svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วันนี้ในอดีต 6 พฤษภาคม 1937 "โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก" เหตุสลดสะเทือนโลกการบิน

05 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ในอดีต 6 พฤษภาคม 1937 "โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก" เหตุสลดสะเทือนการบินโลก เมื่อเรือเหาะสุดหรูหรา ความภูมิใจของนาซีเยอรมัน เกิดเพลิงไหม้จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เหตุเศร้าที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นความใส่ใจด้านความปลอดภัย ในอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์

วันที่ 6 พฤษภาคม ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1937 ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญ ครั้งใหญ่ของโลก เป็นอุบัติเหตุทางด้านการบิน คือเหตุการณ์ "เรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดินบวร์ก (เยอรมัน: LZ 129 Hindenburg)" เกิดไฟไหม้ระหว่างแล่นลอยตัวลงจอด ที่ฐานทัพเรือเลกเฮิสต์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36 คน และเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

เหตุสลดครั้งนี้เกิดอะไรขึ้น "เรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดินบวร์ก" มีความเป็นมาอย่างไร Nation STORY จะพาย้อนไปถึงเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนั้น ที่นับเป็นเหมือนจุดสิ้นสุดยุคการเดินทางด้วยเรือเหาะ ไปสู่การเดินทางด้วยเครื่องบินโดยสารเช่นในยุคปัจจุบัน ที่มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น....
วันนี้ในอดีต 6 พฤษภาคม 1937 \"โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก\" เหตุสลดสะเทือนโลกการบิน

จุดเริ่มต้น "เรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดนบวร์ก" 

เรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดนบวร์ก (LZ 129 Hindenburg) หรือ "เรือเหาะฮินเดนบวร์ก" สร้างโดยบริษัท ลุฟท์ชิฟเบา เซ็พเพอลีน (Luftschiffbau Zeppelin GmbH) เริ่มสร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1931 เป็นเรือเหาะเยอรมัน ที่สร้างคู่กับเรือเหาะลำน้องที่ชื่อ "กราฟเซ็พเพอลีน 2" นับเป็นอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา มีความยาว 245 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 41 เมตร ยาวกว่าเครื่องบินโดยสาร 747 สามลำมาเรียงต่อกัน  

แต่เดิม "เรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดนบวร์ก" มีการออกแบบให้ลอยตัวด้วยการบรรจุก๊าซฮีเลียม แต่สหรัฐห้ามส่งออก จึงต้องใช้ก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งติดไฟได้ตามปกติ ซึ่งต้องใช้ก๊าซบรรจุในลำตัวจำนวน 200,000 ลูกบาศก์เมตร โดยแยกบรรจุเป็น 16 ถุง สร้างแรงยกได้ 123.5 ตัน ส่วนสาเหตุที่มีการใช้ก๊าซไฮโดรเจน เพราะก่อนหน้านั้นไม่เคยมีเรือเหาะพลเรือนของเยอรมัน ประสบอุบัติเหตุมาก่อนเลย จึงไม่มีผู้เกรงกลัวเท่าใด นอกจากนี้การใช้ก๊าซไฮโดรเจน ยังเพิ่มแรงยกได้มากกว่าก๊าซฮีเลียม 8%

เรือเหาะฮินเดินบวร์กใช้เครื่องยนต์ปรับถอยหลังขนาดเครื่องละ 1,200 แรงม้า จำนวน 4 เครื่อง ทำความเร็วสูงสุดได้ 135 กิโลเมตร/ชั่วโมง มูลค่าการก่อสร้างในสมัยนั้น 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังสร้างเสร็จ เรือเหาะฮินเดนบิร์ก ถูกใช้เดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก 17 เที่ยว โดย 10 เที่ยวไปสหรัฐ และ 7 เที่ยวไปบราซิล รวมระยะทาง 308,323 กิโลเมตร รับ/ส่งผู้โดยสาร 2,798 คน และขนสินค้า 160 ตัน และในเดือนกรกฎาคมปีนั้นเอง เรือเหาะฮินเดินบวร์ก ยังทำลายสถิติเดินทางข้ามไปกลับมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเวลาเพียง 5 วัน 19 ชั่วโมงและ 51 นาที 
วันนี้ในอดีต 6 พฤษภาคม 1937 \"โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก\" เหตุสลดสะเทือนโลกการบิน
 

