svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

เปิดเรื่องจริง "น้ำฝน" ไม่ใช่ผู้ร้ายทำเราป่วย แล้วเรา “เป็นหวัด” เพราะอะไร?

07 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทำไม “ฝน” ถึงทำให้คน “เป็นหวัด“? Nation STORY ชวนหาคำตอบ พร้อมเผยวิธีการดูแลสุขภาพต้อนรับหน้าฝน สำหรับคนชอบป่วย

KEY

POINTS

  • “น้ำฝน” ไม่ได้ทำให้คนเป็นหวัด แต่เกิดจาก 3 สาเหตุด้วยกัน คือเชื้อไวรัสในอากาศ เชื้อโรคที่เกาะตามตัว เสื้อผ้า และอุณหภูมิร่างกายที่ลดลง
  • How to สู้หวัดในวันฝนตก การกินยาลดไข้หวัด หรือยาแก้หวัดให้ถูกต้อง ผู้ใหญ่ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เด็ก 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยกินก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา กระชาย เป็นอาหารที่มีความเผ็ดร้อน ช่วยเพิ่มอุณหภูมิให้แก่ร่างกาย ไล่ไข้หวัด

สงสัยกันไหมว่าทำไม “หน้าฝน” คนเราจึงเป็นหวัดง่าย? ในขณะเราก็ “อาบน้ำสระผมเป็นประจำ” เปียกน้ำเหมือนกัน แต่การโดนน้ำนานๆ นั้นกลับไม่ทำให้เราป่วย? เรื่องนี้ Nation STORY มีคำตอบ

 

อาการป่วยยอดฮิตวัน “ฝนตก”

ในวันฝนตกแบบในช่วงนี้ที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวฝน หลายคนมีอาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล คอแห้ง เจ็บคอ ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ แสบตา คันตา เสียงแหบ และอาจมีไข้ได้ แต่เป็นไข้ไม่สูง (ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส) อาการเหล่านี้เรียกว่า "ไข้หวัด" ที่มักพบได้ทั่วไป ซึ่งเราสามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ และมักจะหายไปได้เองภายใน 7 วัน ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอ

เรื่องน่ารู้ : ฤดูฝนในประเทศไทย โดยปกติจะเริ่มตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงสิ้นเดือนตุลาคม (รวมระยะเวลาประมาณ 5 เดือนกว่า) พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้ มักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พายุฤดูร้อน” และหากสังเกตจะพบว่าในช่วงระยะนี้ พบผู้ป่วยเป็นไข้หวัด หรือโรคต่างๆ ได้ง่ายกว่าช่วงต้นปี

ทำไม “หน้าฝน” คนจึงเป็นไข้หวัดได้ง่าย?

อย่างที่หลายคนทราบกันบ้างแล้วว่า “ไข้หวัด” เกิดจาก “เชื้อไวรัส” ซึ่งลำพังเพียงการสัมผัส “น้ำฝน” ไม่สามารถทำให้เป็นหวัดได้ ทว่า ในเวลาที่ “ฝนตก” จะมีทั้งลมทั้งฝนที่อาจพัดพาเชื้อไวรัสมาในอากาศ เมื่อเราสูดอากาศหายใจเข้าไป เชื้อเหล่านี้ก็สามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ ทั้งทางจมูกและปาก ทำให้เราสุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสในอากาศจากที่โล่งแจ้งนั่นเอง

และที่เรามักได้ยินผู้ใหญ่บอกให้ไป “อาบน้ำหลังโดนฝน” ก็เพราะ “เชื้อโรค” ที่เกาะมาตามใบหน้า ตามตัว หัว หรือเสื้อผ้าที่ติดมาจากการฟุ้งกระจายเพราะลมฝนนี่แหละ ที่เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เราป่วย เพราะลองคิดดูว่าถ้าเราไปจับหน้า จับหัว เช็ดตา เช็ดจมูก เชื้อโรคก็ไปติดในโพรงจมูก ทำให้เป็นหวัดได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ เวลาที่ฝนตกยังทำให้ “อุณหภูมิในตัวเราลดลง” จากลมฝน หรือการที่ศีรษะเปียกฝน เสื้อผ้า รองเท้าเปียกอับชื้นเป็นเวลานาน นี่แหละคืออีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราเป็นหวัดได้ ซึ่งในที่ที่อุณหภูมิที่ต่ำ จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ “ไวรัสบางสายพันธุ์” เจริญเติบโตได้ดี ทำให้ร่างกายมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในบางคนที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ ก็จะยิ่งทำให้ป่วยได้ง่ายกว่าปกติ

