svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผ่าเครือข่าย "เงินทอน" งาบดะ "วัด-โรงเรียน-คนจน"

09 มีนาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ช่วงนี้มาติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกของ "ล่าความจริง" คุณผู้ชมคงยังจำกันได้กับ "ปมทุจริตงบประมาณของรัฐ" ที่ล่าความจริงเกาะติดมาตลอด จนเกิดวาทกรรมใหม่ว่าด้วย "เงินทอน" ตั้งแต่ "เงินทอนวัด" ซึ่งตอนนี้ตรวจสอบกันไปแล้ว 3 เฟส ตามด้วยการทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้ยากไร้และคนไร้ที่พึ่ง รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีทั้งการ "หักหัวคิว" และ "เงินทอน" ล่าสุดยังมีการทุจริตเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผันเงินไปใช้สนับสนุนกิจกรรมก่อความไม่สงบ ซึ่งเมื่อตรวจสอบลึกลงไป ก็พบรูปแบบ "เงินทอน" อีกเหมือนกัน

แผนประทุษกรรมการทุจริตทั้ง 3 เรื่อง มีความคล้ายคลึงกันในบางแง่มุม แล้วก็มีความแตกต่างกันในบางประเด็น ซึ่งวันนี้ล่าความจริงจะนำมาชำแหละให้เห็นกันชัดๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมการโกงที่เรียกกันว่า "เงินทอน" ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีข้าราชการทุกระดับเข้าไปเกี่ยวข้อง และอาจโยงถึงฝ่ายการเมืองด้วย เข้าข่ายเป็นการ "ทุจริตเชิงนโยบาย" แบบหนึ่งกันเลยทีเดียวแผนประทุษกรรมภาพรวม

เรามาดูโครงสร้างแผนประทุษกรรมการโกงในภาพรวมกันก่อน เริ่มจากการจัดสรรงบประมาณของประเทศให้กับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตามแผนงานการใช้จ่ายงบประมาณที่รัฐบาลต้องเสนอผ่านสภา เมื่อสภาอนุมัติ งบจะถูกจัดสรรมาที่กระทรวง จากกระทรวงจะลงมาที่กรม และหน่วยงานระดับเดียวกันแต่เรียกชื่ออย่างอื่น เช่น สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หน่วยงานระดับกรมนี้จะมี "แขน-ขา" เป็นหน่วยงานย่อยของตนเองที่ทำงานกับประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เรียกว่าหน่วยงานในระดับภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานระดับจังหวัด และหน่วยงานในระดับจังหวัดนี้เอง ที่ต้องทำงานสัมผัสกับประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ทุกภาคของประเทศไทย

เมื่องบถูกจัดสรรลงมาที่หน่วยงานระดับจังหวัด เม็ดเงินก็จะกระจายไปถึงมือ "องค์กร" หรือ "ประชาชน" ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่น นักเรียน คนยากคนจน , วัด หรือแม้แต่โรงเรียน งบที่ลงมานี้ ถ้าข้าราชการในระดับจังหวัดเป็นเครือข่ายการทุจริตของ "ระดับบิ๊ก" ในส่วนกลาง ก็จะมีการส่ง "เงินทอน" กลับไปให้ผู้บังคับบัญชาของตน ทั้งส่งตรงกลับไปเลย คือหักจากงบที่ได้มาทั้งก้อนแบบดื้อๆ หรือไม่ก็ไปเรียกเงินทอนเอาจาก "องค์กร" หรือ "ประชาชน" ที่เป็นผู้รับงบประมาณ แล้วส่งเป็น "ส่วยเงินทอน" กลับไปยังผู้บังคับบัญชา คุณผู้ชมจะเห็นว่า คนที่ได้ประโยชน์จากการ

