svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

ผู้หญิงนั้นทั้งร้าวรานและงดงาม ในภาพวาดของ ฟรีดา คาห์โล

08 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ที่ฉันวาดภาพเหมือนตัวเอง เพราะฉันมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และอีกอย่าง ตัวฉันเองก็เป็นสิ่งที่ฉันรู้จักดีที่สุด” — ฟรีดา คาห์โล

นับแต่อดีตกาลนานมา ที่ทางของผู้หญิงในโลกศิลปะนั้นช่างสุดแสนจะจำกัดจำเขี่ย จากการถูกเบียดบังกีดกันจากศิลปินเพศชายผู้ถือครองอำนาจผูกขาดวงการศิลปะเอาไว้แต่เพียงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด ในขณะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มักเป็นที่รู้จักในฐานะไม้ประดับ อย่างการเป็นนางแบบให้เหล่าศิลปินเพศชาย หรือไม่ก็คู่รักและภรรยาที่เป็นได้แค่ลมใต้ปีกของศิลปินชายเท่านั้น ทั้งๆ ที่ศิลปินหญิงหลายคนก็สร้างสรรค์ผลงานที่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ไม่แพ้ศิลปินเพศชายเลยด้วยซ้ำ หนึ่งในจำนวนนั้นคือศิลปินหญิงผู้มีชื่อว่า ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo)

ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo). ภาพจาก Wikimedia Commons

หนึ่งในศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของเม็กซิโก ผลงานของฟรีดาแสดงออกอย่างชัดเจนถึงบาดแผลและความเจ็บปวดที่เธอได้รับจากโรคภัยและอุบัติเหตุ แต่ในขณะเดียวกันก็แสดงออกถึงจิตใจที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ และแสดงออกถึงความเจ็บปวดเหล่านี้ผ่านงานศิลปะอย่างทรงพลัง ไม่แพ้ศิลปินเพศชายหน้าไหน ตลอดอาชีพการทำงาน เธอเปิดเปลือยเลือดเนื้อ ร่างกาย และบาดแผลทั้งภายนอกภายใน เพื่อแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ รวมถึงใช้อวัยวะ ข้าวของส่วนตัว หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงใกล้ชิด แทนสัญลักษณ์เพื่อตีแผ่ถึงตัวตนอันซับซ้อนละเอียดอ่อนของผู้หญิง ทำให้เธอไม่ได้เป็นแค่เพียงศิลปินผู้ยิงใหญ่เท่านั้น หากแต่เป็นหนึ่งในศิลปินผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะ
 

ผลงานศิลปะของฟรีดายังทำให้การแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอันเจ็บปวดรวดร้าวของผู้หญิงอย่างเปิดเผยกลายเป็นที่ยอมรับมากขึ้น จากที่ในช่วงเวลาก่อนหน้า การแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอย่างรุนแรงลึกซึ้งของผู้หญิง มักถูกตราหน้าว่าเกิดจากโรคฮิสทีเรีย หรือถูกสาบส่งว่าเป็นการแสดงออกของคนเสียสติ ในขณะที่การแสดงออกแบบเดียวกันของผู้ชายถือเป็นความรันทดอันงดงาม (melancholy) แต่ด้วยการมุ่งมั่นยืนยันในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากความเศร้าอันหนักหน่วงยาวนาน ฟรีดาแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงเองก็มีความรันทดอันงดงามได้เช่นเดียวกันกับผู้ชาย และเป็นอะไรที่อยู่เหนือข้อจำกัดทางเพศใดๆ อย่างสิ้นเชิง

ฟรีดา คาห์โล หรือในชื่อเดิมว่า แมกดาลีนา คาร์เม็น ฟรีดา คาห์โล อี คาลเดอรอน (Magdalena Carmen Frida Kahlo y Calderón) เกิดในเมืองเล็กๆ ชายแดนเม็กซิโกซิตี เธอมักจะบอกใครๆ ว่าเธอเกิดวันที่ 7 กรกฎาคม 1910 แต่ในความจริงสูติบัตรของเธอลงว่า เธอเกิดวันที่ 6 กรกฎาคม 1907 เหตุที่เธอบอกเช่นนี้ เพราะเธอต้องการให้ปีเกิดของเธอตรงกับปีของการปฏิวัติเม็กซิกัน เพื่อที่ว่าชีวิตของเธอจะได้เริ่มต้นพร้อมๆ กับการถือกำเนิดของยุคสมัยใหม่ของเม็กซิโก

