svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

อยู่อย่าง "พอเพียง" อยู่ได้จริง

03 ธันวาคม 2559
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ย่างเข้าเดือนธันวาคม ยิ่งทำให้ระลึกถึงพ่อหลวงของเราจับใจ จึงอยากนำหลักคำสอนของพระองค์มากล่าวถึงอีกสักครั้งเพื่อสืบทอดหลักการณ์ที่ดีและมีประโยชน์โดยแท้ต่อปวงชนชาวไทยให้คนรุ่นหลังสืบไป...

หลายๆ คนคงคุ้นเคยกันดีกับคำพูดว่า "อยู่อย่างพอเพียง"หรือ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency EconomyPhilosophy)"อันเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่9 ทรงพระราชทานให้กับพสกนิกรชาวไทยนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตของแต่ละคนแต่บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่าหลักปรัชญานี้คืออะไร บ้างอาจรู้สึกว่าการจะปฏิบัติตามนั้นทำได้ยากบ้างก็ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มอย่างไรดีบทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจทั้งหมดให้ว่าเป็นอย่างไรและเราจะสามารถนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง

"ความพอเพียง"ในความหมายของพ่อหลวงนั้น หมายถึง การดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาทใช้ชีวิตบนความไม่ฟุ่มเฟือยโดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผลและการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ตนเอง ต่อการกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในตลอดจนการใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต โดยหลักสำคัญ คือ สติปัญญา ความอดทน ความซื่อสัตย์สุจริต และความเพียรซึ่งเป็นรากฐานแห่งความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง

อยู่อย่าง "พอเพียง" อยู่ได้จริง



ดังนั้น ความพอเพียง จึงประกอบด้วยคุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ 2 เงื่อนไขดังนี้

ความพอประมาณ

คือ ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยเกินไปโดยต้องไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

ความมีเหตุผล

คือ การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพึงพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว

คือการเตรียมตนเองให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

ทั้งนี้ นอกจากคุณลักษณะสำคัญทั้ง 3 ประการแล้วยังมีเงื่อนไขในการตัดสินใจและดำเนินกิจการต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงโดยยึดหลักพื้นฐานจากความรู้และคุณธรรม อยู่ 2 ข้อด้วยกัน ดังนี้

เงื่อนไขความรู้

อันประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านและความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผนและเพิ่มความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

เงื่อนไขคุณธรรม

อันประกอบด้วย ความตระหนักในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร และการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะในหมู่คนจนหรือเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประชาชนทุกระดับไม่ว่าจะรวยจน ทุกคนสามารถทำได้เหมือนกัน เพียงมองหาความ "พอดี"ที่เหมาะสมกับเรา เหมาะสมในที่นี้ คือ สมกับฐานะและกำลังของเรา โดยที่ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นหรือก็คือ ความพอประมาณตามอัตภาพของแต่ละบุคคลนั่นเอง

อยู่อย่าง "พอเพียง" อยู่ได้จริง

หลายๆคนอาจจะเข้าใจหลักความพอเพียงนี้ได้มากขึ้นแล้ว แต่อาจยังไม่รู้ว่าจะนำมาประยุกต์ใช้กับตนเองอย่างไรลองเริ่มต้นจากการสำรวจตนเองแล้วปรับใช้ในด้านต่างๆดังนี้

1. ด้านเศรษฐกิจ ให้รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว ไม่ลงทุนเกินขนาดลดละความฟุ่มเฟือยในการใช้ชีวิต ควรคิดและวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ขาดทุนหรือมีหนี้สินเกิดขึ้นในภายภาคหน้า

2. ด้านจิตใจ มีจิตสำนึกที่ดี มีจิตใจที่เข้มแข็งมีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนละเลิกการแก่งแย่งผลประโยชน์และการแข่งขันทางการค้าแบบต่อสู้กันอย่างรุนแรง

3. ด้านสังคม มีความซื่อสัตย์ ประกอบอาชีพสุจริตแบ่งปันความรักและสามัคคีกันในสังคม รู้จักอดออมสะสมเงินสำรองไว้ใช้เลี้ยงชีพในอนาคตเมื่อยามแก่เฒ่า

จะเห็นได้ว่าหลักการอยู่อย่างพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้นั้นสามารถสร้างความสุขที่ยั่งยืนได้ทั้งต่อตนเองและประเทศชาติ โดยเน้นให้ประชาชนดำรงตนอยู่ในทางสายกลางตามหลักพุทธศาสนาและที่สำคัญคือต้องมีสติและไม่ประมาท อีกทั้งในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆให้พิจารณาด้วยเหตุและผล คิดทบทวนอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจปฏิบัติการงานใดๆซึ่งเราทุกคนสามารถน้อมนำหลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินชีวิตความสัมพันธ์ต่อผู้อื่นในสังคม รวมถึงเรื่องการเงินด้วย ควรวางแผนการใช้จ่ายและการเก็บออมอย่างมีระบบ ในด้านการลงทุนก็ควรคิดวิเคราะห์ให้รอบคอบและไม่ประมาท เท่านี้เราก็สามารถสร้างความสุขอย่างยั่งยืนได้ไม่ยาก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

มูลนิธิชัยพัฒนา

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

logoline