23 มกราคม 2567 ที่ศูนย์ราชการจังหวัดระนอง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะใช้ร่างของรัฐบาลหรือของพรรคเพื่อไทย ว่า เป็นเรื่องของการเมือง ซึ่งหลังจากที่ตนเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทราบว่ามีการตั้งเรื่องมาถึงตนแล้ว ซึ่งจะไปดูรายละเอียด คาดว่าไม่เกินปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้
ส่วนหลักเกณฑ์ของรัฐบาลว่า จะใช้ร่างไหนมีหลักอย่างไรนั้น เป็นเรื่องของสภาฯให้สภาฯว่าไป รัฐบาลรอสิ่งที่เราศึกษา ถ้าชัดเจนเมื่อไร ก็จะนำร่างรัฐบาลเข้าสู่สภาฯ ส่วนพรรคการเมืองจะมีความเห็นอย่างไรก็ว่ากันไป แต่นี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่ต้องทำในสิ่งที่เห็นแล้วควรทำ ตามที่ได้มีการแถลงนโยบายไว้ต่อสภาฯ ก็ต้องเดินตามกันไป
ฝ่ายการเมืองจะมีโอกาสคุยกันให้ตกผลึก เพื่อเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติได้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว มันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาชน ถ้ามีเกิดมีการฟ้องร้องขึ้นมา จนไปถึงศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน มันก็จะมีปัญหา
ยืนยันว่า พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีปัญหาอะไรภายในเป็นไปทิศทางเดียวกัน แต่ฝ่ายค้านจะเห็นด้วยหรือไม่ ตนไม่แน่ใจต้องถามฝ่ายค้าน ตอนนี้การเมืองยังไม่เข้าสู่สภาวะปกติ ที่มีการทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ เป็นเรื่องที่ว่า ใครมีจุดยืนไหนก็พยายามอยู่ที่จุดยืนนั้น ไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ว่า จะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร อย่างไรตรงนี้ก็ยังเป็นปัญหาอยู่
เมื่อถามว่า การตั้งประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง จะเป็นช่องทางให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ใช่ตั้งประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง แต่ทางพรรคการเมืองและรัฐบาล ยังมีความเป็นห่วง ว่าจะทำประชามติให้ถูกต้องกี่ครั้ง
"มีหลายคนยืนยันว่า การทำประชามติ 2 ครั้งน่าจะเพียงพอ ซึ่งถ้าทำ 2 ครั้งจริง ก็จะประหยัดงบประมาณ ไป 3,000 ล้านบาท เราไม่ได้ห่วงว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน สิ่งที่เรานำเสนอคือ หากมีหลักประกันว่าผ่านชัดเจน เสียเงินเพิ่มเราก็ยินดี แต่หากสามารถประหยัดได้ และศาลรัฐธรรมนูญชี้แจงได้ชัดเจน ก็สามารถทำได้ แต่หากตอนนี้รัฐบาลไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่มีคำตอบ เพราะเหตุยังไม่เกิด เป็นไปได้ว่าศาลจะไม่วินิจฉัย หรือไม่รับเรื่องไว้
แต่หากเสนอเข้าสภาฯและมีความขัดแย้ง ก็สามารถยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ซึ่งไม่ได้ขัดอะไรกับที่คณะกรรมการชุดที่รัฐบาลตั้งขึ้นได้ดำเนินการ ซึ่งเรามั่นใจว่า 2 ครั้งน่าจะผ่านได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยืนยัน ให้ทำ 3 ครั้ง เราก็เดินหน้าทำ 3 ครั้ง" นายภูมิธรรม กล่าว
พร้อมกล่าวต่อ รัฐบาลไม่ได้วางธงไว้ว่า อยากทำประชามติ 2 ครั้ง แต่เป็นไปตามที่ นายวุฒิสาร ตันชัย หนึ่งใน คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติ แก้รัฐธรรมนูญได้ศึกษาว่า การทำประชามติ 2 ครั้งน่าจะเป็นไปได้ แต่ยังมีข้อโต้แย้งสำหรับบางคน ดังนั้นหากทำ 3 ครั้ง ก็ไม่มีใครโต้แย้ง แต่มีข้อเดียวคือ งบประมาณจะมากขึ้นไปหรือไม่