ในวัยเด็กเธอเติบโตขึ้นในบ้านของครอบครัว ซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า Casa Azul หรือ The Blue House (บ้านสีน้ำเงิน) ที่เธออาศัยอยู่จวบจนบั้นปลายของชีวิต

The Blue House (บ้านสีน้ำเงิน). ภาพจาก Wikimedia Commons
 

พ่อของฟรีดาเป็นช่างภาพชาวเยอรมันที่อพยพมาอยู่ที่เม็กซิโกและพบแม่ของเธอที่นั่น ชื่อ ฟรีดา ของเธอนั้นมาจากภาษาเยอรมันว่า Frieda ที่แปลว่า ‘สันติภาพ’ แม้ในใบเกิดจะเขียนว่า Frida แต่เจ้าของชื่อเองก็สะกดชื่อตนว่า Frieda ตามแบบเยอรมัน จนกระทั่งอีกกว่า 20 ปีต่อมา เมื่อเผด็จการนาซีเรืองอำนาจขึ้นในเยอรมนี เธอจึงตัดตัว e ทิ้งไปจากชื่อของตัวเองในที่สุด

ในช่วงวัยเด็ก ฟรีดามีสุขภาพอ่อนแอ เมื่ออายุได้ 6 ขวบเธอป่วยเป็นโรคไขสันหลังอักเสบและโปลิโอ จนต้องนอนติดเตียงอยู่เก้าเดือน แม้เมื่อเธอฟื้นจากอาการป่วย ผลพวงของโรคก็ทำให้เธอต้องเดินขากะเผลก พ่อของเธอจึงสนับสนุนให้เธอเล่นกีฬาหนักๆ อย่าง ฟุตบอล ว่ายน้ำ หรือแม้แต่มวยปล้ำ ซึ่งออกจะแปลกสำหรับเด็กผู้หญิงยุคนั้น โดยเขาหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพร่างกายของเธอนั่นเอง

ในปี 1922 ฟรีดาเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งชาติที่มีชื่อเสียงของเม็กซิโก เธอเป็นหนึ่งในนักศึกษาหญิงจำนวนไม่กี่คนที่นั่น และเธอเป็นที่โจษขานในฐานะผู้มีจิตวิญญาณอันร่าเริง ผู้ชมชอบแต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับพื้นเมืองหลากสีสัน

Self-portrait with Monkey (1938). ภาพจาก fridakahlo.org

ในปีเดียวกันนั้น ดิเอโก ริเบรา (Diego Rivera) จิตรกรนักวาดจิตรกรรมฝาผนังผู้ยิ่งใหญ่และโด่งดังของเม็กซิโก ได้มาวาดภาพฝาผนังให้โรงเรียนของฟรีดา เธอมักจะแอบไปดูเขาทำงานบ่อยๆ และมักจะเรียกเขาอย่างล้อเลียนว่า “เจ้าหมูอ้วน” เพราะเขามีร่างกายอ้วนใหญ่ แต่เธอก็หลงใหลในบุคลิกและความสามารถของเขา เธอบอกกับเพื่อนว่า สักวันหนึ่งเธอจะมีลูกให้เขา

ในช่วงเดียวกันฟรีดาก็สนิทสนมกับกลุ่มการเมืองและนักศึกษาปัญญาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกันในโรงเรียน และสนิทชิดเชื้อเป็นพิเศษกับชายหนุ่มคนหนึ่งในจำนวนนั้น วันหนึ่งในปี 1925 ในขณะที่ไปเที่ยวในเมือง พวกเขาก็ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงจากการที่รถประจำทางที่โดยสารชนกับรถราง เป็นเหตุให้ฟรีดาซึ่งในขณะนั้นมีอายุเพียง 18 ปี บาดเจ็บสาหัสกระดูกสันหลังหัก กระดูกไหปลาร้าแตก กระดูกซี่โครงหัก กระดูกเชิงกรานแตก กระดูกขาขวาและกระดูเท้าแตกอีกนับไม่ถ้วน ราวเหล็กของรถเมล์ยังแทงลำตัวด้านขวาทะลุช่องคลอด ซึ่งการบาดเจ็บครั้งนี้ส่งผลต่อสุขภาพของเธอไปตลอดชีวิต และทำให้เธอไม่สามารถมีลูกได้อีกต่อไป

