svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ไปอยู่บนดาวทะเลทราย ‘Mars Science City’ แผน 100 ปี สู่ดาวอังคารของดูไบ

18 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จะเป็นยังไง ถ้าเราต้องไปอยู่อาศัยในดาวแห่งทะเลทรายจริงๆ แบบในหนังเรื่อง Dune? โปรเจกต์ Mars Science City’ คือตัวอย่างที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ทำขึ้นมาจริงๆ เพื่อจำลองการตั้งอาณานิคมบนดาวอื่นของมนุษย์

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังเรื่อง Dune และดินแดนแห่งอาร์ราคิส พาเราไปยังโลกอนาคต ดินแดนที่เราใช้ชีวิตอยู่ในภูมิอากาศแร้นแค้น แต่ทว่ามั่งคั่งด้วยทรัพยากร ดินแดนอันแปลกประหลาดในหนังไซไฟส่วนหนึ่งกำลังพูดถึงเงื่อนไขใหม่ๆ ในการใช้ชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อมสุดขั้วต่างๆ

อันที่จริง ภาพฝันของดินแดนแห่งทะเลทราย และการลงมือสร้างเมืองใหม่ๆ นับจากที่ Dune ถูกเขียนขึ้นในปี 1965 มนุษย์เราก็เฝ้ามองท้องฟ้า เริ่มวาดฝันถึงดินแดนใหม่ๆ ที่เราอาจสามารถเดินทางย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตในดาวแดนอื่น และดาวสำคัญที่มนุษย์เราเฝ้ามองจนส่งยานสำรวจลงลงจอดได้นั่นคือดาวยักษ์แดงที่เต็มไปด้วยฝุ่นและความแห้งแล้ง ดาวอังคารที่อาจเป็นอนาคตของมนุษยชาติที่เราปรารถนาจะเดินทางไป ไม่ว่าจะด้วยความฝันหรือความจำใจก็ตาม

Dune (2021). ภาพจาก IMDb
 

ด้วยเงื่อนไขของดาวอังคาร และความมั่งคั่งของดินแดนกลางทะเลทรายบนโลก ประเทศร่ำรวยเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates) ก็บอกเองว่า ในฐานะอาณาจักรแห่งทะเลทราย ดินแดนที่สร้างชีวิตและอารยธรรมขึ้นบนความแห้งแล้ง ทาง U.A.E. ก็เลยขอร่วมความฝันของมวลมนุษย์ด้วยการวางเป้าหมายเป็นหนึ่งในประเทศที่จะไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร และในการทดสอบสำคัญคือการลงทุนสร้างเมืองสมัยล้ำสมัยขึ้นบนทะเลทรายของตัวเอง เป็นเมืองที่ถูกครอบด้วยโดมแก้วและสร้างภูมิอากาศที่ดีต่อการอยู่อาศัยขึ้นภายในโดมนั้น

จากจินตนาการของในนิยายไซไฟเมื่อ 50 ปีก่อน และอีกหนึ่งร้อยปีนับไปจากนี้ วันนี้มนุษย์เราเริ่มฝันและทดลองสร้างดินแดนใหม่กลางทะเลทรายเหมือนใน Dune และนับจากนี้ไปอีกหนึ่งร้อยปี ชีวิตในจินตนาการของ แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต อาจเป็นจริง

Mar Science City. ภาพจาก BIG
 

โปรเจกต์ Martian City และ Bjarke Ingels

ดินแดนแถบอาหรับเป็นดินแดนที่แสนพิเศษสำหรับมนุษยชาติ ถ้าเรามองย้อนไป ดินแดนอาหรับแม้เป็นดินแดนที่รายล้อมด้วยความแห้งแล้ง แต่ทว่าอาณาจักรในอาหรับก็มักจะเติบโตขึ้นในฐานะดินแดนที่ทั้งมั่งคั่งและรุ่มรวยด้วยอารยธรรม ยิ่งในปัจจุบัน ประเทศกลุ่มอาหรับก็ทวีความมั่งคั่งขึ้นและยังคงเดินหน้าแสดงความก้าวหน้าของตนบนดินแดนทะเลทราย เมืองเช่นดูไบกลายเป็นพื้นที่ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ การลงทุนเมืองแนวยาวขนาดยักษ์ ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลก และพื้นที่เขียวฉลุ่มที่เบ่งบานบนดินแดนที่แทบจะไม่มีน้ำ

