svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ญี่ปุ่น-ไทย ร่วมกันขยายทางไฮสปีด เชื่อมอีอีซี-อยุธยา

06 มิถุนายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอให้ไทย เปิดเส้นทางรถไฟฟ้าไฮสปีด เชื่อมต่อ 3 สนามบินถึงอยุธยา รองรับโลจิสติก ระหว่างเขตเศรษฐกิจอีอีซี

"สมคิด"เผยญี่ปุ่นยื่นข้อเสนอขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินถึงอยุธยา หวังรองรับโลจิสติกส์ระหว่างเขตเศรษฐกิจอีอีซี และอุตสาหกรรมในอยุธยา ด้านทางฝัง ไจก้า พร้อมสนับสนุนเงินกู้ ขณะที่คมนาคมชี้เป็นโอกาสดันรถไฟความเร็วสูงภายใต้กรอบความร่วมมือไทยญี่ปุ่นเดินหน้าเร็วขึ้น ขณะบีโอไอคาด4บริษัทเป้าหมายในญี่ปุ่น แสดงความสนใจลงทุน คาดยื่นคำขอปีนี้ มีมูลค่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและคณะอยู่ระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยคาดหวังไว้ว่าการเยือนครั้งนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในนโยบายพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ (อีอีซี)
นายสมคิด ได้กล่าวไว้ว่า ทางญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอให้ไทยศึกษาการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูง หรือ (ไฮสปีดเทรน) ที่เตรียมพัฒนาจากโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง เชื่อมต่อ 3 สนามบินได้แก่ (สนามบินอู่ตะเภา-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง) และเชื่อมข้อเสนอขอขยายเส้นทางมาสิ้นสุดถึงสถานอยุธยา เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่เขตอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นหลายแห่ง หากมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมจากพื้นที่อีอีซีเข้ามาจะเพิ่มโอกาสด้านการลงทุน
นายสมคิด กล่าวว่าได้มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ไปศึกษาความคุ้มค่ากับโครงการหากจะต้องขยาย ซึ่งในส่วนของทางญี่ปุ่นยังยื่นข้อเสนอถึงการสนับสนุน เนื่องจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่นหรือ (ไจก้า) มีความพร้อมที่จะสนับสนุนเงินกู้หากไทยสนใจดำเนินการก่อสร้าง
โดย นายสมคิด กล่าวว่าการเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ ยังมีการหารือร่วมกับบริษัท ฮิตาชิ (ด้านรถไฟ) ในประเด็นของการผลิตระบบรางรถไฟไทยด้วยเช่นกัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอดังกล่าวมาช่วงสัปดาห์ก่อน ซึ่งให้เหตุผลถึงโอกาสในการขยายการลงทุนเชื่อมต่อพื้นที่อุตสาหกรรมทั้งสองแห่ง โดยจากการประเมินเบื้องต้นยังเชื่อว่าหากโครงการนี้เกิดขึ้นตามที่ญี่ปุ่นเสนอ ก็จะช่วยผลักดันให้โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่เป็นความร่วมระหว่างรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น จากปัจจุบันที่ยังติดปัญหาทางเทคนิคเรื่องของการใช้พื้นที่ระบบรางช่วงสถานีดอนเมือง
"ตอนนี้โครงการไฮสปีดเทรนไทย-ญี่ปุ่น ยังติดปัญหาเรื่องพื้นที่รางรถไฟช่วงดอนเมือง เพราะตรงนั้นค่อนข้างแออัด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีหลายโครงการใช้ทางร่วมกัน ทั้งในส่วนของรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นความร่วมมือไทย-จีน ด้วยเช่นกัน จึงเชื่อว่าหากมีการขยายเส้นทางรถไฟตามที่ญี่ปุ่นยื่นเสนอมานี้ อาจทำให้โครงการไทย-ญี่ปุ่น เดินหน้าเร็วขึ้นด้วย เพราะการก่อสร้างระบบรางเชื่อมอีอีซีจะเดินหน้าได้ก่อน หลังจากนั้น โครงการกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ก็สามารถใช้รางเชื่อมต่อไปได้ทันที"
ด้านนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ กรรมการและรักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ร.ฟ.ท. ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 ท่าอากาศยานเรียบร้อยแล้ว โดย ร.ฟ.ท. จะต้องรายงานผลการศึกษาเบื้องต้นให้ผู้บริหารโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) รับทราบภายในสิ้นเดือนนี้
อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวจำกัดขอบเขตแค่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภาเท่านั้น เพราะคณะกรรมการอีอีซียังไม่มีคำสั่งให้ทาง ร.ฟ.ท. ศึกษารถไฟความเร็วสูงเชื่อม จ.อยุธยา ตามข้อเสนอของญี่ปุ่นแต่อย่างใด
"สิ้นเดือนนี้จะรู้เรื่องกรอบวงเงินและรูปแบบการลงทุน โดยตอนนี้การประมูลรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง และส่วนต่อขยายเส้นรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท-ดอนเมือง ก็รอผลการศึกษาชุดนี้ก่อนว่า จะให้ดำเนินการยังไงต่อไป" นายอานนท์กล่าว 
