svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ทำไม ‘Las Meninas’ ถึงเป็นภาพวาดที่ศิลปินรุ่นหลังต่างคารวะ

29 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

Las Meninas (1656) หรือแปลเป็นไทยว่า “นางสนองพระโอษฐ์” คือผลงานของ ดิเอโก เบลาสเกซ (Diego Velázquez) หนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของยุคทองสเปน ภาพวาดนี้สำคัญตรงที่มันแสดงให้เห็นถึงความเหนือชั้นของผู้วาด และเป็นภาพที่ศิลปินตัวท็อปรุ่นหลังใช้เป็นแรงบันดาลใจ

ในคอลัมน์ 'ARTchive' ตอนที่ผ่านๆ มา เราเล่าถึงผลงานภาพวาดที่ทรงพลัง, งดงาม, พิลึกพิลั่น, และมีชื่อเสียงที่สุดในโลกไปแล้ว ในตอนนี้ เราเลยขอเล่าถึงภาพวาดที่ได้ชื่อว่าเป็นภาพวาดชิ้นสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกให้อ่านกัน

Las Meninas (1656). ภาพจาก: Wikimedia Commons

ภาพวาดที่ว่านี้มีชื่อว่า Las Meninas (1656) หรือแปลเป็นไทยว่า 'นางสนองพระโอษฐ์' ผลงานของ ดิเอโก เบลาสเกซ (Diego Velázquez) จิตรกรเอกในราชสำนักของพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 แห่งยุคบาโรก ในศตวรรษที่ 17 ของสเปน ผู้เป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดของยุคทองสเปน (Spanish Golden Age) เขาได้รับการยกย่องอย่างมากในการทำลายกรอบและขอบเขตจำกัดของการวาดภาพเหมือนและภาพบุคคล สไตล์การวาดภาพของเขาได้รับความนิยมเหนืองานของศิลปินคนอื่นๆ ในยุคสมัยเดียวกัน ที่ยึดโยงอยู่กับประวัติศาสตร์อันยาวนานและขนบธรรมเนียมในการวาดภาพแบบเดิมๆ และถึงแม้เขาจะวาดภาพของชนชั้นสูงในราชสำนักอย่างกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์, ศาสนจักร อย่างพระสันตปาปาและพระราชาคณะ ไปจนถึงขุนนาง, และบุคคลสำคัญ ต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีความสนใจในการวาดภาพของสามัญชน คนตัวเล็กตัวน้อยเช่นเดียวกัน
ดิเอโก เบลาสเกซ. ภาพจาก: Wikimedia Commons

Las Meninas เป็นผลงานภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ถึง 318 x 276 ซม. ที่นำเสนอภาพของเจ้าหญิงมาร์การิตา เทเรซา แห่งสเปน พระราชธิดาของพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 พระมหากษัตริย์แห่งสเปน กับพระนางมารีอา อันนา แห่งออสเตรีย สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสเปน โดยเจ้าหญิงมาร์การิตาในวัยห้าขวบกำลังยืนอยู่ในห้องขนาดใหญ่ ภายในพระราชวังหลวงแห่งมาดริด (Royal Alcázar of Madrid) รายล้อมด้วยเหล่าบรรดาข้ารับใช้อย่าง นางสนองพระโอษฐ์, พระพี่เลี้ยง, ราชองครักษ์, คนแคระหลวง, และสุนัขหนึ่งตัว ไกลออกไปมีมหาดเล็กยืนอยู่ตรงช่องประตู ในขณะที่บนผนังในฉากหลังมีกระจกเงาสะท้อนภาพครึ่งตัวของพระองค์พระเจ้าเฟลีเปที่ 4 และพระนางมารีอา อันนา กำลังยืนจ้องมองอยู่ ที่สำคัญ ในภาพวาดนี้ยังมีตัวจิตรกรผู้วาดภาพอย่างเบลาสเกซ ขณะกำลังยืนวาดภาพบนเฟรมขนาดใหญ่ปรากฏอยู่ ว่ากันว่าด้านบนของผนังในฉากหลังที่มืดสลัวจนมองแทบไม่เห็นนั้นมีภาพวาดของจิตรกรชั้นครูในยุคก่อนหน้าอย่าง ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens) แขวนอยู่สองภาพอีกด้วย