ดังนั้น ความฝันร่วมสมัยของมนุษยชาติคือการเดินทางและตั้งถิ่นฐานบนดาวดวงอื่นซึ่งเป้าหมายใหญ่ก็คือดาวอังคาร ด้วยความร่ำรวยและการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี อาหรับจึงบอกว่า นี่ไง ดินแดนของเราก็เติบโตขึ้นได้ในภูมิประเทศและภูมิอากาศอันแสนรุนแรง การไปตั้งถิ่นฐานบนดาวอังคาร จึงไม่น่าใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง ทะเลของอาหรับจึงเป็นหนึ่งในภูมิประเทศจริงที่น่าจะใช้ทดสอบและจำลองการสร้างเมืองบนดาวอังคารได้

แผนการสร้างเมืองทดลองมีชื่อตรงตัวว่า ‘Mars Science City’ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการ Mars 2117 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศว่าจะตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารในอีก 100 ปี สำหรับโปรเจกต์ร้อยปีนี้ถือว่าเมืองอาหรับทำจริง เพราะเจ้าเมืองทะเลทรายมีการลงทุนซึ่งทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ว่าจ้างบริษัทสถาปนิกเจ้าพ่อผลงานแห่งอนาคต Bjarke Ingels หรือ BIG มาเป็นทีมเสนอแผนและลงมือสร้างเมืองจริง ซึ่งทาง BIG ก็ได้นำเสนอแผนเมืองเต็มรูปแบบออกมาเรียบร้อย

Mar Science City. ภาพจาก BIG

สำหรับเมืองดาวอังคาร โดยตัวมันเองเป็นเมืองทดลองที่ภายในเมืองนอกจากจะเป็นการจำลองเมืองเพื่อดูว่าจะสร้างและใช้ชีวิตในเงื่อนไขทะเลทรายได้ไหมแล้ว สาธารณูปโภคหรือฟังก์ชั่นอื่นๆ ภายในเมืองก็จะเป็นการตั้งองค์กรทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตบนดาวอังคาร เช่น การก่อสร้างไปจนถึงการผลิตอาหาร

ตัวเมืองตามแผนจะตั้งอยู่นอกเมืองดูไบ เมืองวางไว้ว่าจะมีขนาดประมาณ 17.5 เฮกตาร์ หรือประมาณ 175,000 ตารางเมตร โดยหน้าตาจะเป็นเมืองที่มีโดมกระจกครอบไว้ ตรงนี้เองที่ค่อนข้ามสมฐานะของสตูดิโอของ BIG คือทาง BIG มีการออกแผนรวมถึงการศึกษาที่ค่อนข้างละเอียดว่าเมืองจะถูกสร้างขึ้นโดยต้องเจอกับเงื่อนไขอะไรบ้าง ซึ่ง BIG เองก็วางจากแผนการสร้างที่อยู่อาศัยให้อยู่ในเงื่อนไข ไปจนถึงการขยายพื้นที่ไปสู่การเป็นกลุ่มอาณานิคมซึ่งสอดคล้องกับฝันร้อยปีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ฝันจะสร้างอาณานิคมสำหรับคนหกแสนคน

 

ส่งหุ่นไปขุดหลุม สังเคราะห์วัสดุ และสร้างโดม

ในรายงานของ BIG พูดถึงเทคนิคและเงื่อนไขของดาวอังคารไว้อย่างละเอียดเพื่อเสนอแนวทางการสร้างสถาปัตยกรรมบนดาวอาคารและพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ โดยรวมแล้ว BIG พูดถึงการส่งหุ่นยนต์หรือแขนกลขึ้นไปบนดาว เน้นการขุดทรัพยากรเช่นการที่ดาวอังคารมีน้ำแข็งอยู่ใต้พื้นผิวและเต็มไปด้วยหินและน้ำ BIG ชี้ให้เห็นว่า ทรายสามารถสร้างเป็นอะลูมิเนียม กระจก และโซลาร์เซลล์ได้ ซึ่งพลังงานไฟฟ้านำไปสู่โรงปฏิกรณ์ซาบาเทียร์ (Sabatier process) เปลี่ยนก๊าซในชั้นบรรยากาศเป็นพลังงานสำหรับจรวดและการเดินทาง 

