svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

5 นายกฯ(พลเรือน) กับเหตุผลที่ต้องนั่งคุม “กลาโหม”

16 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ส่องประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีนายกรัฐมนตรี(พลเรือน)คนไหนบ้าง นั่งควบ รมว.กลาโหม ตำแหน่งนี้สำคัญไฉน ทำไมถึงต้องคุมเอง

ตำแหน่ง "รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม" ถือเป็นอีกหนึ่งตำแหน่งที่สำคัญ ในทุกๆคณะรัฐมนตรี เพราะนี่คือคนที่จะมาดูแลและปกป้องเรื่องความมั่นคงของประเทศ ทั้งกองทัพและกำลังพล รวมถึงงบประมาณ

โดยในอดีตทีผ่านมา นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาแล้ว 42 คน และมี 5 คน ที่ไม่ได้ มียศเป็นทหาร และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมกันไปด้วย ได้แก่

  • ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (27 ส.ค. พ.ศ. 2519 - 23 ก.ย. 2519)
  • ชวน หลีกภัย  (4 พ.ย. 2540 - 5 ก.พ. 2544)
  • สมัคร สุนทรเวช    ( 6 ก.พ. 2551- 9 ก.ย. 2551)
  • สมชาย วงศ์สวัสดิ์   ( 24 ก.ย.2551 -  2 ธ.ค.2551)
  • ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร   ( 30 มิ.ย. 2556 - 7 พ.ค. 2557)

ส่วนรมว.กลาโหม คนต่อไปต้องจับตาว่าจะเป็นไปตามโผก่อนหน้าหรือไม่นั่นก็คือ "นายกฯเศรษฐา"

เหตุผลที่ต้องคุมกลาโหม

สำหรับหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช  ไม่ได้เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในตอนแรก  โดยหากย้อนเวลากลับไปในช่วงก่อน เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 37 มี พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา  เป็นรัฐมนตรีกลาโหม แต่ท่านเสียชีวิตอย่างกะทันหัน จากนั้น มี พล.อ.ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีแทน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ พล.อ.ทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่ง เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ทำให้ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นนายกฯ ณ ขณะนั้น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทน ในระยะเวลาเกือบ 1 เดือน 

ส่วนนายชวน หลีกภัย ที่เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมควบเก้าอี้ รมว.กลาโหม ก็เพื่อกระชับอำนาจทางการเมือง เนื่องจากในห้วงนั้นความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับกองทัพไม่ราบรื่นนัก 

นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีเหตุผลใกล้เคียงกัน คือ การที่นายกรัฐมนตรีเข้ามารับตำแหน่งรมว.กลาโหมเอง ก็เพื่อสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกับกองทัพ การไม่ส่งคนในพรรคคนอื่นๆ มารับตำแหน่งก็เพื่อไม่ให้เกิดบรรยากาศการเป็นศัตรูกับบรรดาขุนทหาร

5 นายกฯ(พลเรือน) กับเหตุผลที่ต้องนั่งคุม “กลาโหม”

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่ง รมว.กลาโหม หลังการปรับ ครม. ยิ่งลักษณ์ ชุดที่ 5 นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ รมว.กลาโหมหญิงคนแรกของประเทศไทย 

ซึ่งการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง รมว.กลาโหม  ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ในทางการเมืองแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะถ่วงดุลอำนาจการเมืองกับบรรดาบิ๊กทหาร ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ “นายกฯ และรมว.กลาโหม” ในการปกป้องประชาธิปไตย เนื่องจากในขณะนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่าได้เกิดคลื่นใต้น้ำที่จะล้มรัฐบาลเพื่อไทยและความเคลื่อนไหวของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามในการสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่อุบัติเหตุทางการเมืองและการรัฐประหารในท้ายที่สุด

ส่วนนายกรัฐมตรี ที่เป็นพลเรือนคนต่อไปที่เตรียมเข้าจะมานั่งตำแหน่ง รมว.กลาโหม ถ้าเป็นไปตามโผที่ออกมา คือ นายเศรษฐา ทวีสิน  ซึ่งครั้งนี้เหตุผลก็คงไม่ต่างจากนายกรัฐมนตรีที่เป็นพลเรือน คนก่อนๆ 

บทบาทความสำคัญกลาโหม

มีบทบาทและอำนาจในการคุมงานด้านความมั่นคงของประเทศ ที่มีกำลังพล 3 เหล่าทัพในสังกัดมากถึง 305,860 นาย และบริหารงบประมาณกระทรวงกลาโหม ถึง 198,562 ล้านบาท (งบประมาณปี 2567)

นายกฯ ควบกลาโหม ถ่วงดุลอำนาจทหาร

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ถึงความจำเป็นของนายกรัฐมนตรี ต้องเข้ามาควบตำแหน่งรมว.กลาโหม ว่าเป็นความเชื่อในมิติทางการเมืองว่า รัฐบาลจะมีเสรีภาพได้ คือสามารถควบคุมกองทัพ ควบคุมขุนศึกได้ 

ที่ผ่านมาจึงเห็นว่านายกรัฐมนตรีพลเรือน ควบรมว.กลาโหม เช่น น.ส. ยิ่งลักษณ์ นายสมัคร นายชวน ก็เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาล จึงได้เห็นว่าเมื่อเข้ามาควบรมว.กลาโหมแล้ว จะพยายามเอาใจ ยืดหยุ่น ผ่านการอนุมัติงบประมาณ จัดซื้อจัดจ้างอาวุธ พูดกันง่ายๆ คือ ตามใจกองทัพ เพื่อซื้อใจกองทัพ เนื่องจากตราบใดที่กองทัพไม่มีท่าทีต่อต้านถือเป็นการรับรองความปลอดภัย ความมั่นคงของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การที่นายกรัฐมนตรี ต้องมานั่งควบตำแหน่งรมว.กลาโหมเองนั้น เนื่องจากตำแหน่งรมว.กลาโหม ถือเป็นตำแหน่งพิเศษ คนที่มาเป็นจะต้องได้รับความเชื่อถือและยอมรับจากบุคคลในกองทัพ

"จะเห็นได้ว่าในรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งจะตั้งแต่อดีตทหารขึ้นมาดำรงตำแหน่งรมว.กลาโหม เป็นส่วนใหญ่ เพราะด้วยความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้อง หรือเคยเป็นผู้บังคับบัญชากันมาก่อน จึงทำให้กองทัพเกิดความเกรงใจ แต่ถ้าหาไม่ได้จริงๆ นายกรัฐมนตรี จะลงมาควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม เอง”

logoline