svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"คารม"ฉะก้าวไกลทำการเมืองเอาแต่ใจเดินทับรอยว่าเขาแต่ก็เป็นเอง

04 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คารม พลพรกลาง"​ หยัน​ "ก้าวไกล" ปมขับ "หมออ๋อง" เทียบกรณีโหวตสวนมติแก้รัฐธรรมนูญ แซะเดินทับลอยกล่าวหาคนอื่น​ มองเอาแต่ใจ​ ชี้ฝ่ายค้านเมินร่วม คกก.ประชามติ​ ไม่กระทบแก้รัฐธรรมนูญ​ แต่อาจดูไม่เรียบร้อยเท่าไร

4 ตุลาคม 2566 "นายคารม​ พลพรกลาง"​ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นรองโฆษกรัฐบาล​ ซึ่งถือว่าเป็นงานใหม่​ และได้พูดคุยกับ "นายสัตวแพทย์ ชัย​ วัชรงค์"​ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ว่าจะสนับสนุนร่วมมือกันทำงานโดยไม่ได้มีความกังวลอะไร​ และมีการพูดคุยว่ามีความสนิทสนมกับทางรัฐมนตรีฝั่งพรรคเพื่อไทยหรือไม่​เพื่อความสอดคล้องในการทำงาน​

ทั้งนี้ ตนก็ได้อธิบายไปว่าเคยทำงานกับพรรคไทยรักไทย จนมาเป็นพรรคเพื่อไทย​ และจากพรรคอนาคตใหม่​ สู่พรรคก้าวไกล​ และมาร่วมงานกับพรรคภูมิใจ​ไทย​ ซึ่งการทำงานในครั้งนี้ถือว่าเป็นการให้โอกาสจากผู้ใหญ่พรรคภูมิใจไทย​ ขับเคลื่อนประเด็นที่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลเป็นหลัก​ และตนก็จะยังคงพูดในเรื่องประเด็นการเมือง​ ซึ่งตนไม่ใช่ สส. จะพูดประเด็นการเมืองที่ทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ได้ แต่หากเป็นประเด็นทางกฎหมายและ 4 กระทรวงของพรรคภูมิใจไทย นายสัตวแพทย์ ชัย​ ก็จะให้โอกาสตนในการชี้แจง

ขณะเดียวกัน ส่วนตัวจะพูดย้ำครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายถึงการเปลี่ยนช่องทางทางการเมืองว่าตนไม่ใช่ "งูเห่า"​ เนื่องจากที่ไหนที่ไม่สามารถทำงานให้ประชาชน​ จะไปอยู่ที่ใหม่​ แม้แต่เป็นการทำงานทางการเมือง​ จริงๆแล้ว ตนก็อยู่ไม่กี่พรรค แม้แต่การจะย้ายมาสังกัดภูมิใจไทย ก็ต้องรอหลังยุบสภาฯก่อน​ จึงขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชน แต่วันนี้ (4ต.ค.) มีความใจเด็ด มีความเป็นผู้ใหญ่ สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ พูดได้ก็จะพูด แต่ไม่เคยทิ้งอุดมการณ์เพื่อบ้านเมือง

ส่วนมองอย่างไรถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วมคณะกรรมการกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ​ ที่ "นายภูมิธรรม​ เวชยชัย"​ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน​นั้น ซึ่งการทำแบบนี้พรรคก้าวไกลอาจคิดว่า จะไม่ได้รัฐธรรมนูญตามที่คิดไว้​ การออกแบบจะไม่เหมือนกัน​ โดยตนเข้าใจวิธีคิดของพรรคก้าวไกลดี

 

"เขาคิดว่าอยากทำอะไรที่ได้ดั่งใจเขา​ เป็นไปไม่ได้หรอก​ สังคมที่มีคนหลายกลุ่มต้องรวมกัน​ การเลือกส.ส.ร.ที่จะทำกัน กับ​ที่เขาอยากจะให้เลือกตั้งมาแต่ละจังหวัด​ เป็นไปไม่ได้​ เพราะพรรคการเมืองมีหลายพรรค​ ประชาชนก็มีหลายกลุ่ม" นายคารม กล่าว ​ 

สำหรับกรณีของ "นายปดิพัทธ์ สันติภาดา​" รองประธานสภาผู้แทนราษฎร​ คนที่ 1 นั้น มองว่าเป็นการตีความรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์​ แต่พอคนอื่นทำก็ว่าใช้กฎหมายเพื่อให้ตนเองได้ประโยชน์​ นี่จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ชัด​ และจะลุกลามไป​ สุดท้ายตนอยากบอกว่า ครั้งที่ตนโหวตสวนมติพรรคก้าวไกล​ สนใจเรื่องเอกสิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่อง ม.112​ พรรคยังไม่มีมติขับออก​ ซึ่งเป็นการขัดมติพรรคและหลักการของพรรค​

 

"แต่นายปดิพัทธ์​ ถือได้ว่า​พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก แต่ไม่ได้อยู่ฝั่งรัฐบาล​ ไม่อยู่รัฐบาล และมี สส. ไปเป็นรองประธาน​สภา​ จึงไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้​ โดยใช้วิธีการเลี่ยงเช่นนี้​ จึงมองว่า​ เป็นการเดินทับรอยที่กล่าวหา และว่าคนอื่นไว้​ และมองว่า การที่พรรคก้าวไกลทำอะไรเอาแต่ใจตัวเอง​ การเมืองต้องรวมกัน ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้​" รองโฆษกรัฐบาล ระบุ

 

ส่วนการที่พรรคฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมในการร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ส่วนตัวมองว่าไม่ทำให้สะดุด เพียงแต่ไม่สมบูรณ์​ในทุกมิติ​ การที่ฝ่ายค้านไม่ร่วม ก็จะดูเหมือนทุกคนไม่เห็นพร้อง​ อาจจะเกิดความไม่ลงตัวหรือเกิดความขัดแย้ง​ ในเชิงความคิดว่า เนื้อหาของรัฐธรรมนูญ​จะไปในรูปแบบไหน​ 

อย่างไรก็ตาม หากมีการเข้าพิจารณาในสภาฯจะตลอดรอดฝั่งหรือไม่นั้น​ นายคารม​ กล่าวว่า​ เขาเป็นเสียงข้างน้อย​ เราเป็นเสียงข้างมากอยู่แล้ว​ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีการเขียนไว้อยู่แล้วตาม มาตรา​ 256 ตนคิดว่ารัฐบาลชุดนี้มีการเดินทางการเมืองที่ดี​ ในสภาฯก็มีเสียงข้างมาก ตนคิดว่าไม่น่ามีปัญหา​ แต่อาจจะดูไม่เรียบร้อยเท่าไหร่​ ซึ่งการที่พรรคก้าวไกลไม่เข้าร่วม แสดงให้เห็นถึงจุดยืนที่ต่างกัน

logoline