svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

คสช.กับทฤษฎีเศรษฐกิจ "น้ำซึมบ่อทราย" ถามตรงๆ คนจนหมดประเทศ ปี 61 จริงหรือ กับ "ดร.เดชรัต สุขกำเนิด"

31 ธันวาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

น้ำซึมบ่อทราย หมายถึงทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการผลิตหรือมีความสามารถในการแข่งขันเข้มแข็งก่อนแล้วเชื่อว่าจะกระจายผลประโยชน์สู่คนชนชั้นกลางและคนจนในที่สุด


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นบวก รัฐบาลค่อนข้างดีใจที่เศรษฐกิจเติบโต แต่หากดูรายได้ของคนรวย 20% แรกของประเทศก็จะพบว่า คนรวยกลุ่มนี้ มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในความหมายของภาพรวม เพียงแต่ว่าในการกระจายตัวของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ปัญหา คือเศรษฐกิจที่โตขึ้น ตกอยู่กับคนที่รวยที่สุดใน 20% แรกเป็นหลัก แต่ว่าคนอีก 40 % สุดท้ายกลับแย่ลง ทีมข่าวคุณภาพชีวิต เนชั่นทีวี ขอคุยประเด็นนี้ กับ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

นโยบายของรัฐฯที่ผ่านมาเข้าไปช่วยเหลือคนจนอย่างไร ?

นโยบายของรัฐพยายามลงไปที่คนจน แต่ว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ลงไปในลักษณะของเพิ่มรายได้หรือเพิ่มโอกาส  แต่ไปในลักษณะของการช่วยเหลือเยียวยา เช่น การลดค่าใช้จ่ายผ่านบัตรผู้มีรายได้น้อยอย่างนี้เป็นต้น แต่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่แท้จริงจะเกิดมาจาก 3 อย่างด้วยกันคือ 1. มีรายได้หรือค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น  2. มีประสิทธิภาพหรือความสามารถในการผลิตดีขึ้น และ3. มีโอกาสใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น การศึกษาหรือการกระจายการถือครองที่ดิน ถือครองทรัพย์สิน เป็นต้น แต่ว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้ดำเนินการในฝั่งรายได้มากนัก แต่เป็นในลักษณะของการช่วยเหลือคนจนในการจับจ่ายใช้ส้อยมากกว่า

คิดว่าทำไม คนรวย จึงรวยขึ้น ?

ผมคิดว่ามี 2 ประเด็นหลัก คือประเด็นแรก รัฐบาลเชื่อในเรื่องของทฤษฎี  Trickle Down Effect หรือที่เราอาจจะเรียกว่า น้ำซึมบ่อทราย หมายถึงทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการผลิตหรือมีความสามารถในการแข่งขันเข้มแข็งก่อนแล้วเชื่อว่าจะกระจายผลประโยชน์สู่คนชนชั้นกลางและคนจนในที่สุด และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือนโยบายที่ช่วยคนจนในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา มักจะถูกนิยามว่าเป็นนโยบายที่ทำขึ้นมาเพื่อหาเสียง ให้ได้คะแนนนิยมทางการเมือง ในขณะที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาบนพื้นฐานของการไม่เห็นด้วยในแนวทาง หรือวิธีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ก็อาจจะมีความลังเล ในการดำเนินนโยบายบางอย่าง ที่อาจจะทำให้ถูกตั้งคำถามว่า ทำนโยบายที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่ 

ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการช่วยเหลือ ในเรื่องของสินค้าเกษตรเราจะเห็นว่ารัฐบาลจะรีรอเสมอก็เลยทำให้ ราคาสินค้าเกษตรหลายช่วงต่ำลงไป เช่นราคาข้าวเมื่อปลายปีที่แล้ว จริงๆ ช่วยภายหลังจากการมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้ว หรือราคายางเมื่อกลางปีนี้ และล่าสุดก็คือราคาปาล์มน้ำมัน โดยการช่วยเหลือของรัฐบาล จะไม่ทำเชิงรุกเพราะว่าไม่อยากจะให้เห็นเป็นการอุดหนุนคนจนเพื่อซื้อเสียงสร้างคะแนนนิยม แต่พอมาทำเชิงรับในหลายครั้งกลับกลายว่าเป็นทำช้าไป ซึ่งเป็นในตอนที่ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ขายออกไปแล้ว  เมื่อผลผลิตขายออกไปแล้วแม้ว่าราคาช่วงหลังจะกระเตื้องขึ้น แต่ผลผลิตออกไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเรามาคำนวณเป็นรายได้ ก็คือทำให้ได้รายได้น้อยลงไปอย่างน่าเสียดาย นอกจากนี้เรื่องค่าจ้างก็ รัฐบาลหรือผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลก็มีการแสดงความเห็น ในเรื่องของ 300 บาท ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลพยายามไม่เพิ่มค่าจ้าง จึงทำให้เกิดปัญหาค่าจ้างที่แท้จริง เป็นลบ

น้ำซึมบ่อทรายเป็นทฤษฎีทางเศรษฐกิจอย่างไร อยากให้ขยายความ ?

