svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ กำลังถูกพลิกโฉมอย่างรุนแรง

08 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นับตั้งแต่มีการประมูลคลื่นความถี่ 3G ครั้งแรกๆ ในช่วงปี 2000 ในหลายประเทศทั่วโลกเป็นต้นมา จนทำให้เกิดธุรกิจดิจิทัลรูปแบบใหม่มาทำลายล้างธุรกิจรูปแบบเดิมไปมากมาย เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมสื่อที่ถูก Over-the-top (OTT) เช่น facebook และ Google มาทำลายล้างอุตสาหกรรมสื่อแบบดั้งเดิม


ตามมาด้วย อุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ลงทุนค่าการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่เป็นจำนวนเงินมหาศาล แต่กลายเป็นว่า บริษัท OTT ที่ไม่ได้จ่ายค่าคลื่นความถี่เลย กลับมาเกาะอยู่บนแพลตฟอร์มโทรคมนาคมด้วยผลกำไรมหาศาล
ปรากฎการณ์พลิกผัน (Distuption) ได้ดำเนินมาด้วยอัตราเร่งจนกระทั่งเกิดการพลิกผันที่หนักหน่วงด้วยความเร่งที่สูงกว่า คือหลังจากการประมูลคลื่นความถี่ 4G ในปี 2009 จนทำให้นับจากนั้นมา เทคโนโลยีต่างๆ หลากชนิดถูกเชื่อมโยงด้วยเทคโนโลยี mobile broadband 4G 
จนทำให้เกิดขีดความสามารถอย่างก้าวกระโดด อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน จนนักยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ได้คาดการณ์ว่า จะเกิดการพลิกผันในอุตสาหกรรมต่างๆ จนองค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจจะต้องออกจากสนามการแข่งขันไปอย่างมากมาย ภายใน 5-10 ปีนี้
บริษัทด้านโลจิสติกส์เป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีการปรับใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และการหลอมรวมของเทคโนโลยี mobile+Internet+IoT+AI+Big data ให้มีส่วนในการจัดการ และใช้ในการติดตามกระบวนการทำงานต่างๆ โดยเริ่มต้นจากอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่คนขับรถขนส่งใช้ในการส่งข้อมูลต่างๆ และ GPS เพื่อช่วยให้กระบวนการต่างๆ ง่ายขึ้น และรวดเร็วขึ้น 
จนอาจทำให้บริษัทที่ทำกระบวนการ Digital transformation ช้าเกินไป ตามการ disruption ในอุตสาหกรรมนี้ไม่ทัน จนต้องออกจากตลาด หรือโดนควบรวมกิจการไปในที่สุด
จากต้นทุนการเชื่อมต่อที่ต่ำลงประกอบกับเทคโนโลยีของอุปกรณ์ที่สามารถแสดงตำแหน่งที่อยู่ได้ ทำให้เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคใหม่ ช่วยให้บริษัทโลจิสติกส์สามารถก้าวไปไกลกว่าเพียงแค่สามารถทำให้กระบวนการที่มีอยู่ดีขึ้นได้เท่านั้น แต่ยังทำให้สามารถติดตามได้ทั้งยานพาหนะสำหรับขนส่งและสินค้าที่ส่งได้อีกด้วย 
ในยุคแรกของกระบวนการอัตโนมัติ บริษัทโลจิสติกส์สามารถติดตามการจัดส่งในแต่ละเที่ยวได้ต่อเมื่อถึงจุดหมายในแต่ละที่แล้ว ซึ่งก็คือเมื่อสินค้าส่งถึงท่าเรือ จุดขนส่ง หรือถึงมือลูกค้าแล้ว แต่ในยุคดิจิทัลนี้ยังสามารถติดตามสถานะของพัสดุได้ตลอดทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งข้อมูลในกระบวนการที่เก็บไว้ใน Big data นี้ ไม่เพียงแต่ยกระดับการให้ข้อมูลแก่ลูกค้าเท่านั้น  แต่ยังช่วยให้สามารถติดตามสถานะของกระบวนการได้ และสามารถทำให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกด้วย
เทคโนโลยีโทรศัพท์ smartphone และ sensor มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการขนส่งทั้งหมด ตั้งแต่การกำหนดเวลารับสินค้า การจัดเส้นทางจัดส่ง และเวลาที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า เพื่อให้การจัดส่งมีความยืดหยุ่นและจัดการได้ ด้วยความสามารถในการปรับเปลี่ยนตารางเวลา รวมถึงเส้นทางการจัดส่ง ในขณะจัดส่งนั้น จะสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้กับลูกค้าและธุรกิจต่างๆ และทำให้บริษัทขนส่งสามารถติดตามได้ทั้งกระบวนการ 
