ปีเดียวกัน ยังมีคลิปเสียงของ รมต.มหาดไทยที่เสนอให้สร้างค่ายกักกันด้วยเรือนจำเก่า แม้ทางรัฐบาลจะออกมาปฏิเสธก็ตาม

 

นี่อาจเป็นสาเหตุว่าทำไมนักกรีฑาสาว หรือพลเมืองหัวก้าวหน้าของเบลารุส ต้องพากันหลบหนีจากบ้านเกิดของตัวเอง

logoline