svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

‘Guernica‘ ของปิกัสโซ ภาพวาดจากสงคราม สู่สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

10 พฤศจิกายน 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นี่คือภาพวาดโดย ปาโบล ปิกัสโซ ที่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 มันทรงพลังและสั่นสะเทือนใจผู้ชมเพื่อย้ำเตือนถึงความน่าสะพรึงกลัวของสงคราม

ในช่วงเวลาที่ไฟสงครามยังคุกรุ่นอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน หรือสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผลคือผู้คนบาดเจ็บล้มตาย และต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย พลัดถิ่นฐานบ้านเกิดจำนวนมหาศาล ในตอนนี้เราจึงขอนำเสนอเกี่ยวกับผลงานศิลปินชิ้นหนึ่ง ที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านสงครามเสมอมา ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า Guernica (1937) ภาพวาดสีน้ำมันของ ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปน ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผลงานศิลปะที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักที่สุดในโลก และเป็นผลงานที่ทรงพลังและสั่นสะเทือนใจผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก

Guernica (1937), ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso). ภาพถ่ายโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

จุดเริ่มต้นของภาพวาดนี้เกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองสเปน เมื่อรัฐบาลสาธารณรัฐ (ฝ่ายซ้าย) ของสเปน กำลังเสาะหาผลงานไปร่วมแสดงในพื้นที่จัดแสดงของสเปน (Spanish pavilion) ประจำงานนิทรรศการนานาชาติ (Paris International Exposition) ที่ปารีส ในปี 1937 ในขณะที่เยอรมันและสหภาพโซเวียตทุ่มทุนสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมอันใหญ่โต เพื่อแสดงความยิ่งใหญ่ของชาติตน สาธารณรัฐสเปนที่อยู่ในช่วงเวลาขัดสนจากสงครามภายใน ก็ตัดสินใจแสดงผลงานที่เรียบง่ายและย่อมเยากว่าอย่างงานศิลปะสมัยใหม่ จึงไหว้วานปิกัสโซ ศิลปินแถวหน้าของสเปน ให้วาดภาพไปจัดแสดงในนิทรรศการนี้ ปิกัสโซก็ตกปากครับคำอย่างไม่ลังเลในการทำงานให้รัฐบาลฝ่ายซ้ายอันเป็นที่รักของเขา 
 

ในตอนแรก ปิกัสโซตั้งใจวาดภาพที่ไม่มีนัยทางการเมืองเลย ถึงแม้ทางรัฐบาลสาธารณรัฐของสเปนยืนยันหนักแน่นว่าต้องการให้ผลงานที่เขาทำมีประเด็นทางการเมืองอย่างชัดเจนก็ตาม โดยเขาตั้งใจวาดภาพแบบอุปมานิทัศน์ หรือเรื่องเล่าเชิงเปรียบเทียบ ที่นำเสนอภาพของจิตรกรและนางแบบเปลือยในห้องทำงานของเขา แต่อีกไม่นานหลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเปลี่ยนแนวทางการทำงานอย่างสิ้นเชิง

นั่นก็คือกองกำลังชาตินิยมขวาจัดหรือ กลุ่มแห่งชาติ (Nationalist Faction) ภายใต้การนำของนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก ผู้ก่อการรัฐประหารจนเกิดสงครามกลางเมือง สั่งการให้กองกำลังทหารรับจ้างของนาซีบุกโจมตีและทิ้งระเบิดในเกร์นิกา เมืองชนบทเล็กๆ ในแคว้นบาสก์ของสเปน เพื่อปราบปรามกองกำลังฝ่ายสาธารณรัฐและผู้ต่อต้านกลุ่มแห่งชาติในเมืองนี้ ช่วงเวลาเดียวกับที่มีการจัดตลาดนัดประจำเมือง ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่มาเดินตลาดถูกลูกหลงจากการโจมตีจนล้มตายเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่เด็กและสตรี
 

