svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเงิน-การลงทุน

เงินบาทอ่อน ! รั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค เกิดจากปัจจัยอะไร

28 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

แบงก์กรุงศรีอยุธยาประเมินค่าเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.25 บาทต่อดอลลาร์ เกาะติดประชุมเฟดคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50% เปิดสถิติตั้งแต่ 1 เม.ย.- 26 เม.ย. เงินบาทอ่อนรั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ Nation  STORY ว่า  เงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50-37.25 บาทต่อดอลลาร์ โดย เหตุการณ์สำคัญของตลาดโลกอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค.  คาดว่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.50%

โดยนักลงทุนจะจับตาถ้อยแถลงและท่าทีของเฟดเพื่อประเมินทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯต่อไป ขณะที่ข้อมูลส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯปรับตัวลงช้า นอกจากนี้ ท้ายสัปดาห์ยังมีตัวเลขการจ้างงานเดือนเม.ย. ซึ่งจะชี้นำแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์ในระยะนี้
 

เงินบาทอ่อน ! รั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค เกิดจากปัจจัยอะไร

สำหรับการเคลื่อนไหวของสกุลเงินในภูมิภาคช่วง 1 เม.ย.-28 เม.ย. พบว่า  สกุลเงินส่วนใหญ่อ่อนค่า นำโดยเปโซ-ฟิลิปปินส์ 2.59%  รูเปียห์-อินโดนีเซีย  2.22% ดอง-เวียดนาม 2.13% วอน-เกาหลีใต้ 2.03%  ดอลลาร์-ไต้หวัน  1.68%  บาท-ไทย 1.54%    ริงกิต-มาเล เซีย 1.07 %  ดอลลาร์-สิงคโปร์ 0.76%  หยวน-จีน 0.32% รูปี-อินเดียแข็งค่า 0.09% 
 

สาเหตุที่เงินบาทอ่อนค่าเกิดจาก

  • การปรับมุมมองของตลาดสู่แนวโน้มที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดอาจลดดอกเบี้ยปีนี้ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง และบอนด์ยิลด์สหรัฐฯพุ่งขึ้น
  • ค่าเงินเยนที่ดิ่งลงต่อเนื่องส่งผลเชิงลบต่อสกุลเงินเอเชียบ้างบางส่วน

    ด้านทิศทางดอกเบี้ยของไทยในช่วงที่เหลือของปีมองว่า ท่าทีของธปท.ยังเข้มงวดและระมัดระวังต่อเสถียรภาพระยะยาว โดยโอกาสการลดดอกเบี้ยเดือนมิ.ย.มีน้อยลง อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะลดดอกเบี้ยนโยบายช่วงครึ่งปีหลัง ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

    ส่วนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอาจให้น้ำหนักไปที่ประสิทธิผลของมาตรการด้านเศรษฐกิจในบริบทที่ไทยประสบความท้าทายเชิงโครงสร้าง และการสอดประสานกันของหลายภาคส่วนเป็นสำคัญ

เงินบาทอ่อน ! รั้งอันดับ 6 ในภูมิภาค เกิดจากปัจจัยอะไร

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ  Nation  STORY ว่า  มองกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้าเคลื่อนไหว 36.50 - 37.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูง  เนื่องจากในสัปดาห์นี้มีรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ หลายรายงาน รวมถึงการประชุม FOMC ของเฟด

ทั้งนี้เงินบาทยังมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าอยู่ โดยเฉพาะหากผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ในกรณีที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแข็งแกร่งและดีกว่าคาด ทำให้เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าเพิ่มเติมจากโฟลว์ธุรกรรมจ่ายเงินปันผลที่สูงราว 1.2 หมื่นล้านบาท ตลอดทั้งสัปดาห์ ซึ่งเราคาดว่า เงินบาทอาจผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 37.15-37.25 บาทต่อดอลลาร์ได้ (หากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว อาจเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าไปถึงระดับ 37.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก)

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์หรือขายทำกำไรสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อน) ในช่วงโซนแนวต้านดังกล่าว ซึ่งอาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติก็อาจเริ่มกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้บ้าง หลังในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยได้ปรับฐานมาพอสมควร ส่วนคาดการณ์ผลกำไรก็เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ตลาดบอนด์ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะสั้นและระยะยาวก็สะท้อนถึงการทยอยลดความคาดหวังของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยและการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ไปพอสมควรแล้ว

ทั้งนี้ควรระวังความผันผวนของตลาดค่าเงินจากการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของทางการญี่ปุ่น หลังเงินเยนได้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง จนล่าสุดแกว่งตัวใกล้โซน 158.30 เยนต่อดอลลาร์ 


ปัจจัยภายนอก-ภายในที่มีผลต่อค่าเงินบาท 

-  ประเด็นสำคัญ ยังคงเป็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด นอกจากนี้ ควรจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและความเสี่ยงการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงนี้

- ปัจจัยในประเทศ ยังคงต้องจับตาฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติและโฟลว์จ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ

ไฮไลท์ข้อมูลเศรษฐกิจ

ฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่ถึงแม้จะยังไม่มีการปรับดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้ ทว่าผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มนโยบายการเงินในอนาคตของเฟด พร้อมรอติดตามถ้อยแถลงของประธานเฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต-ภาคการบริการ โดย ISM (ISM Manufacturing & Services PMIs) 

ทางยุโรป ควรติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน

ส่วนเอเชีย ตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและการบริการของจีน รวมถึง รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของญี่ปุ่น พร้อมทั้งจับตาท่าทีของทางการญี่ปุ่น ต่อแนวโน้มการเข้าแทรกแซงค่าเงิน

สำหรับไทย ควรรอจับตารายงานยอดการค้าระหว่างประเทศ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Amazon เป็นต้น

logoline