svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

หยุดพักแบบไม่ใช้เงินเปลือง แนะนำวิธีวางแผนเรื่องเงินก่อนเที่ยวยาว

คอลัมน์ 'Save ศาสตร์' ชวนมาวางแผนล่วงหน้าก่อนวันหยุดยาว เพราะถ้าไม่เตรียมงบเที่ยวไว้ก่อน ก็มีโอกาสที่จะต้องมานั่งเศร้าตอนหลังเพราะเงินหมด

สงกรานต์กำลังใกล้เข้ามาทุกที วันหยุดยาวแบบนี้ทีไร เราก็มักจะนึกความสนุกและประสบการณ์ที่จะได้จากการใช้เงินเพื่อความสุขของชีวิต แต่เรื่องที่อาจจะเผลอลืมคิดไปบ้าง คือ เรามีงบประมาณใช้เงินสำหรับวันหยุดที่จะมาถึงหรือเปล่า?

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เงินซื้อความสุขได้’ มีงานวิจัยหลายฉบับพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเงินและความสุข  โดยเฉพาะการใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์  เช่น การวางแผนไปเที่ยวกับครอบครัว การเดินทางไปพบหน้าคนที่เรารัก หรือแม้แต่การใช้เวลาทำกิจกรรมกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย เพราะความสุขจากการใช้เงินในรูปแบบที่ว่ามานี้ มักจะทำให้เรารู้สึกดีเมื่อนึกถึงอยู่เสมอ แถมยังไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เพราะมันเป็นความรู้สึกในใจของเราเพียงคนเดียว ไม่ใช่สิ่งที่เอาไว้วัดค่าจากมุมของคนอื่น

อย่างไรก็ดี ความทุกข์มักจะตามทันที หลังจากที่เราพบว่าเงินในบัญชีไม่มีเหลือพอใช้ถึงสิ้นเดือน และการใช้จ่ายเพื่อความสุข ความสัมพันธ์ หรือประสบการณ์ที่น่าจดจำก็ดูเหมือนจะช่วยอะไรไม่ได้ด้วย

ดังนั้น หนทางแก้ความย้อนแย้งเรื่องทั้งหมดนี้ เพื่อให้เราสามารถใช้จ่ายอย่างมีความสุข และไม่กลับไปทุกข์เมื่อนึกถึงมัน นั่นคือ การตั้งงบประมาณที่เหมาะสม—และขอเตือนก่อนว่า ‘เหมาะสม’ ของแต่ละคนนั้นคงไม่เหมือนกันแน่นอน
 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรารู้ว่า แต่ละปี เราอยากจะมีเงินที่ใช้เพื่อความสุขจำนวน 30,000 บาท หากมองในมุมพนักงานออฟฟิศ ก็อาจจะใช้วิธีการเบื้องต้นที่สุดเช่นแบ่งเก็บเงินสะสมเดือนละ 2,500 บาทตลอดทั้งปี เพื่อสำรองเงินก้อนนี้ไว้เพื่อใช้จ่ายสำหรับความสุข

แค่พูดน่ะเรื่องง่าย แต่ใครล่ะจะมีกำลังเก็บเงินได้เดือนละ 2,500 บาท เพื่อให้เข้าใจแบบชีวิตจริง สิ่งที่ผมอยากชวนนึกถึงมีอีก 2 ประเด็นสำคัญ เพื่อให้การตั้งงบประมาณสำหรับใช้ในวันหยุดยาวนั้นอย่างเหมาะสมกับเราจริงๆ  นั่นคือ ความสามารถในการบริหารจัดการเงิน และ การบริหารจัดการความสัมพันธ์ ที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไป

จากตัวอย่างที่กล่าวไป ถ้าเป้าหมาย 2,500 บาทต่อเดือนยากไป คำถามต่อมาคือ แล้วจริงๆ เราสามารถเก็บได้เท่าไรสำหรับการใช้จ่ายในหมวดเพื่อความสุขของตัวเอง และงบประมาณที่มีควรเป็นเท่าไร?
 