Las Meninas (1957) ในพิพิธภัณฑ์ปราโด, ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในเชิงเทคนิค ภาพวาดนี้แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันเหนือชั้นของเบลาสเกซ ในการใช้หลักทัศนียวิทยา (perspective) สร้างระยะความลึกของฉากในภาพ ไม่เพียงแค่ความลึกภายในห้อง แต่ยังแสดงถึงความลึกออกไปถึงนอกประตูห้องอีกด้วย เบลาสเกซยังใช้เทคนิค เคียรอสคูโร (chiaroscuro) หรือการปรับระดับความต่างระหว่างแสงสว่างและความมืด เพื่อสร้างมิติในภาพนี้ได้อย่างเจนจัดเชี่ยวชาญ และใช้การกำหนดทิศทางแสงจากแหล่งที่มาของแสง ทั้งจากหน้าต่างทางด้านขวาของภาพ และประตูด้านไกลสุดของภาพ เพื่อสร้างบรรยากาศของฉากในห้องเพดานสูงให้ดูราวกับเป็นเวทีละครอย่างเหนือชั้น หรือการจัดวางองค์ประกอบอันซับซ้อนของภาพ ด้วยการวางตำแหน่งของตัวละครต่างๆ ในภาพ ผู้กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ให้ดึงดูดสายตาผู้ชมอย่างเปี่ยมสมดุล 
 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ถึงแม้ภาพวาดนี้จะเป็นภาพวาดเชื้อพระวงศ์ที่ถูกวาดขึ้นตามคำสั่งของพระมหากษัตริย์ แต่เบลาสเกซก็ให้ความสำคัญกับตัวละครข้ารับใช้ที่มีฐานะต่ำต้อยกว่าอย่าง นางสนองพระโอษฐ์หรือคนแคระหลวง ให้มีรายละเอียดและความโดดเด่นไม่แพ้เจ้าหญิงมาร์การิตาเลยแม้แต่น้อย เพราะถึงแม้ตัวเบลาสเกซเอง จะมีฐานะเป็นจิตรกรเอกในราชสำนักของพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 แต่ในยุคศตวรรษที่ 17 ในสเปน จิตรกรก็ไม่ค่อยมีสถานะสูงทางสังคมเท่าไหร่นัก และในยุคนั้น งานจิตรกรรมเองก็เป็นแค่งานช่างฝีมือมากกว่าจะเป็นงานศิลปะชั้นสูงเหมือนอย่างบทกวีและดนตรีด้วยซ้ำไป ซึ่งจะว่าไป ตัวเขาเองก็มีสถานภาพไม่สูงส่งไปกว่าข้ารับใช้เหล่านี้สักเท่าไรนัก

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดในภาพนี้ก็คือ การสร้างมิติความเป็นจริงของภาพวาด ที่เป็นมากกว่าภาพวาดเลียนแบบความเป็นจริงตามปกติธรรมดา ด้วยการใช้สายตาของตัวละครต่างๆ ทั้งตัวละครที่จ้องมองมายังผู้ชม ตัวละครที่จ้องไปยังตัวละครด้วยกัน หรือตัวละครที่จ้องมองมาจากที่ไกล หรือแม้แต่ตัวละครเบลาสเกซเอง ที่จ้องมองมายังผู้ชมจากหลังเฟรมวาดภาพ จนทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า หรือจิตรกรผู้นี้กำลังจ้องมองมาที่กระจกเงาบานใหญ่ขณะกำลังวาดภาพนี้อยู่กันแน่ แต่ในขณะเดียวกันภาพของพระเจ้าเฟลีเปที่ 4 และพระนางมารีอา อันนาผู้กำลังยืนจ้องมองที่สะท้อนจากกระจกเงาบนผนังด้านหลังห้อง ก็ทำให้เราสนเท่ห์ว่าทั้งสองยืนอยู่ที่ไหนกันแน่? (เพราะถ้ายืนอยู่ด้านหน้า เราก็ต้องเห็นเงาสะท้อนของสองพระองค์บนกระจกเงาบานใหญ่ใช่ไหม?) ในอีกแง่หนึ่ง ดูๆ ไปก็เหมือนกับบุคคลในภาพเหล่านี้กำลังถูกถ่ายภาพออกมาก็ไม่ปาน ด้วยมุมมองเช่นนี้นี่เอง เบลาสเกซจำลองห้วงขณะของการบันทึกความเป็นจริงด้วยภาพถ่าย ก่อนหน้าที่กล้องถ่ายรูปจะถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นร้อยๆ ปีเลยก็ว่าได้

มีนักวิจารณ์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกรุ่นหลังวิเคราะห์ว่า อันที่จริงแล้ว ภาพวาด Las Meninas ไม่น่าจะวาดขึ้นจากความเป็นจริงเหตุการณ์เดียว หากแต่เป็นการประกอบสร้างขึ้นจากความเป็นจริงหลายเหตุการณ์และความทรงจำของศิลปินเสียมากกว่า เพราะโดยปกติ จิตรกรมักจะวาดภาพเหมือนของบุคคลที่อยู่เบื้องหน้าเขา ภาพของจิตรกรจึงไม่ค่อยปรากฎในภาพ ยกเว้นภาพเหมือนของตัวเขาเองที่วาดจากการดูในกระจกเงา ดังนั้น การมองภาพวาด ก็คือการมองจากมุมมองเดียวกันกับจิตรกร และเห็นภาพเดียวกันกับที่จิตรกรเห็นและวาดออกมา 

