svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สุขภาพ

5 อาการเตือน “ฮีทสโตรก” รับมือโรคลมแดด ดูแลสุขภาพสู้อากาศร้อนจัด

29 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ภัยสุขภาพหน้าร้อน ชวนสังเกต 5 อาการก่อนเป็นโรคลมแดด “เหงื่อไม่ออก สับสนมึนงง กระหายน้ำ หน้าแดงตัวแดง ร้อนจัด” พร้อมวิธีการปฐมพยาบาล และการดูแลสุขภาพเพื่อรับมือวันที่ความร้อนไม่ปรานี

หน้าร้อนของไทย 43.0-44.5 องศาเซลเซียส

กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 ช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยฤดูร้อนของประเทศไทยปีน้ี เร่ิมต้นตั้งแต่วันท่ี 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ลักษณะอากาศจะร้อนอบอ้าวและมีอากาศร้อนจัดในหลายพื้นที่ อุณหภูมิสูงที่สุด 43.0-44.5 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิร่างกายปกติของมนุษย์

โดยปกติแล้วร่างกายคนเรามีอุณหภูมิ ประมาณ 36-37 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศร้อนมากจนร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นแต่ไม่ถึง 40 องศาเซลเซียส อาจเกิด “อาการเพลียแดด” แต่ถ้าสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่วมกับเริ่มมีอาการทางสมอง เช่น ซึม สับสน ชักเกร็งหรือหมดสติ เรียกว่า “โรคลมแดด หรือ Heat Stroke”

ภาวะฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด

โรคลมแดด เป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยในช่วงฤดูร้อน จากการคาดหมายอุณหภูมิสูงที่สุด 43.0-44.5 องศาเซลเซียส ทำให้เราต้องเฝ้าระวังภาวะลมแดด โดยเฉพาะคนที่ทำงานกลางแจ้ง นักกีฬา ทหาร คนที่ออกกําลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากในสภาพอากาศร้อนชื้นและดื่มน้ำไม่เพียงพอ หรืออยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้นมาก การถ่ายเทของอากาศไม่ดี จะทำให้อุณหภูมิร่างกายของเราเพิ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นลมแดดได้ กลุ่มเสี่ยงภาวะนี้คือ ทารก เด็กเล็ก  หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคลมแดดแม้ว่าจะไม่ได้ทํากิจกรรมที่ใช้แรงก็ตาม

อันตรายของโรคลมแดดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่อาจนําไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อวัยวะภายในได้รับความเสียหายหรือล้มเหลว หรือแม้กระทั่งทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการปฐมพยาบาล การวินิจฉัย และรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที

โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลัง (Exertional Heat stroke)

ประเภทของฮีทสโตรก

  • โรคลมแดดที่เกิดจากการออกกำลัง (Exertional heatstroke) เกิดจากการออกกําลังกายอย่างหนักในสภาพอากาศร้อน
  • โรคลมแดดที่ไม่ได้เกิดจากการออกกำลัง (Nonexertional or classic heatstroke) เกิดจากการที่ต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นเป็นเป็นเวลานาน ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังมักจะไวต่อการเป็นโรคลมแดดประเภทนี้

5 อาการเตือน “ฮีทสโตรก”

อาการก่อนเป็นฮีทสโตรก สังเกตได้จาก

  1. วิงเวียนศีรษะ มึนงง
  2. หัวใจเต้นเร็วแต่เบา หายใจเร็วกว่าปกติ
  3. คลื่นไส้ อาเจียน (บางคน)
  4. กระหายน้ำมาก
  5. หน้าแดง ตัวร้อนจัด และเหงื่อออกมาก

เมื่อรู้อาการร่างกายว่าเรากำลังเป็นฮีทสโตรก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ หยุดทำกิจกรรมทุกอย่างแล้วเข้าที่ร่มทันที จากนั้นทำร่างกายให้เย็นด้วยการเปิดพัดลม แต่กรณีเข้าห้องที่มีแอร์ ให้เปิดพัดลมร่วมด้วย ขณะเดียวกันให้จิบน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดาบ่อยๆ แต่ไม่ควรดื่มรวดเดียว และใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเข็ดตามด้วยการเช็ดย้อนรูขุมขน

5 อาการเตือน “ฮีทสโตรก” เหงื่อไม่ออก-สับสนมึนงง-กระหายน้ำ-หน้าแดงตัวแดง-ร้อนจัด

9 อาการระหว่างเป็นฮีทสโตรก มีอะไรบ้าง? 

  1. อุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆ สูงขึ้นจนถึงระดับ 40 องศาเซลเซียส
  2. ผิวหนังจะเริ่มแห้ง แดงและร้อนจัด
  3. รูขุมขนจะปิดทันที จนไม่สามารถระบายเหงื่อและความร้อนได้
  4. เกิดอาการตะคริว กล้ามเนื้อเริ่มอ่อนแรงหรือเกร็ง
  5. เริ่มไม่มีแรง หน้ามืด อ่อนเพลีย
  6. ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  7. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว
  8. เป็นลม หมดสติ
  9. ฮีทสโตรกเป็นอันตรายอย่างมากกับผู้ที่มีภาวะโรคไต หรือไตวาย

ทั้งนี้ คนรอบข้างหรือใกล้ชิด สามารถสังเกตอาการของคนที่เริ่มจะมีอาการฮีทสโตรก โดยจะเริ่มมีอาการหงุดหงิดจากความร้อน พูดจาสับสนไม่รู้เรื่อง และมีอาการมึนงง

การปฐมพยาบาลฮีทสโตรก ทำยังไง?

  1. รีบนำเข้าที่ร่มและมีอากาศถ่ายเทสะดวก อาจเปิดพัดลมหรือใช้พัดช่วย เพื่อพัดให้เกิดความเย็น
  2. ให้นอนราบ ยกเท้าสูงสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
  3. หากผู้ป่วยอาเจียน ให้นอนตะแคงจนหายจากอาเจียนแล้วค่อยนอนหงาย
  4. คลายเสื้อให้หลวม เช็ดตัวด้วยน้ำเย็นหรือน้ำธรรมดา ด้วยการเช็ดย้อนรูขุมขน
  5. ให้ดื่มน้ำหรือเกลือแร่
  6. ในระหว่างปฐมพยาบาลข้อที่ 1-5 ให้คนอื่นติดต่อรถพยาบาลหรือโทร 1669 เพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

วิธีป้องกันฮีทสโตรก มีวิธีอะไรบ้าง?

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีอากาศร้อนจัด
  • จิบน้ำบ่อย ๆ หรือดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดี และป้องกันแสงแดดได้
  • หากออกกำลังกาย ต้องดื่มน้ำให้เยอะ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อการขาดน้ำ เช่น กาแฟ และ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • อย่าให้เด็กและผู้สูงอายุอยู่ในรถยนต์ที่ปิดสนิทตามลำพัง

นอกจากโรคลมแดด (Heat Stroke) แล้ว ในช่วงหน้าร้อน ยังต้องระมัดระวังภัยสุขภาพในหน้าร้อนอื่นๆ เช่น โรคผื่นแดด กลุ่มโรคผิวหนังที่เกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยแสงยูวี, ภาวะตะคริวแดด (Heat Cramps) เกิดจากความร้อนทำให้ร่างกายเสียน้ำและขาดเกลือแร่ และโรคอุจจาระร่วง เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิ ที่มากับอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด

logoline