ปิกัสโซบังเอิญได้อ่านข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ในหนังสือพิมพ์เช้าวันถัดมา ก็เกิดความโกรธแค้นอย่างมาก จนตัดสินใจเปลี่ยนเนื้อหาของภาพวาดสำหรับงานนิทรรศการนานาชาติ มาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์โศกนาฎกรรมในเกร์นิกาแทน ในช่วงเวลาไม่ถึงหกสัปดาห์ เขาวาดภาพลายเส้น, ภาพร่าง, และผลงานศึกษาเบื้องต้นได้เกือบห้าสิบภาพ ก่อนที่จะลงมือขยายเป็นภาพวาดขนาดใหญ่ถึง 3.49 x 7.77 เมตร ด้วยสีน้ำมันทาบ้านที่เขาสั่งทำเป็นพิเศษ โดยวาดออกมาเป็นภาพวาดแบบคิวบิสม์ (cubism, บาศกนิยม)* และเซอร์เรียลลิสม์ (surrealism, เหนือจริง)** ที่ผสมผสานแรงบันดาลใจจากงานจิตรกรรมแบบประเพณีของศิลปินชั้นครูในอดีตอย่าง ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ (Peter Paul Rubens), เออแฌน เดอลาครัว (Eugene Delacroix), ฌัก-หลุย ดาวีด (Jacques-Louis David), และ ฟรันซิสโก โกยา (Francisco Goya) เป็นภาพวาดขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยวาดมา

สภาพความเสียหายของเกร์นิกา. ภาพจาก: Wikimedia Commons

ปิกัสโซกล่าวถึงภาพวาดนี้ว่า “สงครามครั้งนี้ของสเปนคือการต่อสู้ของกองกำลังฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านประชาชน ต่อต้านเสรีภาพ ชีวิตในการเป็นศิลปินของผมตลอดมานั้นไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าการต่อสู้อย่างต่อเนื่องยาวนานกับฝ่ายขวาจัดและความตายของศิลปะ อย่างนั้นแล้วจะมีใครหน้าไหนคิดว่าผมจะมีความเห็นพ้องกับฝ่ายขวาจัดและความตายได้อีก? ในภาพที่ผมกำลังวาดอยู่นี้ ซึ่งผมจะเรียกว่า Guernica ผมได้แสดงออกถึงความชิงชังชนชั้นเผด็จการและทหารที่ทำให้สเปนจมดิ่งอยู่ในทะเลแห่งความเจ็บปวดและความตายอย่างที่เป็นอยู่” เขายังกล่าวด้วยว่า “ภาพวาดไม่ได้ทำขึ้นเพื่อเป็นของตกแต่งอพาร์ตเมนต์ หากแต่เป็นอาวุธที่รุนแรงและทรงพลังในการต่อต้านและโจมตีศัตรู” 

ปิกัสโซได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายอันโหดร้ายของการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเมืองเกร์นิกา จากสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือพิมพ์ เขาจึงวาดภาพนี้ออกมาในโทนสีขาว เทา ดำ ด้วยขนาดใหญ่มหึมาราวกับป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ เพื่อเป็นหลักฐานของความโหดร้ายสยดสยองที่เกิดขึ้นในสงครามกลางเมืองสเปน และสัญญาณเตือนถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงแม้จะเป็นภาพในโทนขาวดำแบบเดียวกับภาพข่าวในหนังสือพิมพ์ แต่ก็แสดงออกถึงความเจ็บปวดและความตายได้อย่างน่าสะเทือนใจ ด้วยภาพวาดภาพนี้ ปิกัสโซใช้เทคนิกของงานศิลปะสมัยใหม่ถ่ายทอดความความเลวร้ายของสงครามได้อย่างทรงพลังยิ่ง    

องค์ประกอบในภาพถูกจัดวางเป็นรูปสามเหลี่ยมพีระมิด แสดงภาพอันบิดเบี้ยวของผู้หญิงที่ร้องไห้อุ้มศพลูกน้อยในอ้อมแขน เหนือศีรษะของเธอมีวัวยืนเบิ่งตาเบิกโพลง, นกปีกหัก, ซากศพทหารนอนตายท่ามกลางซากปรักหักพัง, ม้าที่ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดทรมาน, ชายที่กรีดร้องอย่างน่าเวทนาราวกับกำลังอ้อนวอนขอความปราณีต่อพระผู้เป็นเจ้าเบื้องบน โดยมีควันไฟสงครามลอยโขมงอยู่เบื้องหลัง

