svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

9 ก.พ. 2544 "ทักษิณ" เป็นนายกฯ สมัยแรก กับผลงานที่ผู้คนจดจำ

08 กุมภาพันธ์ 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

9 กุมภาพันธ์ 2544 "ทักษิณ ชินวัตร" ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก "Nation STORY" ชวนย้อนดูคำมั่นสัญญาของ "ทักษิณ" ที่ประกาศไว้ในวันนั้น กับผลงานที่ผู้คนจดจำ

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 23 ปี ที่แล้ว หรือในวันที่ 9 ก.พ. 2544 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือก "ทักษิณ ชินวัตร" ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 23 หลังนำพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้ง 248 เสียง และรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ถือเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ครบวาระ 4 ปี

"…ผมจะไม่ยอมทำหน้าที่เป็นเพียงผู้นำตามกฎหมายเท่านั้น ผมจะขอเป็นผู้นำที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไทย เพื่อประเทศไทยที่ดีขึ้น พี่น้องที่เคารพครับ ผมจะขอทำหน้าที่เป็นรัฐบาลที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อยเป็นรัฐบาลที่จะทุ่มเททำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต"

คือคำมั่นสัญญาที่ ทักษิณ ชินวัตร ประกาศไว้หลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 ก.พ. 2544

ส่องผลงานขณะเป็นนายกรัฐมนตรี
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

  • โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค

หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการคือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งต่อมาคุ้นกันในนาม "สิทธิบัตรทอง" เพราะไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว 

โครงการดังกล่าว เป็นนโยบายของรัฐบาลทักษิณ ที่ได้รับแนวคิดของ นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทรุ่นที่ 8 เป็นผู้บุกเบิกและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา
9 ก.พ. 2544 \"ทักษิณ\" เป็นนายกฯ สมัยแรก กับผลงานที่ผู้คนจดจำ
วัตถุประสงค์ทำมาเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ คนไทยทุกคนจ่ายเพียง 30 บาท ก็สามารถรับบริการรักษาโรคได้ โดยภาครัฐจะให้ประชาชนลงทะเบียนกับโรงพยาบาล และรัฐจัดสรรงบประมาณลงในโรงพยาบาลตามจำนวนคน มีการแจกบัตรประจำตัวให้แก่ผู้รับบริการที่เรียกกันว่า "บัตรทอง" จุดเน้นเป้าหมายคือ "รากหญ้า" โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ด้านการรักษาสุขภาพ 

โครงการนี้ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นจาก 76% ของประชากรเป็น 96% ของประชากร ถึงแม้จะถูกโจมตีเรื่องคุณภาพในการรักษาจาก "ฝ่ายขั้วตรงข้าม" แต่โครงการนี้ก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่คนชนบทซึ่งไม่มีทางเลือกมากนัก

  • การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ

ในเดือนมีนาคม 2544 ทักษิณได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมความคิดเห็นในการกำหนดแนวทางการพัฒนาตลาดทุน และได้มีการกำหนดแผนเตรียมความพร้อมในการนำรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในนั้น คือ การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 

การนำ ปตท. เข้าตลาดหุ้นครั้งนั้นทำให้เงินทุนเริ่มกลับเข้ามาในระบบการเงินของไทย ช่วยปลุกตลาดหุ้นไทยขึ้นมาใหม่หลังอยู่ในภาวะซบเซาอย่างหนักเป็นเวลากว่า 4 ปี หลังแปรรูปแล้วแม้รัฐบาลจะถือหุ้นในสัดส่วนลดลง แต่ ปตท.กลับส่งเงินเข้าคลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ทักษิณยังได้แปรรูปรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ อีก คือ

  • ปี 2545 แปรรูปองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เป็น บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
  • ปี 2545 แปรรูปการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เป็นบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)
  • ปี 2546 แปรรูปการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ก.ส.ท.) เป็น 2 บริษัท คือบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (CAT) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
  • ปี 2547 แปรรูปองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) เป็นบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

  • ปลดหนี้ไอเอ็มเอฟ

 จากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 หรือที่เรียกกันติดปากทั่วไปในประเทศไทยว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องกู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพื่อมาประคองเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้อย่างเสรี จำยอมต้องดำเนินนโยบายการเงินและคลังตามเงื่อนไขที่เข้มงวดของไอเอ็มเอฟ แม้ทักษิณจะได้รับคำทัดทานว่าอาจจะทำให้ประเทศขาดสภาพคล่อง แต่ทักษิณก็เร่งรัดให้มีการใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด ด้วยเหตุผลที่ว่า 

"...ผมมีประสบการณ์เป็นนักกู้เงินมาก่อน ถ้าเราเป็นหนี้แล้วใช้คืนได้เขาถึงว่าเราเป็นลูกค้าชั้นดีที่จะให้กู้มากขึ้นอีก"

การชำระหนี้ดังกล่าว เป็นการชำระก่อนกำหนดถึง 2 ปี การพ้นพันธะจากไอเอ็มเอฟทำให้รัฐบาลสามารถแก้ไขกฎหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจ 11 ฉบับ และไม่ต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้มีกระแสเงินเข้ามาลงทุนในภาคเศรษฐกิจของไทยมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยได้รับการปรับระดับอันดับเครดิต (Credit rating) โดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส จากระดับ BBB ขึ้นสู่ระดับ BBB+

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

  • หวยบนดิน (สลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว)

ทักษิณตระหนักว่าธุรกิจหวยใต้ดินนั้นมีเงินหมุนเวียนมหาศาล และรัฐไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ อีกทั้ง ธุรกิจหวยใต้ดินยังเป็นเสมือนบ่อเงินบ่อทองของเหล่าผู้มีอิทธิพล ทักษิณจึงกำหนดให้มีการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ซึ่งเรียกว่า "หวยบนดิน" ขึ้นมาเพื่อดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ และมีการยกเว้นการเก็บภาษีกับสลากประเภทนี้ 

ส่วนรายได้จากการจำหน่ายสลากประเภทนี้หลังหักค่าใช้จ่าย หากกองทุนมีเงินส่วนเกินเหลือเหมาะสมเพียงพอในแต่ละช่วงเวลาจะจัดสรร รายได้ส่วนเกินดังกล่าวคืนสู่สังคมเพื่อสนับสนุนการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคม และสาธารณประโยชน์อื่นๆ
ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

  • นโยบายกองทุนหมู่บ้าน 

"กองทุนหมู่บ้าน" เป็นโครงการของรัฐบาลทักษิณ ที่ดำเนินการจัดตั้งกองทุนในทุกหมู่บ้านๆ ละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้ชาวบ้านได้มีแหล่งเงินทุนให้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพ และดำรงชีพ โดยแต่ละหมู่บ้านจะได้รับสิทธิในการบริหารเงินกองทุนด้วยตัวเองทุกขั้นตอน โดยคนในหมู่บ้านจะเลือกสรรคณะกรรมการมาจัดสรรกองทุนกันเอง มีสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หรือ สทบ. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมทั้งหมด

9 ก.พ. 2544 \"ทักษิณ\" เป็นนายกฯ สมัยแรก กับผลงานที่ผู้คนจดจำ

ขอบคุณข้อมูล
https://ptp.or.th/archives/18194 
https://www.bangkokbiznews.com/news/news-update/1084664
วิกิพีเดีย
https://www.posttoday.com/politics/699021
ทักษิณ ชินวัตร ชีวิตและงาน

logoline