มีมาตั้งแต่ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ คือทฤษฎีที่บางคนก็จะเรียกว่า Growth pole ซึ่งก็คือมีจุดที่เป็นเสาหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือการทำเสาหลักตรงนี้ให้เข้มแข็ง อย่างเช่นในยุคของพลเอกเปรม ก็เชื่อว่าทำอีสเทิร์นซีบอร์ด ให้เข้มแข็งก่อน และถ้าหากเข้มแข็งแล้ว คนก็จะเริ่มมาลงทุนตรงนั้นก็จะทำให้มีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ในส่วนอื่นๆของประเทศก็จะดีตามมา

มีข้อโต้แย้งทฤษฎีนี้ไหม?

ข้อโต้แย้งอย่างในทฤษฎีนี้ ก็คือ ถ้าเราเปรียบเทียบ หรือจำลองภาพการเทน้ำ คนที่เชื่อทฤษฎีนี้ก็คือคนที่เทน้ำลงในแก้วใบบนสุด พอแก้วไปบนสุดเต็ม น้ำก็จะค่อยๆไหลลงสู่แก้วใบกลางและใบล่างในที่สุด แต่คนที่แย้งในทฤษฎีนี้คือ ถ้าหากแก้วใบด้านบนไม่ได้อยู่นิ่ง ในทางเศรษฐกิจหากแก้วใบบนสุดเต็มแล้ว กลับกลายขยายตัว เพราะฉะนั้นเทไปเท่าไหร่ก็อยู่แต่ในใบบนสุด ส่วนใบหลังๆก็จะได้รับน้ำน้อย

คงอยู่จิตสำนึกนายทุน ?

คงอยู่ที่กลไกการตลาดมากกว่า คือการควบคุมว่าจะโตได้เท่าไร ถ้าเราเชื่อเรื่องน้ำซึมบ่อทรายจริงก็อย่าให้แก้วมันโตขึ้น แต่ถ้าหากมองว่า ไม่เป็นไรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกเสรี ซึ่งในความเป็นจริงแก้วไม่ใช่แก้ว แต่กลับเป็นคน หรือบริษัทก็คือธุรกิจ  เพราะฉะนั้นไม่มีลิมิตแก้วไว้แค่นั้น เมื่อได้น้ำเข้ามา ก็พยายามจะขยายแก้ว ถ้าหากเรามีมาตรการที่จะเข้าไปกำกับควบคุมให้การขยายแก้ว เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ทฤษฎีน้ำซึมบ่อทราย ก็จะเป็นจริงได้ แต่ถ้าหากเราไม่เชื่อในทฤษฎีนี้เราก็จะต้องเติมน้ำ ในหลายๆ จุด

คิดว่า ทุกวันนี้เป็นอย่างที่อาจารย์พูดไหม ที่ว่าแก้วใบบนขยายตัว  ?

ตัวเลข 20% ที่รวยจริงๆ ก็เป็นตัวอย่าง หรือสินค้าเกษตรบางตัวอย่าง เช่นเดิมที ฟาร์มหมูขนาดใหญ่เมื่อย้อนไป 20 ปีที่แล้ว มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 25 % ปัจจุบันส่วนแบ่งทางการตลาดมีเพียง 6-7 % ก็แปลว่ารายใหญ่ครอบครองไปเกือบหมด  รายเล็กก็หายไป เพราะฉะนั้นก็เป็นในลักษณะของกลไกทางการตลาด ที่แก้วใบใหญ่ไม่อยู่นิ่ง เมื่อมันใหญ่ ก็ขยายเพิ่มขึ้น

อยากให้ประเมินในปี 2561เศรษฐกิจจะดีขึ้นไหม ในเชิงของกำลังซื้อของผู้คน ?