สรุป ทำไม “ฝน” ถึงทำให้คน “เป็นหวัด” เกิดจาก 3 สาเหตุด้วยกัน ก็คือ

  • เชื้อไวรัสในอากาศ
  • เชื้อโรคที่เกาะตามตัวและเสื้อผ้า
  • อุณหภูมิร่างกายลดลง

เปิดเรื่องจริง \"น้ำฝน\" ไม่ใช่ผู้ร้ายทำเราป่วย แล้วเรา “เป็นหวัด” เพราะอะไร?

สาเหตุ "ไข้หวัด" เกิดจากอะไร?

ไข้หวัด หรือ โรคหวัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสในทางเดินหายใจส่วนต้นที่ส่งผลกระทบต่อจมูกและคอ อาการที่สำคัญของโรคมีทั้งไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล และไข้ โดยมีสาเหตุเกิดจากสิ่งเหล่านี้ คือ

  • เกิดจาก "เชื้อหวัด" ซึ่งเป็นไวรัส (Virus) ที่มีอยู่มากกว่า 200 ชนิด จากกลุ่มไวรัส 8 กลุ่มที่มีอยู่ในอากาศ
  • ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ 
  • อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อตัวเปียกฝน ร่างกายจะเย็นลงอย่างรวดเร็ว
  • มักเกิดขึ้นได้ง่ายช่วงเปลี่ยนผ่านฤดูกาล

กลุ่มเสี่ยงป่วย "ไข้หวัด" ช่วงฤดูฝน

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่อาจป่วยเป็นหวัดได้ง่ายในช่วงฤดูฝน คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เด็กเล็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงวัย เป็นต้น โดยอาจทำให้ป่วยเป็นหวัด มีไข้ 2-3 วัน หรืออาจจะประมาณหนึ่งสัปดาห์ กลุ่มเสี่ยงนี้จึงควรดูแลสุขภาพตนเองให้ดี ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เช่น นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ เป็นต้น

ทำไมเรา “ไม่ป่วย” หลังจากอาบน้ำเป็นเวลานาน?

อ่านมาถึงตรงนี้ เชื่อว่าเราได้คำตอบกันมาแล้วจากบทสรุปว่า ทำไม “ฝน” ถึงทำให้คน “เป็นหวัด” ที่เกิดจาก 3 สาเหตุ ทั้งนี้ น้ำที่เราใช้อาบกันเป็นปกติเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีเชื้อไวรัสติดตามมาแบบน้ำฝน และการอาบน้ำยังมีประโยชน์ช่วยกำจัดสิ่งสกปรกทั้งเชื้อไวรัส เชื้อโรค สิ่งสกปรกต่างๆ ออกไปจากร่างกายได้ ซึ่งช่วยป้องกันโรคไข้หวัดได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการอาบน้ำที่เย็นจัด หรือร้อนจัด เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพผิวหนังได้ ส่วนใครที่เป็นภูมิแพ้อากาศ ก็ไม่ควรอาบน้ำนานเกินไป เพราะอาจกระตุ้นภูมิแพ้ได้

How to สู้หวัดในวันฝนตก

ถ้าเราดัน "เป็นหวัด" ขึ้นมา ควรดูแลตัวเองอย่างไร เพื่อให้หายได้เร็ว ช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูได้เร็วขึ้นให้ทำตามคำแนะนำเหล่านี้ 

1. รักษาตามอาการ

หากเริ่มเป็นหวัด อาการแรกๆ ที่มักจะแสดงให้เห็น คือ ไอ จาม ตัวร้อน เจ็บคอ ให้ระมัดระวังในการอาบน้ำ อย่าอาบน้ำเย็นจัดเกินไป และพยายามรักษาความอบอุ่นให้ร่างกาย เช่น

  • ถ้าตัวร้อนมากให้รับประทานยาลดไข้ ครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 4-6 ชม.
  • ถ้ามีอาการเจ็บคอให้ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำอุ่นผสมน้ำมะนาวและน้ำผึ้ง ช่วยแก้อาการเจ็บคอได้
  • ถ้าคัดจมูก หายใจไม่สะดวก ให้ใช้ยาหม่องน้ำหรือยาขี้ผึ้งที่มีส่วนประกอบของ การบูร น้ำมันยูคาลิปตัส เกล็ดสะระแหน่ มาทาบริเวณปลายจมูก ขมับ หรือหน้าอก ก็จะช่วยบรรเทาอาการได้