แต่ในภาพวาด Las Meninas เบลาสเกซใช้ลูกเล่นอันซับซ้อน ด้วยการผสมหลากมุมมองจากหลายช่วงเวลามาผสมรวมกันในภาพเดียว ทั้งภาพวาดเจ้าหญิงมาร์การิตาและเหล่าบรรดาข้ารับใช้ นางสนองพระโอษฐ์ ในห้องขนาดใหญ่ ที่วาดจากการดูแบบจากบุคคลจริง และภาพวาดตัวเขาเองที่มองจากกระจกเงา และภาพวาดพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 และพระนางมารีอาในกระจกเงา (ซึ่งเบลาสเกซน่าจะวาดขึ้นจากความทรงจำ) นั่นหมายความว่า ภาพวาดนี้ น่าจะเกิดจากการประกอบกันของสามภาพจากสามมุมมองของศิลปิน ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายกับการคอลลาจ (ปะติด) ภาพถ่าย หรือการตัดต่อภาพในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนั่นเอง

ภาพวาด Las Meninas จึงเป็นหลักฐานอันโดดเด่นของข้อเท็จจริงที่ว่า งานจิตรกรรมของเบลาสเกซ นั้นไม่ได้เป็นเพียงการลอกเลียนความเป็นจริงแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่ หรือแม้แต่เป็นการแต่งแต้มเรื่องราวจากมุมมอง ความคิด และจินตนาการของศิลปิน อย่างที่ไม่เคยมีศิลปินคนไหนทำได้มาก่อน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ Las Meninas กลายเป็นภาพวาดชิ้นสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกนั่นเอง

ภาพวาด Las Meninas ส่งอิทธิพล และเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินรุ่นหลังจำนวนนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ฟรันซิสโก โกยา (Francisco Goya), เอดัวร์ มาแน (Édouard Manet), จอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์ (John Singer Sargent) ตัวเบลาสเกซเองก็เป็นศิลปินผู้เปรียบเสมือนพ่อศิลปินสเปนทุกสถาบันเลยก็ว่าได้ ศิลปินชาวสเปนอย่าง ปาโบล ปิกัสโซ และ ซัลบาดอร์ ดาลี เอง ต่างก็สร้างผลงานที่ตีความภาพวาด Las Meninas ในแบบฉบับของตัวเอง เพื่อเป็นการแสดงคารวะต่อเบลาสเกซ (ดาลีนั้นหลงใหลบูชาในตัวเบลาสเกซจนถึงกับไว้หนวดโง้งเรียวยาวชี้ชูชันเลียนแบบเบลาสเกซจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวของเขาไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว) หรือแม้แต่ศิลปินร่วมสมัยอย่าง โจล-ปีเตอร์ วิตคิน (Joel-Peter Witkin), ไมเคิล เครก-มาร์ติน  (Michael Craig-Martin), และ บาร์เตเลมี โตโก (Barthélémy Toguo) ที่ต่างก็ทำผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด Las Meninas เช่นเดียวกัน

Las Meninas (1957) โดย ปาโบล ปิกัสโซ ในพิพิธภัณฑ์ Picasso, ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในปัจจุบัน ภาพวาด Las Meninas ถูกจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ปราโด (Museo del Prado) กรุงมาดริด ประเทศสเปน ตัวผมเองมีโอกาสได้เดินทางไปชมผลงานชิ้นนี้กับตา พอได้ไปดูผลงานชิ้นนี้ในระยะใกล้ๆ เป็นครั้งแรก ถึงได้รู้ว่าภาพนี้มีรอยเย็บต่อ แทนที่จะเป็นผ้าใบเรียบเนียนทั้งผืน ซึ่งเกิดจากการตัดผ้าใบทางด้านซ้ายและขวา เพราะความเสียหายจากเพลิงไหม้พระราชวังหลวงแห่งมาดริด (อันเป็นสถานที่เก็บผลงานแต่เดิม) ในปี 1734 ก่อนที่จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมในเวลาต่อมา เดิมทีภาพวาดนี้มีชื่อว่า La Familia (The Family) และ The Family of Philip IV ก่อนที่ทางพิพิธภัณฑ์ปราโดจะตั้งชื่อใหม่ว่า Las Meninas ในปี 1843 นั่นเอง

ภาพวาด Las Meninas โดย บาร์เตเลมี โตโก ในพิพิธภัณฑ์ Picasso. ภาพถ่ายโดย: ภาณุ บุญ พิพัฒนาพงศ์

อย่างไรก็ตาม ความไม่สมบูรณ์แบบเล็กๆ น้อยๆ ที่ว่านี้ก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของภาพนี้ลดน้อยถอยลงไปแต่อย่างใด แต่กลับทำให้ภาพวาดนี้ดูมีเสน่ห์อย่างน่าประหลาด ไม่ต่างอะไรกับการที่เบลาสเกซ ให้ความสำคัญกับสามัญชน คนตัวเล็กตัวน้อยในภาพวาดของเขา ที่ต่อมากลายเป็นที่มาของชื่อภาพวาดนี้ในที่สุด

 


ข้อมูลอ้างอิง

logoline