ทุจริตรูปแบบนี้ ก็คือ "บิ๊กข้าราชการ" ระดับ "นายๆ" ที่อยู่ในส่วนกลางนั่นเอง

คำถามก็คือ แล้วข้าราชการที่คุมหน่วยงานในระดับภูมิภาค เขาได้อะไร วิธีการโกงของเขา ก็คือการไป "หักหัวคิว" เอากับประชาชนหรือองค์กรที่เป็นผู้รับงบประมาณ เช่น ต้องได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาท ก็ไป "หักหัวคิว" จ่ายจริงแค่ 2,000 บาท หรือ 1,000 บาท อย่างนี้เป็นต้น เงินหัวคิวเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็จะแบ่งกันเข้ากระเป๋าเครือข่ายในระดับจังหวัด อีกส่วนหนึ่งก็จะเก็บไว้เป็น "กองกลาง" เอาไว้ดูแล "นาย" เมื่อ "นาย" ลงพื้นที่ ถามว่าทำไมต้องดูแล "นาย" คำตอบก็คือ ผลงานเหล่านี้ (เรียกว่าผลงานเลยนะ แต่เป็นผลงานของเครือข่ายโกง) ถ้าใครหา "เงินทอน" ส่งนายได้เยอะ ดูแล "นาย" แบบประทับใจ ข้าราชการพวกนี้ก็จะได้รับการโปรโมทขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า จากนั้นก็จะเติบโตไปเรื่อยๆ จนขึ้นไปเป็น "ระดับบิ๊กในส่วนกลาง" แล้วก็สร้างเครือข่ายโกงต่อไปอีก เป็นวัฏจักรการโกงหมุนวนไปแบบนี้
นี่คือแผนประทุษกรรมการโกงในภาพรวมที่ "ล่าความจริง" นำมาอธิบายให้คุณผู้ชมเข้าใจง่ายๆ ก่อน คราวนี้เรามาเจาะลึกลงไปในแต่ละเรื่อง แต่ละกระทรวงกันต่อ ว่ารายละเอียดการโกง เขาทำกันแบบไหน
ทุจริตเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนชายแดนใต้

ลงไปล่างสุดกันก่อน ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่นี้มีโรงเรียนเอกชนนับพันแห่ง แต่ละแห่งจะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนจากรัฐบาล เป็นเงิน 14,000 บาทต่อคนต่อปี แต่โรงเรียนเขาจะมีวิธีโกง ด้วยการแจ้งยอดนักเรียนเกินจริง หรือชื่อซ้ำซ้อนกับโรงเรียนอื่น เรียกว่า "นักเรียนผี" คือมีแต่ชื่อ แต่ไม่ได้มาเรียนจริงๆ ทำให้โรงเรียนได้รับงบอุดหนุนรายหัวเกินจริง

งบอุดหนุนจะแบ่งเป็น 5 หมวด คือ ค่าเล่าเรียน , ค่าหนังสือ , ค่าอุปกรณ์การเรียน , ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผู้เรียน ในส่วนของค่าเล่าเรียนและค่าพัฒนาผู้เรียน ทางโรงเรียนรับไป ส่วนค่าหนังสือ อุปกรณ์การเรียน และเครื่องแบบนักเรียน ต้องจัดซื้อจากห้างร้านภายนอกจึงมีการร่วมมือกับห้างร้านที่เป็นเครือข่าย สร้างหลักฐานเท็จด้วยการซื้อใบเสร็จปลอมจากทางร้าน หรือไม่ก็ทางร้านขาย "ตรายาง" ของร้านให้โรงเรียนไปปั๊มใบเสร็จกันเองเลย

เมื่อทำใบเสร็จปลอมเรียบร้อย ก็นำใบเสร็จนั้นไปเบิกงบอุดหนุนจาก "สช." หรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด ทำให้ได้งบเกินจริง และมี "เงินทอน" แบ่งกันระหว่างโรงเรียนกับข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ขณะที่บริษัทตรวจสอบบัญชี จะเข้ามามีบทบาทในการทำ "บัญชีงบดุลเท็จ" ให้กับทางโรงเรียน เพื่อเป็นหลักฐานปลอม ก่อนส่งให้กระทรวงศึกษาฯตรวจสอบ
นี่คือรูปแบบการทุจริตเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่ชายแดนใต้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ว่าไม่เคยถูกตรวจสอบ แต่เคยมีการตรวจสอบกันไปบ้างแล้วในยุค คสช.นี่แหละ แค่ 3 ปีงบประมาณย้อนหลัง พบโรงเรียนเอกชนเบิกเงินซ้ำซ้อนมากถึง 134 ล้านบาท ที่ร้ายที่สุดก็คือ เงินจำนวนนี้นอกจากจะไหลเข้านอนอุ่นในกระเป๋าของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนหนึ่งยังไหลไปยังเครือข่าย "โจรใต้" นำไปใช้ก่อความไม่สงบรูปแบบต่างๆ ด้วย พูดง่ายๆ คือ ใช้งบรัฐไปทำระเบิด ไปเผา ไปยิงเจ้าหน้าที่ เพื่อต่อต้านรัฐอีกที เข้าทำนอง "จับเสือมือเปล่า" เอาเงินรัฐมาต่อต้านรัฐ ร้ายยิ่งกว่าล่าเสือดำอีกนะคะ
ทุจริตเงินทอนวัด