ด้วยความที่ต้องนอนซมอย่างทุกข์ทรมานและความอ่อนแอจากความเจ็บป่วย พ่อของเธอจึงสนับสนุนให้เธอหัดวาดรูปในขณะที่พักฟื้นอยู่ จนเธอหันเหมาสนใจศิลปะตั้งแต่นั้นมา เธอวาดภาพเหมือนของตัวเองเสร็จเป็นภาพแรกในปีต่อมา ในขณะเดียวกันเธอก็มีความฝักใฝ่ในด้านการเมืองมากขึ้น โดยเธอเข้าร่วมกลุ่มสหพันธ์คอมมิวนิสต์รุ่นเยาว์และพรรคคอมมิวนิสต์เม็กซิกัน

ฟรีดาได้เจอกับ ดิเอโก ริเบรา อีกครั้งในปี 1928 โดยเขาสนับสนุนและให้กำลังใจเธอในการทำงานศิลปะ และความสัมพันธ์ก็เริ่มสนิทสนมกันจนเป็นความรัก ทั้งคู่แต่งงานกันในปีถัดมา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของครอบครัวของฟรีดา ด้วยความที่ทั้งคู่อายุห่างกันมากและเขาก็เคยมีครอบครัวมาแล้ว อีกทั้งร่างกายของทั้งคู่ก็แตกต่างกันมาก ดิเอโกมีร่างกายอ้วนใหญ่มหึมา ในขณะที่ฟรีดาตัวเล็กจิ๋ว แต่ใครเล่าจะห้ามความรักอันร้อนแรงได้

Frida and Diego Rivera (1931). ภาพจาก fridakahlo.org

หลังจากที่ทั้งคู่แต่งงานกัน ดิเอโกได้ถ่ายทอดความรู้ ทัศนคติ รสนิยมทางศิลปะรวมถึงอุดมการณ์ทางการเมือง และสนับสนุนให้ฟรีดาเขียนรูปและชักนำให้เธอได้รู้จักกับคนในวงการศิลปะและศิลปินชั้นนำมากมาย เขามักจะกล่าวชมภาพวาดของเธอด้วยความจริงใจ และมักจะแนะนำกับเพื่อนฝูงอยู่เสมอว่าเธอเป็นจิตรกรตัวจริง

“ภาพวาดของผมมักถ่ายทอดแต่สิ่งที่เห็นภายนอก แต่ของฟรีดานั้น เธอวาดสิ่งที่อยู่ภายในออกมา” ริเบรากล่าว

ฟรีดามักจะติดตามริเบราไปทำงานในสถานที่ต่างๆ อยู่เสมอ ในปี 1930 พวกเขาย้ายไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่นั่น เธอร่วมแสดงภาพวาดในนิทรรศการประจำปีของกลุ่มศิลปินหญิงแห่งซานฟรานซิสโก ครั้งที่ 6 หลังจากนั้นพวกเขาไปนิวยอร์กเพื่อร่วมแสดงงานของริเบราในพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA) และย้ายไปดีทรอยต์เพื่อทำงานวาดภาพของริเบราในสถาบันศิลปะแห่งดีทรอยต์

ในปี 1932 ฟรีดาเริ่มใส่รายละเอียดและองค์ประกอบอันเหนือจริงเข้าไปในผลงานของเธอ เช่นในภาพวาด Henry Ford Hospital (1932) ที่เป็นภาพตัวเธอนอนบนเตียงโรงพยาบาลโดยมีสิ่งต่างๆ ลอยอยู่รอบตัวเธออย่างทารกในครรภ์, หอยทาก, ดอกไม้ กระดูกเชิงกราน ฯลฯ ที่เชื่อมโยงกับเธอด้วยด้ายสีแดงที่คล้ายกับเส้นเลือด ภาพวาดชิ้นนี้ถ่ายทอดความรู้สึกในการแท้งลูกครั้งที่สองของเธอออกมา

Henry Ford Hospital (1932). ภาพจาก fridakahlo.org

ในปี 1933 ฟรีดาและริเบราเดินทางไปนิวยอร์ก โดยเขาถูกว่าจ้างให้วาดภาพฝาผนังของอาคารร็อกกี้เฟลเลอร์เซ็นเตอร์ แต่ยังไม่ทันวาดเสร็จก็ถูกระงับ เพราะริเบราดันวาดภาพผู้นำคอมมิวนิสต์อย่าง วลาดิมีร์ เลนิน ลงไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ว่าจ้างรับไม่ได้อย่างแรง และสั่งให้ลบภาพของเขาทิ้ง หนึ่งเดือนหลังจากนั้นทั้งคู่ก็ย้ายกลับเม็กซิโกด้วยความผิดหวัง 