Guernica (1937), ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso). ภาพถ่ายโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เหตุการณ์ในภาพคล้ายกับปรากฏอยู่ในฉากห้องคับแคบ เพดานต่ำเตี้ย ด้านบนมีโคมไฟห้อยเพดาน ที่เชื่อกันว่าเป็นอุปมาแทนระเบิดที่ทิ้งลงมายังเมืองเกร์นิกา (คำว่า ‘หลอดไฟ‘ (bombilla) กับคำว่า ‘ระเบิด’ (bomba) ในภาษาสเปนนั้นสะกดใกล้เคียงกัน) ว่ากันว่าแรงบันดาลใจของฉากหลังในภาพก็คือห้องทำงานของปิกัสโซ และตัวละครแม่ร้องไห้อุ้มศพลูกในอ้อมแขนก็ได้แบบมาจาก ดอรา มาร์ (Dora Maar) ช่างภาพ จิตรกร และกวีสาวชาวฝรั่งเศสผู้เป็นหนึ่งในชู้รักของปิกัสโซนั่นเอง แถม ดอรา มาร์ ผู้นี้ยังเป็นผู้ถ่ายภาพบันทึกขั้นตอนการทำงานวาดภาพ Guernica ของปิกัสโซชิ้นนี้ตั้งแต่ต้นจนจบอีกด้วย

เขาใช้เวลาวาดภาพ Guernica ขนาดมหึมานี้เพียงเดือนครึ่ง และส่งมอบผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ไปจัดแสดงภายส่วนจัดแสดงในนิทรรศการนาชาติที่กรุงปารีส ผลงานชิ้นนี้กลายเป็นดาวเด่นของนิทรรศการในทันที รวมถึงกลายเป็นผลงานชิ้นเอกในอาชีพการทำงานของปิกัสโซเลยก็ว่าได้

มีเรื่องเล่ากันว่า ในช่วงที่ปิกัสโซอยู่ที่ปารีสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่นาซียาตราทัพเข้ามา ศิลปินขบถหัวเอียงซ้ายอย่างเขาย่อมตกเป็นเป้าหมาย ในขณะที่เขาถูกสอบสวนตรวจค้นสตูดิโอรอบแล้วรอบเล่าอยู่นั้น ครั้งหนึ่งเขายื่นภาพโปสการ์ดรูปภาพวาด Guernica ให้เจ้าหน้าที่นาซี หมอนั่นหยิบมาดูแล้วถามด้วยความเย้ยหยันว่า “ตกลงนายเป็นคนทำภาพนี้ขึ้นมาหรอกเหรอ?” ปิกัสโซสวนกลับไปทันควันว่า ไม่ “พวกแกนั่นแหละที่เป็นคนทำ!” อันหมายถึงกองกำลังนาซีที่เป็นผู้คร่าชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ในเมืองเกร์นิกาจนเป็นเหตุให้เขาต้องวาดภาพนี้ขึ้นมานั่นเอง

Guernica (1937), ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso). ภาพถ่ายโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

หลังจากจบงานนิทรรศการนานาชาติ สงครามกลางเมืองสเปนก็สิ้นสุดในปี 1939 กลุ่มแห่งชาติของฟรังโกก็โค่นล้มรัฐบาลสาธารณรัฐและขึ้นสู่อำนาจ และครองอำนาจในฐานะรัฐบาลเผด็จการอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ภาพวาด Guernica ถูกนำออกเดินทางจัดแสดงในหลายประเทศทั่วในยุโรปและอเมริกาเพื่อช่วยระดมทุนให้รัฐบาลสาธารณรัฐพลัดถิ่นที่ลี้ภัยการเมืองนอกประเทศ นับตั้งแต่ปี 1939-1952 และถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) ก่อนถูกเก็บรักษาไว้นับตั้งแต่ปี 1958 และอยู่ที่นั่นอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ด้วยเจตนารมณ์ของปิกัสโซที่ว่าตราบใดที่สเปนยังอยู่ในเงื้อมมือของเผด็จการฟรังโก เขาจะไม่ยอมให้ภาพวาด Guernica ถูกส่งกลับคืนไปที่ประเทศสเปนเป็นอันขาด!

