svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) สังคมเชียร์โทษประหาร เพราะติดคุกไม่นานก็เดินปร๋อ

21 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกหนึ่งประเด็นที่ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย ก็คือ "ประเทศไทยควรมีโทษประหารต่อไปหรือไม่" ซึ่งจากการทำโพลล์อย่างไม่เป็นทางการของสื่อหลายสำนัก พบข้อมูลว่าประชาชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 สนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิต เพราะเชื่อว่าจะส่งผลควบคุมอาชญากรรมร้ายแรงให้ลดน้อยลงได้ ส่วนฝั่งที่คัดค้านเรื่องโทษประหารชีวิต ส่วนมากเป็นนักสิทธิมนุษยชน และนักอาชญาวิทยา เพราะงานวิจัยหลายชิ้นสรุปตรงกันว่า การมีโทษประหารไม่ได้มีผลให้อาชญากรรมลดลง และไม่ได้ยับยั้งผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยกเลิกการกระทำ เพราะกลัวโทษประหาร


เรื่องนี้เถียงกันอย่างไรก็ไม่จบ เพราะแต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลสนับสนุนของตนเอง แต่วันนี้ "ล่าความจริง" จะพาคุณผู้ชมไปพิจารณาข้อมูลอีกแง่มุมหนึ่ง เป็นข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายซึ่งทำงานอยู่ในกระบวนการยุติธรรมมายาวนาน ได้ศึกษาเอาไว้

ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกว่า สาเหตุสำคัญที่สังคมไทยสนับสนุนให้มีโทษประหารชีวิต เพราะหากลงโทษผู้กระทำผิดแบบอื่น โดยเฉพาะ "โทษจำคุก" สังคมจะรู้สึกว่าผู้กระทำผิดได้รับโทษไม่สาสมกับการกระทำ โดยเฉพาะคดีฆ่าข่มขืน ฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณ เช่น คดีฆ่าหันศพของ "ทีมเปรี้ยว" หรือ คดีข่มขืนเด็กหญิง แล้วโยนทิ้งจากตู้รถไฟ คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญเหล่านี้ หลายคดีศาลไม่ได้พิพากษาประหารชีวิต แต่พิพากษาจำคุก ไม่ว่าจะเป็นจำคุกตลอดชีวิต จำคุก 50 ปี จำคุก 25 ปี ฯลฯ ทว่าเวลาผู้กระทำผิดเข้าไปใช้กรรมในเรือนจำ กลับติดคุกเพียงไม่นาน ก็ออกมาเดินปร๋อนอกคุก เช่น โทษจำคุกตลอดชีวิต แต่อาจติดจริงแค่ 10 กว่าปีเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น จุดนี้เองที่ทำให้สังคมไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม มองว่ากระบวนการยุติธรรมหย่อนยาน ทำให้อาชญากรได้ใจ สุดท้ายจึงสนับสนุนให้คงโทษประหารชีวิตเอาไว้

สำหรับสาเหตุที่ผู้กระทำผิดหรือนักโทษถูกศาลตัดสินจำคุกแล้ว แต่ปรากฏว่าไปอยู่ในคุกไม่นาน ก็ได้อิสระออกมาใช้ชีวิตสบายอยู่ข้างนอก หรือบางรายก็กระทำผิดซ้ำ กลับเข้าไปคุกอีก เหมือนผู้ก่อคดีข่มขืนหลายๆ คดี ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกว่า เป็นเพราะนโยบาย "ลดวันต้องโทษ" ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ มาตรา 52 และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งการลดวันต้องโทษ และการพักโทษ

หลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษ ก็คือ ถ้าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษเดือนละ 5 วัน นักโทษชั้นดีมาก ได้ลดโทษเดือนละ 4 วัน นักโทษชั้นดี ได้ลดโทษเดือนละ 3 วัน นี่คือได้อัตโนมัติเลย นอกจากนักโทษชั้นเยี่ยมแล้ว การออกไปทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ลอกท่อระบายน้ำ ก็จะได้รับการลดโทษเป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนที่ออกทำงานสาธารณะด้วย ทั้งยังมีโอกาสได้รับการพระราชทานอภัยโทษหรือลดโทษในวันสำคัญต่างๆ อีกมาก