ชีวิตรักของของฟรีดาและริเบราเองก็ไม่ราบรื่น เพราะริเบรามีนิสัยเจ้าชู้ มากรักหลายใจ (ประมาณว่าคลำดูแล้วไม่มีหาง ก็เอาได้หมด) ว่ากันว่าเขาถึงกับมีสัมพันธ์สวาทกับ คริสตินา น้องสาวของฟรีดาด้วยซ้ำไป ด้วยความเจ็บแค้น ฟรีดาตอบสนองด้วยการตัดผมดำขลับที่เป็นสัญลักษณ์อันหวงแหนของเธอทิ้ง ผนวกกับความเจ็บปวดผิดหวังกับการแท้งลูกอีกครั้งในปี 1934 ทำให้เธอแยกกันอยู่กับริเบรา และหันไปมีสัมพันธ์สวาทกับคนมากหน้าหลายตาทั้งชายและหญิง (ซึ่งเธอมีแนวโน้มที่จะเป็นไบเซ็กชวลอยู่แล้ว สังเกตได้จากรสนิยมในการแต่งกายเป็นผู้ชายตั้งแต่สมัยยังสาวๆ)

แต่ทั้งคู่ก็กลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้ง เพื่อร่วมกันช่วยเหลือนักปรัชญาและนักปฏิวัติคอมมิวนิสต์เรืองนามชาวรัสเซีย เลออน ทรอตสกี และภรรยา ที่ลี้ภัยการเมืองมายังเม็กซิโก โดยทั้งคู่รับพวกเขามาอาศัยที่บ้านสีน้ำเงินของพวกเขา ในช่วงนั้นเอง ทรอตสกีและฟรีดาก็แอบมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกันด้วย

ในปี 1939 ฟรีดาย้ายไปอาศัยในกรุงปารีส ที่นั่นเธอได้แสดงนิทรรศการภาพวาดของเธอและได้ทำความรู้จักและสนิทสนมกับศิลปินหัวก้าวหน้าที่นั่นอย่าง มาร์แซล ดูว์ช็อง และ ปาโปล ปิกัสโซ ในปีเดียวกัน เธอหย่ากับริเบราอีกครั้ง และวาดภาพที่โด่งดังที่สุดภาพหนึ่งของเธออย่าง The Two Fridas (1939) ที่แสดงภาพของฟรีดาสองคนนั่งเคียงข้างกัน โดยมีหัวใจออกมาอยู่นอกร่างกาย ร่างหนึ่งในนั้นสวมชุดขาวและมีหัวใจขาดเหวอะหวะและมีเลือดหยาดหยดลงบนชุดขาวของเธอ ในขณะที่อีกร่างสวมชุดที่มีสีสันและมีหัวใจที่ปกติสมบูรณ์ สองร่างในภาพนี้เชื่อว่าเป็นตัวแทนของฟรีดาในเวอร์ชั่นที่มีความรักและสิ้นไร้ความรักนั่นเอง

The Two Fridas (1939). ภาพจาก fridakahlo.org

ในปี 1944 ฟรีดาวาดภาพ The Broken Column (1944) ซึ่งเป็นภาพกึ่งเปลือยของเธอที่ลำตัวถูกฉีกกลางจนเผยให้เห็นกระดูกสันหลังที่เป็นเสาโบราณที่แตกร้าวอยู่ภายใน เธอสวมเข็มขัดพยุงร่างกายและมีตะปูตอกอยู่ทั่วร่างกาย เธอแสดงออกถึงความเจ็บป่วยทรมานทางร่างกายของเธอออกมาในภาพวาดนี้ โดยในช่วงนี้เธอต้องรับการผ่าตัดหลายครั้ง และต้องสวมอุปกรณ์พยุงหลังพิเศษ ฟรีดาเพียรหาทางรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังของเธอตลอดมา ซึ่งก็ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าไหร่นัก

The Broken Column (1944). ภาพจาก fridakahlo.org

ในช่วงปี 1950 สุขภาพของเธอเริ่มย่ำแย่หนักมาก ถึงแม้จะต้องใช้ชีวิตบนเตียงโรงพยาบาลอย่างยาวนาน และต้องผ่าตัดหลายต่อหลายครั้ง แต่เธอก็ยังคงวาดภาพต่อไป ในช่วงนี้เองที่ริเบรากลับมาคอยดูแลเธออีกครั้ง