การ "งาบงบ" แบบ "ปล้นกลางแดด" นี้ ไม่ได้มีแค่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่วัดในพระพุทธศาสนาก็มีเหมือนกัน นั่นก็คือ "เงินทอนวัด" ที่เป็นข่าวดังสะเทือนวงการเมื่อปีที่แล้ว

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทุจริต "เงินทอนวัด" ประกอบด้วย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือ พศ. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด หรือ พศจ. และวัด งบที่เขาโกงกันมี 2 ก้อนใหญ่ๆ และใช้วิธีการไม่เหมือนกัน

ก้อนแรก งบบูรณะปฏิสังขรณ์วัด วิธีการโกงก็คือ พศจ. หรือ "สำนักพุทธฯจังหวัด" จะเข้าไปติดต่อวัดในพื้นที่ ว่าจะจะรับงบบูรณะปฏิสังขรณ์หรือไม่ ถ้ารับ ต้องจ่ายเงินทอนร้อยละ 50-80 ทางวัดฟังแล้วก็คิดว่าได้เงินบ้างยังดีกว่าไม่ได้เลย โดยมากก็จะตอบตกลง (ส่วนใหญ่วัดไม่เกี่ยวกับการทุจริต) จากนั้น "สำนักพุทธฯจังหวัด" จะทำเรื่องเสนอของบไปที่สำนักพุทธฯส่วนกลาง เพื่อจัดสรรงบประมาณให้ในแต่ละปี กระจายลงไปที่สำนักพุทธฯจังหวัด จากนั้น สำนักพุทธฯจังหวัดจะโอนเงินให้วัด แล้วเรียกคืนเงินทอน (อัตราการทอนเฉลี่ยที่ ปปป.ตร.ตรวจสอบพบ สูงถึง 63%) เมื่อได้เงินทอนมาแล้ว กฺ็จะแบ่งกันระหว่าง สำนักพุทธฯจังหวัด กับผู้บริหารสำนักพุทธฯ (งบก้อนนี้ได้รับการจัดสรรปีละ 500 ล้านบาททั่วประเทศ - ถ้าคิดเงินทอน 50% เป็นเงินเท่าไหร่แล้ว ลองคำนวณกันดู)

ก้อนที่สอง เรียกว่า "งบอุดหนุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม" ตัวละครที่เกี่ยวข้อง นอกจาก สำนักพุทธฯในส่วนกลาง , สำนักพุทธฯจังหวัด และวัดเหมือนงบก้อนแรกแล้ว งานนี้ยังมี "พระผู้ใหญ่" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

วิธีการโกง ข้าราชการระดับสูงในสำนักพุทธฯ และพระผู้ใหญ่ จะส่งพระในเครือข่ายไปเป็นเจ้าอาวาส หรือเจ้าคณะในพื้นที่เป้าหมาย จากนั้นในแต่ละปีจะส่งเอกสารของบอุดหนุนเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยอ้างว่าเปิดสอนในวัดในพื้นที่ที่รับผิดชอบ แต่แจ้งยอดนักเรียนเกินจริง (นักเรียนผี - เหมือนโรงเรียนที่ชายแดนใต้) เมื่องบอุดหนุนถูกส่งไปถึงวัด ก็จะมียอดส่วนต่างจากจำนวนนักเรียนที่แจ้งยอดเกินเอาไว้ กลายเป็น "เงินทอน" แบ่งสรรปันส่วนกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องในขบวนการ ที่น่าตกใจก็คือ บางแห่ง บางวัดไม่มีเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมจริงๆ ด้วยซ้ำ เรียกว่านักเรียนผี 100% โรงเรียนก็ยังผี เพราะไม่มีอยู่จริง (งบก้อนนี้แต่ละปีตั้งไว้ถึง 1,200 ล้านบาท)
ทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง (งบคนจน)