"ล่าความจริง" ลองยกตัวอย่าง "คดีเปรี้ยวฆ่าหั่นศพ" ซึ่งศาลสั่งลงโทษจำคุก 34 ปี 6 เดือน หากได้ลดโทษตามเกณฑ์สูงสุดของกรมราชทัณฑ์ จะติดคุกจริงกี่ปี


สมมติทีมเปรี้ยวเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมตลอด โทษจำคุก 34 ปี 6 เดือน คิดเป็นเดือนก็เท่ากับ 414 เดือน ถ้าได้ลดโทษเดือนละ 5 วัน จะลดโทษไป 2,070 วัน หรือ 69 เดือน นั่นก็คือเกือบ 6 ปี นี่แค่การเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมอย่างเดียว ได้ลดไปแล้วเกือบๆ 6 ปี ยังไม่นับการออกไปทำงานสาธารณะ และการลดโทษในโอกาสพิเศษต่างๆ อีก

"ล่าความจริง" ได้คุยกับแหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษาอาวุโส ท่านให้แง่คิดว่า การออกกฎหมาย หรือกฎระเบียบเพื่อลดวันต้องโทษของกรมราชทัณฑ์ จริงๆ แล้วมีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลหรือไม่ เพราะศาลและผู้พิพากษาที่ตัดสินคดี ได้เห็นหลักฐาน เห็นพฤติการณ์ของจำเลยมาตั้งแต่ต้น ก่อนจะชั่งน้ำหนักแล้วพิจารณากำหนดโทษ ซึ่งบางคดีก็ลดโทษให้ไปแล้ว เช่น ลดจากประหารชีวิต เป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่พอคนเหล่านี้เข้าเรือนจำ กลับได้รับสิทธิ์ "ลดวันต้องโทษ" ทำให้ติดคุกจริงไม่ครบตามจำนวนปีที่ศาลพิพากษา


สำหรับสาเหตุกรมราชทัณฑ์มีหลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษ ทางราชทัณฑ์ชี้แจงว่า เป็นการจูงใจให้นักโทษกลับเนื้อกลับตัว กระทำความดี จะได้ออกจากคุกเร็วๆ แต่จากสถิติของกรมราชทัณฑ์เองกลับพบว่า นักโทษที่พ้นโทษออกไป มีโอกาสกระทำผิดซ้ำ และหวนกลับสู่เรือนจำมากถึงเกือบ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 23 คำถามก็คือตัวเลขสูงแบบนี้ คุ้มหรือไม่ กับการได้สิทธิ์ลดวันต้องโทษ


อดีตผู้พิพากษาอาวุโส บอกด้วยว่า ไม่ได้คัดค้านเรื่องการ "ลดวันต้องโทษ" เพราะกฎหมายก็ให้อำนาจกรมราชทัณฑ์ในการพิจารณาได้ แต่กระบวนการพิจารณา ควรมีศาล หรือผู้พิพากษาที่ร่วมตัดสินคดีนั้น ร่วมอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีข้อมูลของนักโทษรายนั้นๆ มากที่สุด

ข้อสังเกตนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของ ร้อยตำรวจ ดอกเตอร์ จอมเดช ตรีเมฆ นักอาชญาวิทยาจากมหาวิทยาลัยรังสิต ที่บอกว่า การออกมาตรการห้ามลดโทษจำคุกกับการกระทำความผิดบางประเภท เช่น ฆ่าข่มขืนอย่างโหดเหี้ยมทารุณ อาจจะได้ผลกว่าการคงโทษประหารชีวิตเอาไว้ / เพราะการติดคุกนานๆ หรือติดแบบไม่มีวันออก มีผลต่อจิตใจและสร้างความหวาดกลัวได้มากกว่าการประหารชีวิต

logoline