ในปี 1953 เธอได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวเป็นครั้งแรกในเม็กซิโก ถึงแม้ว่าเธอจะลุกออกจากเตียงไม่ได้เลย แต่เธอก็ไม่ยอมพลาดงานเปิดนิทรรศการของตัวเอง โดยเธอเดินทางไปเปิดงานด้วยรถฉุกเฉิน ร่วมพูดคุยและฉลองงานเปิดกับผู้ร่วมงานอยู่บนเตียงสี่เสาสวยงามที่ตั้งอยู่กลางหอศิลป์ ซึ่งริเบราจัดเตรียมให้เธอเป็นพิเศษ เธอมีความสุขอยู่ได้เพียงไม่กี่เดือน ก่อนที่แผลเรื้อรังบนขาขวาของเธอจะลุกลามจนต้องตัดขาทิ้ง

ด้วยความท้อแท้สิ้นหวังและสุขภาพอันย่ำแย่ เธอต้องกลับไปอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลครั้งแล้วครั้งเล่า แต่นั่นก็ไม่ได้หยุดยั้งอุดมการณ์ทางการเมืองของเธอลง โดยเธอปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งสุดท้าย ในการร่วมรณรงค์ทางการเมืองเพื่อประท้วงต่อต้านการที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนการโค่นล้มประธานาธิบดี ฆาโกโบ อาร์เบนซ์ (Jacobo Arbenz) แห่งกัวเตมาลา ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1954

เพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากวันเกิดครบรอบปีที่ 47 ฟรีดาก็เสียชีวิตลงในวันที่ 13 กรกฎาคม 1954 ด้วยวัยเพียงแค่ 47 ปี ในบ้านสีน้ำเงินอันเป็นที่รักของเธอ มีรายงานว่าเธอเสียชีวิตจากอาการโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดปอดเฉียบพลัน แต่ก็ร่ำลือกันว่าเธอน่าจะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายมากกว่า

ผลงานศิลปะของฟรีดามีความโดดเด่นอยู่ตรงความซื่อบริสุทธิ์ จริงใจ เธอได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมป๊อปและวัฒนธรรมท้องถิ่นของเม็กซิกัน เธอทำงานศิลปะในสไตล์นาอีฟ (naïve art) และศิลปะพื้นบ้าน ด้วยสีสันอันสดใส ผนวกกับการใช้สัญลักษณ์ต่างๆ ในภาพวาด เพื่อตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของตัวตนของตัวเอง รวมถึงแนวคิดหลังยุคอาณานิคม (postcolonialism), เรื่องราวทางเพศ, ชนชั้น และเชื้อชาติในสังคมเม็กซิโก

ภาพวาดของเธอมักจะมีองค์ประกอบและเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเธออย่างมาก และมักจะผสมผสานความเป็นจริงเข้ากับจินตนาการ ผลงานของเธอถูกจัดให้อยู่ในสกุลศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (surrealism) และเมจิกเรียลลิสม์ (magic realism)

ถึงแม้ภาพวาดของฟรีดาจะถูกจัดให้อยู่สกุลศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ และเคยออกแสดงกับกลุ่มเซอร์เรียลิสม์ในยุโรป รวมถึงสนิทสนมกับเจ้าลัทธิอย่าง อองเดร เบรอตง แต่เธอก็ไม่จำกัดตัวเองว่าเป็นศิลปินในกลุ่มเซอร์เรียลิสต์ อันที่จริงเธอไม่เคยจำกัดความตัวเองว่าอยู่ในศิลปะตระกูลไหนเลยด้วยซ้ำ

“พวกเขามักจะคิดว่าฉันเป็นศิลปินเซอร์เรียลิสต์ แต่ฉันไม่ใช่ ฉันไม่เคยวาดภาพความฝัน ฉันวาดภาพความจริงส่วนตัวของฉันมากกว่า”

ผลงานของฟรีดาได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ ในฐานะสัญลักษณ์ของชาติและวัฒนธรรมประเพณีพื้นเมืองของเม็กซิกัน เนื้อหาในภาพวาดส่วนใหญ่เป็นการถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกภายในออกมา ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์โกรธ ความเศร้า ความเจ็บปวด ความผิดหวัง ภาพวาดของเธอมักจะบ่งบอกถึงความร้าวรานในชีวิตคู่ ความทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วย โดยเธอกล่าวถึงเหตุผลที่มักจะวาดภาพเหมือนของตัวเองว่า