นอกจากความรวดเร็วในการเดินทาง ที่ในสมัยนั้น ธุรกิจการขนส่งข้ามมหาสมุทรด้วยเรือเหาะ กับธุรกิจการขนส่งข้ามมหาสมุทร ด้วยเรือสำราญเครื่องจักรไอน้ำ กำลังแข่งขันกันแล้ว "เรือเหาะฮินเดินบวร์ก" ยังขึ้นชื่อในเรื่องความหรูหรา เพราะมีทั้งบาร์ ห้องสูบบุหรี่ เตาไฟฟ้า ห้องอ่านและเขียนหนังสือ ห้องน้ำและห้องอาบน้ำ ห้องพักผู้โดยสารมีจำนวน 25 ห้อง แต่ละห้องสามารถพักได้ 2 คน ไม่มีการแบ่งชั้นเป็น ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง หรือชั้นสาม เหมือนเรือสำราญ

การให้บริการในปีแรก ถึงขนาดมีการนำเปียโนอะลูมิเนียม ขึ้นไปบรรเลงให้ความบันเทิงผู้โดยสารด้วย “คอนเสิร์ตกลางเวหา” ก่อนจะถูกยกเลิกไป ซึ่งความหรูหรานี้ ต้องแลกกับค่าโดยสาร จากประเทศเยอรมนีถึงเมืองเลกเฮิสต์ สหรัฐฯ อยู่ที่คนละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่าแพงมากในยุคนั้น เมื่อพิจารณาจากการที่รถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์รุ่น เริ่มต้นมีราคา 1,050 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
วันนี้ในอดีต 6 พฤษภาคม 1937 \"โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก\" เหตุสลดสะเทือนโลกการบิน

อย่างไร การสร้างเรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดนบวร์ก ก็ไม่ราบรื่นตั้งแต่แรก เนื่องจากขณะเริ่มโครงการผลิต ได้มีปัญหาการชะงัก เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ถูกสนับสนุนโดยข้อเสนอของ "โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels)" รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการแห่งนาซีเยอรมนี เป็นเงินถึง 2 ล้านมาร์ค เพื่อให้เรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดนบวร์ก เป็นที่จดจำในฐานะการเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซีเยอรมนี  รวมถึงการตั้งชื่อเรือเหาะ LZ 129 ก็ตั้งตามตาม "ประธานาธิบดี พอล ฟอน ฮินเดนบวร์ก" ประธานาธิบดีที่มาจาการเลือกตั้งคนสุดท้ายของเยอรมนี ก่อนที่ "ฮิตเลอร์" จะขึ้นเป็นผู้นำใน ค.ศ. 1933  

เรือเหาะฮินเดนบวร์ก สามารถขึ้นบินในการส่งผู้โดยสารครั้งแรกวันที่ 23 มี.ค. ค.ศ.1933 มีผู้โดยสารจำนวน 80 คน บินจากฟรีดริชส์ฮาเฟน ไปยังโลเวนทาล และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของพรรคนาซี ตามจุดประสงค์ของเกิบเบิลส์ รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการ เพราะมีการนำเรือเหาะลำนี้ ไปปรากฏตัวในพื้นที่สาธารณะหรือกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ของเยอรมนี เช่น การไปปรากฏตัวเหนือสนามกีฬาในพิธีการเปิดการแข่งขันโอลิมปิกที่เยอรมนี วันที่ 1 ส.ค. ค.ศ. 1936 ทั้งยังปรากฏในการรณรงค์ด้านต่าง ๆ และการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลนาซี ทั้งยังมีธงนาซีประดับไว้บริเวณครีบด้านหลังเรือเหาะ เพื่อเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความเป็นนาซี
วันนี้ในอดีต 6 พฤษภาคม 1937 \"โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก\" เหตุสลดสะเทือนโลกการบิน