  • ความสามารถในการบริหารจัดการเงิน จะตอบได้ว่า จำนวนเงินที่เหมาะสมที่เรามี สอดคล้องกับรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และความสุขที่เราต้องการเป็นเท่าไร ถ้าหากจำนวนเงินมากไป (30,000 บาท) เราก็ต้องปรับลดความต้องการลงมาให้เหมาะสม 
  • ความสามารถในการบริหารความสัมพันธ์ ต้องยอมรับว่าเรื่องบางเรื่องต้องใช้เงินเยอะ เรื่องบางเรื่องใช้เงินน้อย หรือบางเรื่องไม่ต้องใช้เงินแต่ใช้การสื่อสารที่เหมาะสม ดังนั้นคุยกันให้ชัดถึงความสามารถ การบริหารความคาดหวังของเราและคนอื่นให้ตรงกันก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยได้

ถ้าย้อนกลับมาที่ 30,000 บาท หากเราสามารถพูดคุยเข้าใจกับทั้งตัวเองและคนรอบข้าง(ที่อาจจะวางแผนไปพักร้อนด้วยกัน)ในเร่งงบประมาณว่าจริงๆ แล้วอาจจะปรับลดเหลือ 18,000 บาท แล้วเก็บเงินเดือนละ 1,500 บาทสะสมไว้ การบริหารจัดการเงินและการบริหารจัดการความสัมพันธ์ที่สอดคล้องกันจะเป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับการวางแผนวันหยุด ที่เราหวังว่าจะได้สร้างความสุขที่น่าจดจำ

เช่น สงกรานต์ที่จะถึงนี้

  • นาย ก อยากใช้เวลากับแฟน ไม่อยากเปียก ขออยู่บ้านดู Netflix แล้วคิดแค่ว่าอยู่ด้วยกันก็พอแล้ว
  • นาย ข อยากใช้เวลากับครอบครัว ตั้งใจขึ้นรถทัวร์กลับบ้าน (ต้องการประหยัด) และใช้เวลาทั้งหมดไปกับการเลี้ยงดูสังสรรค์ เพราะปีนึงจะมีแบบนี้สักครั้งหนึ่ง
  • นาง ค บอกว่าขี้เกียจร้อนที่เมืองไทย ขอบินไปต่างประเทศหน่อยใช้วันลาตั้งแต่ 3 เมษา และ กลับมา 23 เมษา เพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาช่วงหยุดยาว จ่ายไปไม่กี่แสน แต่คุ้มค่า

จากตัวอย่างแบบสุดโต่งทั้งหมดนี้ เราไม่สามารถบอกว่าใครดีกว่ากัน เพราะทั้ง ก ข ค นั้น มีเงื่อนไขเป็นคนตัวเอง เช่น มีเวลาแค่ไหน มีเงินเท่าไร และเงินที่จ่ายไปมันถูกใช้ได้คุ้มค่าอย่างที่เขาต้องการหรือเปล่า และไม่ว่าจะใช้เงินแบบไหน เราจำเป็นต้องเข้าใจในงบประมาณการใช้จ่ายและการป้องไม่ให้มันไปกระทบการเงินด้านอื่นๆ หรือไปรบกวนชีวิตของคนอื่นด้วยการเป็นหนี้สินที่จัดการไม่ได้

การตั้งงบประมาณที่เหมาะสมจะช่วยให้สร้างวินัยทางการเงินและบริหารความสุขไปพร้อมกัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปโทษตัวเองว่า ต้องมีแค่ไหนถึงจะพอ ต้องมากเท่าคนอื่นถึงจะดี แต่ให้วัดจากสิ่งที่เราคิดว่าเหมาะสม ควบคุมตัวเองให้ได้ และใครเก็บไหวมากกว่านั้นก็เก็บต่อ แต่ใครท้อก็เอาแค่งบที่เรามี

สิ่งที่อยากย้ำทิ้งท้ายคือ กำหนดงบประมาณเผื่อเหลือไว้ดีกว่าขาด เพราะเวลาที่เรามีความสุข เรามักจะอยากใช้เงินมากกว่าที่เราคิดเสมอ ซึ่งผมเองก็เผลอเป็นเหมือนกัน