“ที่ฉันวาดภาพเหมือนตัวเอง เพราะฉันมักจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว และอีกอย่าง ตัวฉันเองก็เป็นสิ่งที่ฉันรู้จักดีที่สุด”

Without Hope (1945). ภาพจาก fridakahlo.org

หลังจากเสียชีวิต ฟรีดาเริ่มมีชื่อเสียงจากการที่รัฐบาลเม็กซิกันเล็งเห็นคุณค่า รวบรวมผลงานของเธอและเปิด บ้านสีน้ำเงิน (The Blue House) ของเธอให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ Frida Kahlo Museum ในปี 1958 ด้วยความที่งานของเธอถ่ายทอดท่วงทำนองและความรู้สึกนึกคิดของผู้หญิงออกมาได้อย่างซื่อสัตย์ ชัดเจนและจริงใจ และแสดงออกถึงประสบการณ์และรูปลักษณ์ของสตรีเพศอย่างไร้การประนีประนอม ส่งผลให้ฟรีดาได้รับการยกย่องและส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาการของแนวคิดสตรีนิยมหรือเฟมินิสต์ รวมถึงแนวคิดแบบหลังอาณานิคม ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 20 ในเวลาต่อมา ในขณะที่ฟรีดากลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ ชื่อเสียงของเธอแผ่ขยายจนเผื่อแผ่ไปยังศิลปินละตินอเมริกันในยุคหลังสงครามให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในนิทรรศการแสดงผลงานย้อนหลังของเธออย่าง Unbound: Contemporary Art After Frida Kahlo (2014) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยชิคาโก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของผลงานศิลปะของเธอที่มีต่องานศิลปะร่วมสมัย หรือนิทรรศการแสดงเดี่ยว Dreamers Awake (2017) ของเธอจัดขึ้นที่ White Cube Gallery ในลอนดอน แสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่ฟรีดามีต่อศิลปินเซอร์เรียลลิสต์หญิงในยุคแรก รวมถึงพัฒนาการของศิลปินหญิงในยุคร่วมสมัยอย่างมาก

Moses (1945). ภาพจาก fridakahlo.org

มรดกของฟรีดา ไม่เพียงส่งผ่านไปสู่ศิลปินหรือผู้ที่สนใจงานศิลปะเท่านั้น แต่เนื้อหาอันลึกซึ้งในผลงานของเธอและเรื่องราวชีวิตของเธอยังส่งกำลังใจแก่ผู้หญิงทั่วโลกที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บไข้ได้ป่วย อุบัติเหตุ การแท้งลูก หรือความล้มเหลวในชีวิตคู่ ฟรีดาถ่ายทอดประสบการณ์อันร้าวรานเหล่านี้ผ่านผลงานศิลปะ และส่งแรงบันดาลใจและให้ความหวังแก่ผู้ชม โดยเฉพาะผู้ชมเพศหญิง ว่าพวกเธอจะอดทน และสามารถเยียวยาร่างกายและจิตใจตัวเอง จนลุกขึ้นมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้สักวันหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 1983 ที่มีหนังสือชีวประวัติของเธออย่าง Frida: A Biography of Frida Kahlo โดย เฮย์เดน เฮอร์เรรา ตีพิมพ์ออกมา ทำให้ชื่อเสียงของเธอเป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชน (ที่ไม่ได้อยู่ในวงการศิลปะ) ยิ่งไปกว่านั้น ผู้กำกับ จูลี เทย์มอร์ และนักแสดงสาว ซัลมา ฆาเยก ก็ร่วมมือร่วมใจกันปลุกปั้นชีวประวัติของ ฟรีดา คาห์โล ให้กลับมีชีวิตโลดแล่นขึ้นมาอีกครั้งในหนังชื่อ Frida (2002) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของฟรีดาอย่างเปี่ยมสีสัน สวยงาม น่าสนใจ และเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ตัวศิลปินและผลงานศิลปะของเธอ จนได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึงหกสาขาในปี 2003 ซึ่งรวมถึงนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (แต่ก็พลาดไปอย่างน่าเสียดาย) และคว้ารางวัลแต่งหน้ายอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยมมาครอง ซึ่งจากอานิสงส์ของหนังเรื่องนี้นี่เอง ที่ทำให้ชื่อของ ฟรีดา คาห์โล กลับมาเป็นที่รู้จักและกลายเป็นศิลปินในดวงใจมิตรรักแฟนศิลปะจวบจนถึงปัจจุบัน

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

logoline