ซึ่งในอดีตไม่เคยทำได้มาก่อน สำหรับธุรกิจที่ต้องการเพิ่มการควบคุมห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะนั้น จะเป็นการเปิดโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนใหม่ระหว่างผู้ให้บริการขนส่งและลูกค้า ดังนั้นจึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการรักษาลูกค้าไว้ให้ได้
ความสามารถในการจัดการระบบขนส่งและโลจิสติกส์ที่ดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพในการรวมกระบวนการและข้อมูลภายนอกเข้ากับกระบวนการที่มีอยู่อย่าง realtime จะช่วยให้สามารถนำเสนอตารางการส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น และลดต้นทุนได้อย่างมาก รวมทั้งสามารถสร้างบริการใหม่ที่ปรับแต่งให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้นด้วย ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไม่เพียงแต่สามารถให้ข้อมูลแบบทันที (realtime) จากความชาญฉลาดของเครือข่ายการขนส่งได้เท่านั้น แต่ยังสามารถให้คำแนะนำจากปัจจัยอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้บริการ จากการใช้ cell site หรือ GPS หรือเทคโนโลยีอย่าง Low Energy Sensor เป็นต้น 
อย่างไรก็ตาม ยังมีการนำข้อมูลปัจจัยต่างๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นด้วย อย่างเช่น สภาพอากาศและการจราจร เป็นต้น
NFC และ BLE กำลังทำให้ผู้ค้าปลีกสามารถเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กลยุทธ์เช่นเดียวกันนี้สามารถใช้และควรใช้ในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เช่นเดียวกับบริการข้อมูลที่ส่งตรงถึงอุปกรณ์เคลื่อนที่ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นลูกค้าและพนักงาน ที่ทำให้พวกเขามีประสบการณ์ที่ดีขึ้นและเคลื่อนย้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
ดังนั้นช่องทางการสื่อสารและแอพพลิเคชันเดียวกัน จะสามารถใช้เพื่อแนะนำและส่งเสริมบริการเพิ่มเติมที่อาจเป็นที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นบริการอาหารและเครื่องดื่มขั้นพื้นฐาน หรือการให้บริการที่พักและการค้าปลีก
โดยทั่วไปแล้วผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ จะมีสินทรัพย์ที่มีค่ามหาศาลสองประการในเศรษฐกิจดิจิทัล นั่นก็คือ "เวลา" และ "ข้อมูล" ซึ่งทำให้เกิดบริการที่สามารถสร้างความแตกต่างให้แก่ประสบการณ์ของลูกค้า และเพิ่มรายได้ ด้วยการประยุกต์ใช้ Data Analytic, IoT, AI และ Blockchain ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่ควรละเลย 
เพราะอุตสาหกรรมโลจิสติกส์แบบดั้งเดิมที่ขยับตัวช้า อาจจะถูกบริษัทที่ต้นทุนต่ำกว่า, ชาญฉลาดในการใช้ทรัพยากรที่ดีกว่า, realtime กว่า, ยืดหยุ่นกว่า และสร้างกระบวนการอัตโนมัติได้ดีกว่า เข้ามาท้าทายได้ (อย่างรวดเร็ว) จนจะต้องออกจากสนามแข่งขันได้เช่นกัน

Referencehttps://www.forbes.com/sites/samsungbusiness/2014/11/11/tracking-everything-everywhere-how-the-internet-of-things-is-changing-the-logistics-industry/#1e02c1f51c14------------------พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณรองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมwww.เศรษฐพงค์.comLINE id : @march4G

logoline