จนกระทั่งหลังจากที่นายพลฟรังโกเสียชีวิตในปี 1975 สเปนก็เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย ในที่สุด พิพิธภัณฑ์ MoMA จึงส่งมอบภาพวาด Guernica คืนกลับสู่สเปนในปี 1981 (แต่ก่อนหน้านั้นทางพิพิธภัณฑ์  MoMA ก็เล่นแง่ไม่ยอมคืนให้เหมือนกัน เพราะภาพวาดนี้เป็นไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์ที่ดึงดูดคนทั่วโลกให้เข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์น่ะสิ! แต่หลังจากความพยายามในการทวงคืนของรัฐบาลสเปนและอีกหลายฝ่าย ทางพิพิธภัณฑ์  MoMA ก็จำใจต้องส่งภาพวาดนี้กลับคืนให้สเปนในที่สุด) และภาพวาดนี้ก็ถูกนำไปเก็บรักษาและจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติไรนา โซเฟีย (Museo Nacional Centro de Arte Reina Sofía) ในกรุงมาดริด จวบจนปัจจุบัน

Guernica (1937), ปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso). ภาพถ่ายโดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

มีข่าวดีสำหรับมิตรรักแฟนศิลปะผู้วางแผนจะไปชมผลงานศิลปะชิ้นเอกที่ประเทศสเปน นั่นคือการที่พิพิธภัณฑ์ชาติไรนา โซเฟีย อนุญาตให้ผู้เข้าชมถ่ายภาพผลงาน Guernica ได้แล้ว หลังจากที่มีนโยบายห้ามผู้เยี่ยมชมถ่ายภาพมากว่า 30 ปี ทั้งนี้เกิดจากการตัดสินใจของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์คนใหม่ ที่ต้องการให้ผลงานชิ้นนี้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ๆ ได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเขาก็ยังห้ามถ่ายภาพด้วยการใช้แฟลช, ขาตั้งกล้อง, หรือไม้เซลฟี ที่จะขัดจังหวะการชมงานของผู้ชมคนอื่นๆ อยู่ดีแหละนะ

นอกจากภาพวาด Guernica จะถูกยกให้เป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 แล้ว ภาพวาดนี้ยังคงเป็นสัญลักษณ์สากลในการต่อต้านสงครามและการกดขี่จากเผด็จการในทั่วโลก ไม่ว่าจะเกิดสงครามขึ้นครั้งใดในโลก ภาพวาด Guernica ก็มักจะถูกยกให้เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจในการต่อต้านสงครามอยู่เสมอมา ทำให้ภาพวาดนี้กลายเป็นผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ในฐานะสัญลักษณ์ของสันติภาพ ที่สื่อสารถึงความน่าสะพรึงกลัวของสงครามให้ผู้คนทั้งโลกได้รับรู้และเข้าใจ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะมีเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนาใดก็ตาม

 

 