นายสมคิด ยังกล่าวว่า ได้พบปะกับผู้บริหารของบริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่น 4 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี3รายยังไม่ได้ลงทุนในไทย โดยรายละเอียดการหารือได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งภายหลังจากการหารือเอกชนทั้ง 4 รายแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น หลังจากอยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกประเทศที่จะลงทุนภายนอกญี่ปุ่น
สำหรับ3บริษัทที่ยังไม่เคยลงทุนในไทย หลังการหารือพบว่ามีความเป็นไปได้ประมาณ90% ที่จะลงทุนในไทยแน่นอน ได้แก่ บริษัท สไปเบอร์ อิงก์ ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาผลิตวัสดุชีวภาพ และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนระหว่าง2ประเทศ ได้แก่ สหรัฐ และไทย เพื่อผลิตเส้นใยชนิดพิเศษ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อากาศยาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีบริษัท คูราเรย์ จำกัด บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ สนใจร่วมทุนกับ ซูมิโมโต คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายทั่วโลกของญี่ปุ่นและบริษัท พีทีที โกลบอล จำกัด (พีทีทีจีซี) ในเครือ ปตท. เพื่อลงทุนในไทยด้านผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และพลาสติกชนิดพิเศษ รวมทั้ง บริษัท ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วน และการซ่อมแซมอากาศยาน สนใจที่จะลงทุนในไทยเพื่อผลิตรถยนต์ที่มีระบบความปลอดภัยสูง และไทยยังได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนด้านการผลิตชิ้นส่วน และการซ่อมแซมอากาศยานในอีอีซี
ส่วนบริษัทเคียวเซรา คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซรามิก อิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และเครื่องมือแพทย์ของญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันร่วมมือกับบริษัท เอสซีจี จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินธุรกิจและมีแผนใช้ไทยเป็นฐานขยายธุรกิจ เพื่อทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังมีแผนลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายของไทย จึงได้เชิญชวนให้มาลงทุนในอีอีซีเช่นเดียวกัน 
"มีความเป็นไปได้มากกว่า90% ที่ทั้ง4บริษัทจะลงทุนในอีอีซี เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน และมีศักยภาพมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยเฉพาะเมื่อเข็มขัด2เส้นของจีนพาดผ่าน จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และมีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแน่นอน ดังนั้นการเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ จึงจะเน้นการเชิญชวน และสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในอีอีซี"
ขณะเดียวกัน ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะจัดงานสัมมนาใหญ่ เพื่อชี้แจงให้บริษัทญี่ปุ่นรับทราบข้อมูลของอีอีซี รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน ซึ่งต้องรีบจัดงานวันที่ 7 มิ.ย.นี้ ก่อนที่เวียดนามจะจัดงานดึงดูดการลงทุนที่ญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังได้สั่งการให้บีโอไอ เร่งเดินสายประชาสัมพันธ์อีอีซีไปทุกจังหวัดของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเมืองใหญ่ ที่มีอุตสาหกรรม เช่น คันไซ ฟูกูโอกะ 
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับทั้ง4บริษัท คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนและยื่นคำขอกับบีโอไอภายในปีนี้ ซึ่งจะมีเงินลงทุนรวมกว่า2.5หมื่นล้านบาท หากโครงการเกิดขึ้น จะช่วยสนับสนุนการผลิตและสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อากาศยาน และเครื่องมือแพทย์
"นักลงทุนญี่ปุ่นมีข้อเสนอเรื่องการอำนวยความสะดวก อย่างการทำวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งฝ่ายไทยได้ชี้แจงถึงข้อกฎหมายพิเศษที่ออกมาเพื่อปลดล็อกแล้ว ส่วนประเด็นของข้อเสนอยืดอายุการขอรับสิทธิพิเศษด้านการลงทุน ที่จะหมดเขตยื่นภายในปีนี้ บีโอไอรับข้อเสนอดังกล่าวไว้และจะดำเนินการหารือร่วมกับบอร์ดอีกครั้ง แต่ปัจจุบันบีโอไอมีการพิจารณามาตรการสนับสนุนนักลงทุนเป็นกรณีพิเศษอยู่แล้ว ซึ่งจะพิจารณาตามรายละเอียดธุรกิจหากช่วยส่งเสริมศักยภาพของไทย"

logoline