svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นายกฯ ยินดี "สงกรานต์ไทย" เป็นมรดกโลก จัดฉลองยิ่งใหญ่ลานคนเมืองพรุ่งนี้

นายกฯ ยินดี ยูเนสโก ประกาศ "สงกรานต์ไทย" ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก.วัฒนธรรมจัดเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ 7 ธ.ค. ลานคนเมือง กทม. –วัดสุทัศน์

6 ธันวาคม 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ในช่วงระหว่างการประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวแสดงความยินดีในโอกาสที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) 

นายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ขอบคุณทุกภาคส่วนสำหรับการอุทิศตนและความมุ่งมั่น ทั้งจากฝ่ายประเมินผลและคณะกรรมการฯ ที่ได้คัดเลือกให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” อยู่ในรายการบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ รวมไปถึงสำนักเลขาธิการสำหรับการทำงานอย่างหนักทั้งหมดที่ผ่านมา

สงกรานต์เป็นประเพณีในวันปีใหม่ไทย มีการเฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายนทั่วประเทศ เป็นประเพณีที่ได้รับการฝึกฝนและสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยคนไทยและชุมชนชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นประเพณีอันงดงามและมีความหมาย สะท้อนถึงคุณค่าของความกตัญญูกตเวทีของไทยต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น และจิตวิญญาณแห่งความสามัคคี 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กิจกรรมในช่วงประเพณีสงกรานต์ทั้งหมดถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ของมรดกทางวัฒนธรรม โดยประเพณีสงกรานต์ที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ บิณฑบาต สรงน้ำพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ ตลอดจนการแสดงละครพื้นบ้านและการแสดงที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานสงกรานต์ ดังนั้น สงกรานต์ในประเทศไทยจึงเป็นตัวแทนของมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ และจำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลยินดีที่จะส่งเสริมความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับสงกรานต์ร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ โดยหวังว่าการหารือและทำความเข้าใจร่วมกัน จะนำไปสู่การบรรลุสันติภาพและความมั่นคงสำหรับทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลยินดีต้อนรับผู้มาเยือนจากทั่วทุกมุมโลกให้มาร่วมเทศกาลและสัมผัสประสบการณ์ของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย พร้อมด้วยรอยยิ้มและการต้อนรับที่อบอุ่น

จัดเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่ 7 ธ.ค. ลานคนเมือง กทม.

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จะจัดงานฉลองสงกรานต์ มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ในโอกาสที่ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียน มรดกโลก ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวราราม โอกาสนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมาร่วมแสดงความยินดี และเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ทูตานุทูต โดยจะมีพิธีสงน้ำพระพุทธสิหิงค์ จากนั้นนายกฯ พร้อมคณะจะเข้าร่วมขบวนแห่สงกรานต์ไปยังวัดสุทัศน์ฯ

ทั้งนี้ฉลองสงกรานต์ที่จะเกิดขึ้น เป็นการแสดงความพร้อมของประชาชนชาวไทยที่จะร่วมสืบสาน รักษาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของไทยให้เกิดความยั่งยืน และเป็นการเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ของไทย ที่มีมาแต่โบราณ และเป็นประเพณีที่งดงาม สอดแทรกความอ่อนโยน เอื้ออาทร ความกตัญญู และเป็นประเพณีที่สนุกสนานรื่นเริงของคนไทยโดยใช้น้ำเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันในระดับครอบครัว ชุมชน และระดับประเทศ และเตรียมจะจัดงานสงกรานต์ในไทยกระหึ่มทั่วประเทศตั้งแต่วัดที่ 7 ธันวาคม จนสงกรานต์ปี 2567 เพื่อเป็นหมุดหมายด้านการท่องเที่ยวที่ทั่วโลกต้องเดินทางมาเล่นสงกรานต์ที่ประเทศไทย ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้เข้าประเทศ

“ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปีนี้ไทยมีมรดกโลกถึง 2 รายการ คือ เมืองโบราณศรีเทพ ที่ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และล่าสุดยกย่อง ประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” นายเสริมศักดิ์กล่าว

อนึ่ง “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) ในปี 2561, “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) ในปี 2564

โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ มีประเทศต่าง ๆ เสนอขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ ทั้งสิ้น 45 รายการ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 เพื่อสงวนรักษาแนวปฏิบัติการแสดงออกความรู้และทักษะที่ได้รับการยอมรับของชุมชนหรือกลุ่มคน โดยต้องการสร้างความเคารพและสร้างความตระหนักตั้งแต่ในระดับท้องถิ่นจนถึงสากล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการสงวนรักษา ซึ่งมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ สามารถอยู่ในรูปแบบการแสดงออกทางวาจาและภาษา การแสดงศิลปะ แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีทางเทศกาลเฉลิมฉลอง และงานฝีมือ