*คิวบิสม์ (cubism) แนวทางการทำงานศิลปะใหม่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่คิดค้นขึ้นโดยปิกัสโซ และศิลปินชาวฝรั่งเศส ฌอร์ฌ บรัก (Georges Braque) ที่มีหลักการในการไม่ยึดหลักความถูกต้องทางกายวิภาคหรือทัศนียภาพแบบเดิมๆ โดยสิ้นเชิง และทำลายรูปทรงของสิ่งที่พวกเขาวาดจนกลายเป็นชิ้นส่วนของพื้นผิวแบนราบรูปทรงเรขาคณิตชิ้นเล็กชิ้นน้อย มาประกอบขึ้นเป็นรูปทรงเชิงนามธรรม ศิลปะแนวทางนี้นอกจากจะมีเอกลักษณ์อยู่ที่การคลี่คลายรูปทรงและองค์ประกอบในภาพวาดให้กลายเป็นรูปทรงเรขาคณิตแล้ว ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ แทนที่จะนำเสนอภาพของสิ่งต่างๆ จากมุมมองเดียว ภาพวาดคิวบิสม์ กลับฉายภาพของสิ่งเหล่านั้นออกมาในหลากหลายมุมมอง จนเราสามารถเห็นมุมมองทั้งด้านหน้า ด้านข้าง หรือแม้แต่ด้านหลังของคน สัตว์ หรือสิ่งของในภาพได้พร้อมๆ กันในคราวเดียว ราวกับวัตถุหรือคนในภาพถูกแกะและคลี่ให้กางออกมาให้เห็นแพตเทิร์น ที่ทำเช่นนี้ก็เพื่อเป็นการนำเสนอถึงเนื้อหาอันยิ่งใหญ่และลึกซึ้งของตัวแบบมากกว่าจะเป็นแค่การวาดภาพเหมือนธรรมดา แนวทางนี้เป็นการปฏิวัติรูปแบบการมองและวัฒนธรรมทางสายตาครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกศิลปะสมัยใหม่

**เซอร์เรียลิสม์ (surrealism) เป็นขบวนการทางศิลปะที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ผู้ยึดหลักของการแสดงออกอย่างอัตโนมัติของจิตในสภาวะบริสุทธิ์ดั้งเดิม ที่ถ่ายทอดผ่านคำพูด การเขียนถ้อยคำ หรือด้วยวิธีการใดก็ตาม เป็นการทำงานที่แท้จริงของความคิดที่ควบคุมตัวมันเองโดยปราศจากการควบคุมของเหตุผล ละเว้นไปจากความดีงาม หรือความคำนึงทางศีลธรรมอันใดก็ตาม เซอร์เรียลิสม์มีแนวคิดในการต่อต้านความเป็นเหตุเป็นผล ตรรกะ และจิตสำนึก รวมถึงคัดค้านความเชื่อทางศาสนาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม ซึ่งฆ่าคนตายไปนับล้านและนำพาความทุกข์มาสู่ผู้คน ทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ก็คือการสำรวจเส้นทางของความคิดใหม่ๆ ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าอยู่ในเวลาที่จิตสำนึกและเหตุผลของเราหลับใหล หรือตอนที่เรากำลังฝันอยู่ ความฝันสำหรับพวกเซอร์เรียลิสม์จึงเหมือนเครื่องมือที่ปลดปล่อยเราออกจากกรงขัง เพราะในความฝัน เราจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีเหตุผล ไม่ต้องมีคำอธิบาย และเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์มาทุกยุคสมัย พวกเขาเชื่อว่ามีแต่ในความฝันเท่านั้นที่คนเราจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง ประจวบกับการที่นักประสาทวิทยาผู้คิดค้นทฤษฎีจิตวิเคราะห์อันลือลั่นในยุคนั้น อย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตไร้สำนึก’ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสภาพดั้งเดิมของจิตใจที่ไร้การควบคุม ไตร่ตรอง ไร้เหตุผล เต็มไปด้วยความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการทางเพศ ซึ่งแนวคิดที่ว่านี้โดนใจชาวเซอร์เรียลิสม์อย่างแรง จนนำเอามาใช้เป็นแนวทางหลักของกลุ่ม งานของพวกเซอร์เรียลิสม์จึงมักจะเต็มไปด้วยอะไรที่ไม่คาดฝัน เรื่องราวไร้เหตุผล พิลึกพิลั่นเกินจริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องราวทางเพศนั่นเอง ปิกัสโซเองก็เป็นศิลปินที่เข้าร่วมในขบวนกการนี้อยู่ช่วงหนึ่งอีกด้วย
 

logoline