จุดหลักๆ เริ่มมาจากทุกส่วนเลย คือ เริ่มมาจากเศรษฐกิจ คนจนจะอยู่ที่รายได้ภาคการเกษตร ซึ่งตรงนี้คาดการณ์ยากแต่ ณ จุดนี้อยากจะบอกว่าน้ำหนักที่คนจนจะดีขึ้นไหม 50 % อยู่ที่รายได้จากภาคการเกษตร อีก 30 % อยู่ที่ค่าจ้าง ซึ่งค่าจ้างจริงๆแล้ว สามารถที่จะตัดสินใจได้ล่วงหน้าว่าจะให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และเราก็ยังสามารถที่จะปรับตัวกันได้ ถ้าหากทุกคนตัดสินใจในทิศทางที่เหมาะสม ทุกคนก็พอที่จะรับกันได้ และปรับตัวพร้อมกันล่วงหน้า  อันสุดท้ายคือภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่อาจจะขึ้นกับการส่งออก ภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งอันนี้ก็ควบคุมได้ยากอยู่ที่ 20 %เพราะฉะนั้น คนจน จะดีขึ้นหรือไม่ในปีหน้า ก็อย่างที่บอกว่าอยู่ที่ภาคการเกษตรดีขึ้นหรือไม่ ดีขึ้น 50 % ค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นไหม อีก 30 % และอีก 20 % จะอยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจโลก

ข้อเสนอที่รัฐบาลควรทำ ที่บอกว่าจะให้คนจนหมดประเทศ  ?

อันดับแรกถ้าเราพูดระยะสั้นก่อนคือค่าจ้างตัดสินใจได้ก็จะช่วยไปได้ส่วน 1 ส่วนที่ 2 คือรายได้สินค้าเกษตรปีนี้รัฐบาลทำได้ดีพอสมควรในเรื่องของราคาข้าวเพราะฉะนั้นก็อยากให้รัฐบาลดำเนินการต่อ แต่สิ่งที่ทำแล้วยังเป็นที่ค้างคาใจอยู่คือ พื้นที่ที่ต้องกลายเป็นพื้นที่ท่วงน้ำหลายล้านไร่ จะชดเชยเค้าอย่างไร และอยากให้มีความชัดเจน เพราะจะทำให้กระทบต่อการจัดการน้ำและรายได้ของพี่น้องคนจนในปีหน้าด้วย รวมถึงรายได้จากสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ เช่น ยางพารามีแนวโน้มดีขึ้นไหม ปาล์มน้ำมันจริงๆแล้วก็ไม่ควรเกิดปัญหานี้ขึ้น รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้สามารถนำเอาน้ำมันในสต๊อกไปทำไบโอดีเซลได้ ทำไฟฟ้าได้ แต่ดันกลับทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นเพราะฉะนั้นปีหน้ารัฐบาลจะบริหารจัดการสินค้าทางการเกษตรดีขึ้นไหม อันนี้คือตัวหัวใจชี้ขาด 50 % เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลทราบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าท่าทีในการพูด ก็อาจจะต้องดูในแง่การเมือง จากการเปลี่ยนแปลงชุดคณะทำงานกระทรวงเกษตรเปลี่ยนรัฐมนตรีทั้งชุด ก็แปลว่าคงทราบจุดที่เป็นหัวใจสำคัญคืออะไร

ที่ รองนายกฯ สมคิดเพิ่งประกาศว่า คนจนหมดประเทศ เป็นไปได้ไหม ?

มันไม่มีทางจะหมดไป ถ้าพูดถึงภายในปี 2561 ไม่มีทางจะหมดไป ตราบใดที่เราไม่สามารถที่จะทำให้คนทุกคนเห็นได้ว่า รายได้สินค้าทางการเกษตรปีหน้า จะประมาณเท่าไหร่ คือถ้าหากเห็นล่วงหน้า ก็อาจจะคาดการวางแผนให้มันหมดได้ คิดว่าตอนนี้ยังไงก็ไม่มีทางได้

การที่รัฐบาลออกมาพูดแบบนี้ คืออะไร ?

คิดว่ารัฐบาลคงหวังภาพบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ว่าเกิดเป็นภาพลบ เพราะว่าด้วยข้อเท็จจริงอย่างที่ผมบอก 40% สุดท้ายผู้มีรายได้น้อย มีรายได้ลดน้อยลง แต่รัฐบาลไปบอกว่า คนจนกำลังจะหมดประเทศ ทำให้สวนกระแสความรู้สึก   จริงๆ สิ่งที่รัฐบาลควรจะพูด ก็คือรัฐบาลจะทำอย่างไรให้ตรงนี้กลับมาดีขึ้น แต่รัฐบาลไปพูดในลักษณะที่ไม่ได้รู้สึกว่าเขากำลังได้รับความเดือดร้อนอยู่  จึงเกิดเป็นความรู้สึกที่ติดลบ กับสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะทำ

***

logoline