วิธีกินยาลดไข้หวัด หรือยาแก้หวัดให้ถูกต้อง มีดังนี้

  • ผู้ใหญ่รับประทานครั้งละ 1 - 2 เม็ด ทุก 4 - 6 ชั่วโมง
  • เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป รับประทานครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4 - 6 ชั่วโมง
  • ยาลดไข้ สามารถกินก่อน หรือหลังอาหารก็ได้ ไม่มีผลเรื่องกระเพาะ เมื่อมีไข้หวัดสามารถทานยาลดไข้ได้เลย

ข้อควรระวังในการใช้ยาลดไข้

  • ยาลดไข้ อาจทำให้ง่วงซึม จึงไม่ควรขับขี่ยานยนต์ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล หรือที่ทำเสี่ยงต่อการพลัดตกจากที่สูง
  • ไม่ควรกินยาร่วมกับสุรา หรือสิ่งที่มีแอลกอฮอล์
  • อย่ากินยาดักก่อนเป็นไข้หวัด ให้กินยาเมื่อมีอาการแล้ว และรักษาตามอาการ เพราะยาแก้หวัดนั้น สามารถทำได้เพียง “รักษา” อาการ และไม่มีคุณสมบัติในการ “ป้องกัน”

2. รักษาความอบอุ่นของร่างกาย

หากตากฝนพอถึงบ้านให้รีบอาบน้ำ เช็ดตัว เปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าแห้งให้ไว เวลาที่เราเปียกฝน อุณหภูมิร่างกายจะลดลงอย่างกะทันหันจะยิ่งทำให้ป่วยมากขึ้นไปอีก วิธีแก้คือหลังจากอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแห้งๆ แล้ว อาจหาเสื้อแขนยาวใส่เพิ่ม ใส่เสื้อผ้าหนาๆ ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ เช่น น้ำขิงร้อน เป็นต้น เพื่อช่วยให้ร่างกายรักษาความอบอุ่นอยู่เสมอ ช่วย "แก้หวัด" ให้หายเร็วขึ้น

3. กินสมุนไพร "แก้หวัด" 

แนะนให้ให้กินอาหารต้านโรค โดยเลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ปรุงด้วยสมุนไพรไทย เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกะเพรา กระชาย เป็นต้น เพราะเป็นอาหารที่มีความเผ็ดร้อน เป็นการเพิ่มอุณหภูมิให้แก่ร่างกาย ช่วยไล่หวัดได้ และควรเป็นอาหารอ่อนๆ เช่น ซุปไก่ โจ๊กใส่ขิง ต้มจืดหมูสับใส่ขิง เป็นต้น

4. พักผ่อนเยอะๆ ดื่มน้ำมากๆ

ช่วงที่ร่างกายป่วยเป็น "ไข้หวัด" ร่างกายจะเข้าสู่โหมดทำงานหนัก ในการผลิตเม็ดเลือดขาวออกมาฆ่าเชื้อโรค หัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงหรือมีอาการไข้ เราควรดูแลร่างกายในช่วงอ่อนแอนี้ให้ดีด้วยการเช็ดตัวบ่อยๆ ให้ไข้ลดลง นอนเยอะๆ เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองได้เร็ว รวมถึงการดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิลงได้อีกทางหนึ่ง และช่วยให้ร่างกายดึงน้ำไปใช้ในกระบวนการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวได้อย่างดี

5. กินวิตามิน

วิธีดูแลตัวเองอีกอย่างคือ อาจจะหาวิตามินมากินบำรุงร่างกาย เน้นเป็นพวกวิตามินที่มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบตาแคโรทีน(วิตามินเอ) วิตามินซี วิตามินอี ช่วยกำจัดเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อได้ 

อาการป่วยแค่ไหน ควรไปพบแพทย์?

  • มีไข้สูงเกินกว่า 38.5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเกิน 4 วันขึ้นไป
  • หายใจหอบเหนื่อย เจ็บแน่นหน้าอก และหายใจมีเสียงหวีด
  • เจ็บคออย่างรุนแรง ปวดศีรษะบ่อย
  • พบจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคไข้เลือดออก
logoline