ไปดูกันอีกกระทรวงหนึ่งที่กำลังเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้ คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ กระทรวง พม. มีการเปิดโปงการทุจริตเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและคนไร้ที่พึ่ง รวมถึงผู้ติดเชื้อ HIV ตัวละครของเครือข่าย "งาบงบคนจน" นี้ ประกอบด้วย ผู้บริหาร พม. ผู้บริหารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด และปลายทางที่ได้รับผลกระทบจากการโกง คือ คนไร้ที่พึ่ง ผู้มีรายได้น้อย และผู้ติดเชื้อ HIV

วิธีการโกง ผู้บริหาร พม.และกรมพัฒนาสังคมฯ จะตั้งคนของตัวเองลงไปเป็น ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด จากนั้น ผอ.ศูนย์ฯ จะสำรวจจำนวนผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับเงินสงเคราะห์ในพื้นที่ของตน (ทั้งคนไร้ที่พึ่ง ผู้มีได้รายได้น้อย ผู้ติดเชื้อ HIV) จากนั้นส่งจำนวนกลับไปยังกรมพัฒนาสังคมฯ เพื่อทำเรื่องของบประมาณผ่านกระทรวง พม.ในแต่ละปี

เมื่อได้รับการจัดสรรงบมา ก็จัดสรรลงไปตามจังหวัดต่างๆ โดย ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในจังหวัดที่อยู่ในเครือข่ายทุจริต จะส่งงบเป็น "เงินทอน" กลับไปให้ผู้บริหารกระทรวง จากนั้นนำเงินที่เหลือไปแจกให้ผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ "หักหัวคิว" จ่ายไม่เต็ม หรือไม่จ่ายเลยกรณีที่ส่งชื่อปลอมตั้งแต่แรก (คือไม่ใช่คนจนจริง แค่ยืมชื่อมาใช้) เงินที่เหลือจากการ "หักหัวคิว" เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดก็แบ่งกัน และกันส่วนหนึ่งเอาไว้เป็นค่า "ดูแลนาย" เวลาผู้บังคับบัญชาของกระทรวง พม.หรือของกรมฯลงพื้นที่ ใครดูแลดี เงินทอนสูง ก็จะได้ปูนบำเหน็จ ขึ้นเป็นผู้ปกครองนิคมสร้างตนเอง ซึ่ง "ซี" สูงกว่า จากนั้นก็ขยับขึ้นเป็นรองอธิบดี และเข้าไปเป็นผู้บริหารกรมหรือกระทรวงฯ ไปสร้างเครือข่ายโกงวนไปเรื่อยๆ
นี่คือ "วัฏจักรการทุจริตคอร์รัปชั่น" ในรูปแบบ "เงินทอน" จาก 3 โครงการ 3 กระทรวงที่เรานำมาชำแหละให้คุณผู้ชมเห็นชัดๆ ซึ่งจะว่าไปแล้ว ตัวการทุจริตล้วนเป็นข้าราชการซึ่งอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลทั้งสิ้น ฉะนั้นการจะกวาดล้างขบวนการนี้ให้หมดไป จึงอยู่ที่ความจริงจัง จริงใจของรัฐบาล โดยเฉพาะ "รัฐบาล คสช." ที่ประกาศตัวว่าเป็น "รัฐบาลปราบโกง" ก็ต้องวัดใจว่าจะจัดการให้สิ้นซากหรือไม่ ถ้าไม่ทำ หรือปล่อย "ชิลล์ๆ" ไป ก็ไม่แปลกถ้าคนเขาจะคิดว่า มีคนในรัฐบาลนี้ได้ผลประโยชน์อยู่ด้วย

logoline