ความน่าสนใจของแผนนี้คือการที่ BIG ชี้ให้เห็นเงื่อนไขของดาวอังคารที่เราต้องรับมือตั้งแต่รังสี แรงกดอากาศ แรงโน้มถ่วง อุณหภูมิที่แปรปรวน ความต้องการใช้พื้นที่ และแสงแดด ซึ่ง BIG เองเสนอรูปแบบการก่อสร้างที่ผสมผสานกันจากการใช้ระบบพิมพ์สามมิติ (3D printing) การขุดอุโมงค์ การใช้วัสดุพองลม (เป็นเหมือนผ้าที่พองลมที่เย็บเข้าหากันได้ เคลื่อนย้ายได้ ทนต่ออุณหภูมิ รับมือกับความกดอากาศต่ำของดาวอังคาร) และตามสไตล์ของ BIG คือจะเน้นการใช้ระบบนิเวศเช่นพืชพรรณเพื่อผลของการอยู่อาศัยและผลิตอาหาร

Mar Science City. ภาพจาก BIG

แผนของ BIG ในด้านหนึ่งค่อนข้างเป็นระบบ BIG วางภาพไว้ตั้งแต่การลงมือสร้างโดมแรก กระบวนการสร้างโดมจะเริ่มจากการขุดพื้นที่ฐาน การติดตั้งพื้นที่ป้องกัน การสร้างโดมครอบ การวางผังของโดมที่เป็นชั้นสัมพันธ์กับเงื่อนไขของดาวอังคาร และการวางให้โดมอื่นๆ เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายชุมชน มีจุดที่เหลื่อมซ้อนกันและก่อตัวเป็นวงแหวนโดมขนาดมหึมา

อย่างไรก็ตามแผนของ BIG เป็นผังขนาดใหญ่ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นวิสัยทัศน์ สิ่งที่ BIG และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลงมือทำต่อไปคือการทดลองสร้างและลงมือศึกษาจริงบนพื้นที่ทะเลทราย สำหรับโปรเจกต์เมืองที่จะสร้างจริง นับเป็นพื้นที่จำลองเดียวที่ทำการทดสอบบนโลกใบนี้ซึ่งมีขนาดเท่ากับเมืองที่ควรจะสร้างจริงๆ บนดาวอังคาร

Mar Science City. ภาพจาก BIG

ความพิเศษของเมืองดาวอังคารที่ดูไบ ในแง่หนึ่งอาจไม่ใช่แค่การจินตนาการหรือการทำเมืองบนดาวอังคารจริงๆ แต่ด้วยเงื่อนไขของโลกที่สภาพอากาศกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ เมืองครอบโดมและเมืองที่เติบโต หล่อเลี้ยงผู้คนได้บนภาวะยากลำบากจึงเป็นอีกความเข้าใจและพัฒนาการของมนุษย์เราที่อาจสำคัญต่อการอยู่รอดต่อไป

ทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองก็ชี้ให้เห็นว่า เมืองแห่งอนาคตนี้ด้านหนึ่งจะทำหน้าที่เป็นพื้นที่ทดลองศึกษา และเป็นเมืองเปิดให้กับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้เข้ามาแลกเปลี่ยนและส่งต่อความรู้เพื่อมนุษย์ต่อไป Mars Science City หรือเมืองวิทยาศาสตร์ดาวอังคาร จึงได้รับการออกแบบให้มีทั้งพิพิธภัณฑ์ ลานส่วนกลาง พื้นที่บรรยายสาธารณะ พื้นที่ทดลองเพื่อการเพาะปลูก ไปจนถึงเป็นเมืองที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนในวงการเทคโนโลยีและวิศวกรรมเพื่ออนาคตต่อไป

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline