svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ปลดออก! ข้าราชการทุจริตฮั้วประกวดราคา

06 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตรัง ปลดออกข้าราชการในสังกัดเทศบาลนครตรัง และสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดตรัง หลัง ปปช.ชี้มูลความผิด กระทำการทุจริตผิดวินัยร้ายแรงการพิจารณาการประกวดราคางานจ้างโครงการเคเบิลใต้ดินถนนกันตัง (ครั้งที่ 2) ของเทศบาลนครตรัง


วันที่ 6 มิ.ย.61 จากกรณีกระแสข่าวที่มีการปลดออกข้าราชการในสังกัดเทศบาลนครตรัง และสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดตรัง หลังถูก ปปช.ชี้มูลความผิดว่ากระทำการทุจริตผิดวินัยร้ายแรงเกี่ยวกับการพิจารณาการประกวดราคางานจ้างปรับภูมิทัศน์ถนนกันตัง - ถนนห้วยยอดหรือโครงการเคเบิลใต้ดินถนนกันตัง (ครั้งที่2)ของเทศบาลนครตรังนายสุเทพ มลสวัสดิ์ ท้องถิ่นจังหวัดตรัง กล่าวในฐานะกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี 2546 โดยเทศบาลนครตรัง ได้มีการประกาศประกวดราคาจ้างเหมาปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนกันตัง ถนนห้วยยอด รวมทั้งหมด 3 ครั้ง โดยกำหนดราคากลางจำนวน 29,100,000 บาท มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย 1.นางพรรณี เกียรติกุล ปลัดเทศบาล/รักษานายกเทศมนตรีนครตรัง (เกษียณอายุราชการ) 2.นายวิจักษ์ วีระชาญชัย หัวหน้าฝ่ายควบคุมการก่อสร้าง เทศบาลนครตรัง 3.นายพูนพงษ์ หิรัญชุณหะ รักษาการ ผอ.กองวิชาการ เทศบาลนครตรัง 4.นายประทีป วงษ์กรเชาวลิต วิศวกรโยธา 7 เทศบาลนครตรัง 5.นายสุวัฒน์ พร้อมเพรียง วิศวะกร 5 สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดตรัง 6.นายจำรัส รัตนบุรี ตัวแทนชุมชนกะพัง(เสียชีวิต) 7.นายณรงค์ จันทรศาล ตัวแทนชุมชนวิเศษกุล(เสียชีวิต)



โดยครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 มีการยกเลิกการประกวดราคา เนื่องจากมีการผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนเพียงรายเดียว และผู้ยื่นซองประกวดราคาเพียงรายเดียวตามลำดับและเปิดให้มีการประกวดราคาครั้งที่ 3 ผลได้บริษัท เด็มโก้ ชนะการประกวดเป็นคู่สัญญา ด้วยจำนวนเงิน 28,500,000 บาท ทั้งนี้ในการประกวดราคาครั้งที่ 2 มีผู้เสนอยื่นซองประกวดราคาทั้งหมด 8 ราย แต่ในที่นี้ถูกคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ตัดสิทธิการประกวด เนื่องจากขาดคุณสมบัติ 7 ราย เพราะมีผลงานไม่ครบหรือไม่มีรายละเอียดตามกำหนดTOR(ขอบเขตของงานที่จะเสนอรราคา) รวมทั้งห้างหุ้นส่วน รัตนานุพัชร ซึ่งเสนอวงเงินก่อสร้าง จำนวน 27,440,000 บาท ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องร้องสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และ ปปช.ดังกล่าว 



ทั้งนี้ ปปช.ได้พิจารณาแล้วได้ชี้มูลความผิดว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาทั้ง 5 คน กระทำการทุจริต เข้าข่ายฮั๊วประมูลเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการบางราย ซึ่งจะมีความผิดทางอาญา นอกจากนั้นในส่วนของข้าราชการที่กระทำการทุจริตต่อหน้าที่โทษฐานความผิดร้ายแรง ตามมติ ครม.จะมี 2 กรณี คือ ต้องไล่ออก หรือปลดออกเท่านั้น 



ในที่นี้ทางเทศบาลนครตรัง ได้เสนอความเห็นไล่เห็นควรไล่ออกข้าราชการในสังกัดเทศบาลนครตรัง ที่ยังปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด คือ นายวิจักษ์ กับนายพูนพงษ์ จากนั้นได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด (ก.ท.จ.ตรัง)พิจารณาลงความเห็นด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ คือ 11 ต่อ 2 เห็นควรปลด เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างส่งมติ ก.ท.จ.ไปให้เทศบาลนครตรัง ทั้งนี้เป็นสิทธิของผู้ที่ถูกลงโทษสามารถร้องศาลปกครองได้



ด้านนายศุภโชค วงษ์มณฑา ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง กล่าวว่า เช่นเดียวกับ นายสุวัฒน์ พร้อมเพรียง วิศวะกร 5 สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จังหวัดตรัง ซึ่งเข้าไปเป็นหนึ่งคณะกรรมการพิจารณาคุณสมบัติการประกวดราคา ปปช.ก็ชี้มูลว่า มีความผิดเนื่องจากไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางราย ผิดวินัยร้ายแรง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ได้พิจารณาโทษแล้วให้ปลดออกเช่นกัน



นายวสันต์ ถนอมทรัพย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า มูลเหตุเกิดจากที่เทศบาลจัดให้มีการประกวดราคา ซึ่งทั้ง 5 คน เป็นคณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ทั้งประธาน รองประธาน ส่วนข้าราชการสังกัดการไฟฟ้าในฐานะเป็นกรรมการร่วมในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการไฟฟ้า ก็มีการประกวดราคา ครั้งแรกมีคนยื่นซอง 7 ราย กรรมการพิจารณาก็บอกว่า มีผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนเพียงรายเดียว ก็เห็นควรยกเลิกการประกวด เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ครั้งที่ 2 มีผู้ยื่นซองประกวดราคาเพียงรายเดียว ก็มีการยกเลิกประกวดอีก และครั้งที่ 3 ทั้งนี้ประเด็นที่ถูกกล่าวหาคือ คณะกรรมการประกวดราคาตัดผู้ยื่นซองประกวดราคา โดยชี้ว่า ขาดคุณสมบัติในบางประเด็น ตามทีโออาร์ 


ประเด็นนี้เอง ปปช.มองว่า คณะกรรมการประกวดราคาวินิจฉัยผิดว่าผู้ประกอบการรายหนึ่งขาดคุณสมบัติ ซึ่งปปช.มองว่า กรรมการใช้ดุลยพินิจแล้ว ทำให้เขาขาดคุณสมบัติ และยังก่อให้เกิดการเสนอราคาที่ไม่เป็นธรรม เชื่อว่ามีการมองประเด็นเดียว จึงจบแค่คณะกรรมการที่เสนอผู้มีอำนาจ / ผู้บริหารก็ลงนามเห็นชอบตามคณะกรรมการ 


ดังนั้นผู้บริหารท้องถิ่น จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องเอาผิดด้วย ฉะนั้นคณะกรรมการผิด เพราะวินิจฉัยตัดคุณสมบัติของผู้ยื่นซองบางรายออกไปเอื้อบางราย ปปช.จึงชี้มูลมาว่า เป็นการกระทำที่ทุจริต ก็จะเข้าความผิดวินัยร้ายแรง ทั้งนี้ประเด็นผิดวินัยร้ายแรง มีบทลงโทษ 2 ประการคือ ปลดออก กับไล่ออก ทั้งนี้ส่วนของการไฟฟ้า ก็ปลดออก ส่วนของเทศบาลนครตรัง มีความเห็นให้ไล่ออก แต่กรรมการเทศบาลมีความเห็นชอบให้ปลดออก

logoline