การเดินทางเที่ยวสุดท้ายเรือเหาะเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดินบวร์ก 

โศกนาฏกรรมเรือเหาะ เอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดินบวร์ก เกิดขึ้นในเที่ยวบินที่ 63 ที่บรรทุกผู้โดยสารและลูกเรือจำนวน 97 ราย แบ่งเป็นผู้โดยสาร 36 ราย และลูกเรือ 61 ราย ออกจากสนามบินแฟรงค์เฟิร์ต วันที่ 3 พ.ค. ค.ศ. 1937 เวลา 19.37 น. มุ่งหน้าไปทางมหาสมุทรแอตแลนติก มีปลายทางคือ เลกเฮิสต์ รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 6 พ.ค. ค.ศ.1937 ระหว่างทางเรือเหาะฮินเดนบวร์ก ต้องเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย ทำให้มาถึงที่หมายล่าช้าไปหลายชั่วโมง

เมื่อมาถึงเลกเฮิสต์ ก็ไม่สามารถนำเครื่องลงได้ เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้าย จนกระทั่ง 18.00 น. สภาพอากาศก็แจ่มใสขึ้น และสามารถลงจอดได้ เรือเหาะฮินเดนบวร์กได้หย่อนเชือกเพื่อลงจอดในเวลา 19.21 น. แต่เมื่อถึงเวลา 19.25 น. เพียงไม่กี่นาทีหลังเชือกถูกหย่อนลงก็เกิดเพลิงไหม้ขึ้น คาดว่าน่าจะมาจากบริเวณส่วนบนของตัวถังด้านหน้าครีบ หลังจากเกิดไฟลุกไหม้เรือเหาะฮินเดนบวร์กก็ตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว (ภายใน 30 วินาที)

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 36 ราย เป็นผู้โดยสาร 13 ราย ลูกเรือ 22 ราย และลูกเรือบนพื้นดินอีก 1 ราย คนบนเรือเหาะฮินเดนบวร์กรอดชีวิตถึง 62 คน ผู้รอดชีวิตส่วนมากเป็นคนที่อยู่ติดกับทางออก จึงเอาชีวิตรอดได้ง่าย ผู้ที่เสียชีวิตส่วนมากอยู่ห่างจากทางออก ทำให้การเอาชีวิตรอดเป็นไปด้วยความล่าช้า ประกอบกับไฟที่ลุกไหม้อย่างรวดเร็ว และมีอีกส่วนเสียชีวิตจากการตกจากที่สูง
วันนี้ในอดีต 6 พฤษภาคม 1937 \"โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก\" เหตุสลดสะเทือนโลกการบิน

จากการสอบสวนเนื่องจากไม่มีหลักฐานของการก่อการร้าย หรือการก่อวินาศกรรม สาเหตุของไฟลุกไหม้จึงน่าจะเกิดจากความต่างศักย์ระหว่างอากาศภายในเรือเหาะ และอากาศภายนอก จนเกิดการปล่อยประจุไฟฟ้าสถิต และเนื่องจากเรื่องเหาะลอยด้วยก๊าซไฮโดรเจนที่ติดไฟได้ จึงทำให้ไฟลุกลามเรือเหาะ  ฮินเดนบวร์กอย่างรวดเร็ว

เหตุสลดครั้งนี้ จึงถือเป็นอีกจุดเริ่มตัน ที่ทำให้ทั่วโลกเห็นถึงความอันตราย จากการเดินทางแบบเรือเหาะ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงที่เทคโนโลยีการบินในรูปแบบ “เครื่องบินพาณิชย์” ที่อยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ที่มีความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อการเดินทางด้วยอากาศยานในยุคใหม่ มีความปลอดภัยมากกว่า และใช้เวลาในการเดินทางน้อยกว่าเรือเหาะ 
วันนี้ในอดีต 6 พฤษภาคม 1937 \"โศกนาฏกรรมฮินเดนบวร์ก\" เหตุสลดสะเทือนโลกการบิน

ขอบคุณข้อมูลและภาพ : วิกิพีเดีย
https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_86541

logoline