svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

รู้จัก “โรคอัณฑะบิดหมุน” อาการบาดเจ็บรุนแรงที่คุณผู้ชายต้องระวัง

08 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“เต๋า สมชาย” แชร์ประสบการณ์จริงของลูกชาย ให้ความรู้ "โรคอัณฑะบิดหมุน" ด้านแพทย์ รพ.ตำรวจ ฝากเตือนคุณผู้ชายปวดลูกอัณฑะ คลื่นไส้ บวมแดงจากการขาดเลือดไปเลี้ยง ปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงขั้นเสื่อมสภาพ เนื้อเยื่อตายต้องตัดทิ้ง!!

KEY

POINTS

  • โรคอัณฑะบิดหมุน เกิดจากการบิดเกลียวของเส้นเลือดขึ้นด้านบน ทำให้เลือดไปเลี้ยงอัณฑะได้น้อยจนเกิดการบิดหมุนของลูกอัณฑะ
  • สาเหตุมาจากปัจจัยภายในและภายนอก เช่น การเล่นกีฬา มีโอกาสเป็นซ้ำ รักษาได้ด้วยการผ่าตัด

เรื่องของโรคภัยเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน ล่าสุด เต๋า-สมชาย เข็มกลัด ดาราและศิลปินชื่อดัง พร้อมภรรยา อัฐมาศ เข็มกลัด ร่วมบอกเล่าประสบการณ์จริง ให้ความรู้เรื่อง "โรคอัณฑะบิดหมุน" (Testicular torsion) ที่เกิดขึ้นกับลูกชาย พร้อมขอบคุณทีมแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ที่ให้การดูแลทุกคนในครอบครัวด้วยดีมาตลอด โดยมี พล.ต.ท. ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ 8) ให้การต้อนรับ

เต๋า สมชาย และโรงพยาบาลตำรวจ ร่วมแชร์ประสบการณ์จริงของลูกชายให้ความรู้ "โรคอัณฑะบิดหมุน"

ประสบการณ์ตรงจากการเล่นกีฬา สาเหตุของอาการบาดเจ็บรุนแรง

เต๋า สมชาย พร้อมภรรยา เล่าประสบการณ์ "โรคอัณฑะบิดหมุน" (Testicular torsion) ที่เกิดกับลูกชาย หลังมีอาการปวดอัณฑะที่บวมจากการออกกำลังกายและเล่นกีฬา จึงพาไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หมอวินิจฉัยว่าเป็นอาการของโรคอัณฑะบิดหมุน ซึ่งครอบครัวรู้สึกตกใจและกังวลมาก ขณะที่แพทย์แจ้งว่าอาจเกิดอาการบิดซ้ำได้ซึ่งอาจเป็นอันตราย

ทั้งนี้ พ.ต.อ.วสันต์ นันทสันติ นายแพทย์ (สบ 4) กลุ่มงานศัลยกรรม (ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมเด็ก) ได้ให้คำปรึกษาทุกขั้นตอนตั้งแต่การเตรียมตัว การดูแลก่อนและหลังการผ่าตัด ทำให้ครอบครัวคลายความกังวล จึงตัดสินใจผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์ โดยทีมศัลยแพทย์กุมารของโรงพยาบาลตำรวจ ทำการผ่าตัดและดูแลอย่างใกล้ชิด จนปัจจุบันลูกชายสามารถใช้ชีวิตปกติ ออกกำลังกายและเล่นกีฬาได้ ไม่มีผลกระทบหรือผลข้างเคียงใดๆ ต่อสุขภาพ

“โรคอัณฑะบิดหมุน” อาการบาดเจ็บรุนแรงที่คุณผู้ชายต้องระวัง

แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เผยว่าโรคอัณฑะบิดหมุน (Testicular torsion) เกิดจากการบิดเกลียวของเส้นเลือดขึ้นด้านบน เลือดไปเลี้ยงอัณฑะได้น้อย จนเกิดการบิดหมุนของลูกอัณฑะ ซึ่งแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

  • การบิดหมุนของลูกอัณฑะเอง โดยบิดหมุนได้ทั้งภายในและภายนอกของถุงอัณฑะ ซึ่งเป็นประเภทที่รุนแรงมากที่สุด ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมาก
  • การบิดหมุนของติ่งลูกอัณฑะ หรือการบิดหมุนของติ่งท่อนำไข่ อาการปวดรุนแรงน้อย

สาเหตุของโรคนี้มาจากหลายปัจจัย ทั้งตำแหน่ง เช่น ในหรือนอกถุงอัณฑะ, อุณหภูมิหรือฮอร์โมน เช่น ตื่นนอนตอนเช้า ลูกอัณฑะเกิดการหดตัว อวัยวะเพศแข็งตัว กล้ามเนื้อบริเวณนั้นหดตัวจนเกิดอาการปวด หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก เช่น ได้รับการกระแทก การออกกำลังกาย เล่นกีฬา เป็นต้น

อาการแรกเริ่มของโรคอัณฑะบิดหมุน คือปวดลูกอัณฑะ คลื่นไส้ บวมแดงจากการขาดเลือดไปเลี้ยง หากปล่อยไว้นาน จะรุนแรงไปจนถึงเสื่อมสภาพ เนื้อเยื่อบริเวณนั้นตาย ต้อง "ตัดทิ้ง" หากมาพบแพทย์ช้า ซึ่งแพทย์แนะนำเด็กที่มีลูกอัณฑะไม่ครบ ให้รีบมาตรวจ เพราะมีภาวะเสี่ยงลูกอัณฑะบิด หากมีอาหารปวดเจ็บลูกอัณฑะ ให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาทันที

สิ่งที่ควรทำ

  • ควรรีบรับการรักษาหากมีการปวดบวมที่อัณฑะหลังจากผ่าตัดแล้ว เพราะอัณฑะสามารถบิดขั้วอีกได้
  • ควรบอกแพทย์หากพบก้อนแข็งๆ ของอัณฑะ
  •  ควรแจ้งแพทย์หากมีไข้ เลือดออก หรือปวดหลังผ่าตัด

สิ่งที่ห้ามทำ

  • ห้ามละเลยอาการปวดหรืออายที่จะพบแพทย์ ควรรีบรักษาก่อนอัณฑะจะขาดเลือด
  •  ห้ามพลาดนัดพบแพทย์ศัลยกรรมกระเพาะปัสสาวะ
  •  ห้ามเข้าใจผิด การตัดอัณฑะหนึ่งข้างไม่มีผลต่อการแข็งตัว หรือการมีบุตร
logoline