13 กันยายน 2566 สร้างความฮือฮา สมการรอคอย สำหรับ การประชุม ครม. นัดแรก ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ที่วันนี้ ครม. มีมติที่สำคัญออกมาหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่ประชาชน และคอการเมืองจับตา โดยเฉพาะเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจรูปแบบต่าง ๆ
ประเด็นที่สร้าง "เซอร์ไพรส์" คือการเสนอแนวความคิด "เตรียมปรับระบบจ่ายค่าตอบแทนจ้าราชการเป็นสองรอบในหนึ่งเดือน" โดยให้เหตุผลเพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้สิน ให้กับพี่น้องข้าราชการ ได้มีเงินเหลือจ่ายเพียงพอในการดำรงชีวิตตลอดเดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"รัฐบาลได้เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2567 ...
...เชื่อว่าเรื่องนี้จะเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยได้มากพอสมควร ถ้ามีการจ่ายเงิน 2 รอบ จะได้ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน ไม่ต้องรอคอยสิ้นเดือนก็จะมีเงินแบ่งจ่ายออกมา"
หมายเหตุ. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง แถลงภายหลังประชุมครม.#เงินเดือนข้าราชการ 13 กันยายน 2566
ทันทีที่สิ้นคำเปิดเผยจาก "นายกฯ เศรษฐา" ในประเด็นนี้ สร้างเสียงสะท้อน ในหมู่บรรดาข้าราชการ รวมถึงภาคประชาชน ครัวเรือน ออกไปในหลายแง่มุม ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย
บ้างมองว่า ยังเป็นการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินไม่ตรงจุด , บ้างตั้งคำถามทำไมไม่มีการปรับระบบค่าตอบแทน ให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือแม้แต่การมองไปถึงการปรับอัตรากำลังพล ของหน่วยงานราชการบางแห่ง ที่เกินความพอดี ไม่ตรงกับผลสัมฤทธิ์ของงาน
อย่างไรก็ดี เมื่อแนวคิดของนายกฯ ประกาศออกมาแล้ว ทำแน่ โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคมปี 67 นั้น
สิ่งที่ต้องเตรียมปรับตัวรับโจทย์นายกฯ ลำดับแรก หนีไม่พ้น "กรมบัญชีกลาง" กระทรวงการคลัง ที่เป็นคลังใหญ่ คอยกดปุ่มปล่อยเงินค่าตอบแทน ให้ข้าราชการทั่วประเทศ
โดยที่ผ่านมา กรมบัญชีกลาง จะทำหน้าที่กำหนดปฏิทิน การจ่ายเงินเดือนข้าราชการ และปฏิทินการจ่ายบำนาญข้าราชการ เมื่อจะมีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินดือน ข้าราชการรูปแบบใหม่ จะต้องมีการรื้อปฏิทินรูปแบบเดิม รวมถึงการรื้อระบบจ่ายบำนาญ ข้าราชการทั่วประเทศด้วยหรือไม่
ประการที่สอง การจ่ายเงินเดือนตามปฏิทินงบประมาณ ของข้าราชการบางประเภท จะต่างกันอีก คือ ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร รวมถึง ข้าราชการลูกจ้าง พนักงานราชการตามสัญญาจ้าง หน่วยงานกึ่งราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน จะปรับเปลี่ยนเหมือนกันในอนาคตหรือไม่
ประการที่สาม การปรับตัวจากปัจจัยภายนอก เมือมีการปรับระบบจ่ายเงินเดือนสองรอบ ปัจจัยภายนอก จะต้องปรับตัวตามระบบใหม่หรือไม่ หรือเป็นอิสระซึ่งกัน เช่น ภาระหนี้สิน การผ่อนจ่าย เป็นต้น จะมีมาตรการอำนวยความสะดวก ยืดหยุ่นต่อสภาพการณ์ที่กำลังเปลี่ยนระบบใหม่อย่างไร
โฆษกรัฐแจง เปิด สองทางเลือกให้ขรก.
ด้าน"นายชัย วัชรงค์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสคัดค้านจากข้าราชการเรื่องการแบ่งจ่ายเงินเดือนทุก 15 วันว่า เจตนาที่แบ่งจ่ายเงินเป็น 2 งวด เพราะเราคิดว่ามันจะช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะข้าราชการได้ดีกว่า ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อเสนอมาจากทางข้าราชการ แต่เมื่อมีการแถลงข่าวออกไปมีคนมาสะท้อนว่ารัฐบาลไม่เข้าใจ บางคนเขามีค่าใช้จ่ายต้นเดือน บางคนมีค่าใช้จ่าย 50% บางคนมีค่าใช้จ่าย 52% ซึ่งหากมีการจ่ายเงินเดือนแค่ 50% จึงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงต้องการให้จ่ายเงินเดือนงวดเดียว แต่บางคนก็มีปัญหาคนละอย่าง
ซึ่งรัฐบาลก็น้อมรับฟังและได้มีการรายงานเสียงสะท้อนในเรื่องดังกล่าวให้กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบแล้ว และได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง รับโจทย์ไปทำทางเลือกให้ตรงกับความต้องการของปัญหาประชาชน ใครที่ปัญหาของเขาเหมาะกับ 2 งวดเราก็ทำ 2 งวดเพราะบางคนเขาไม่มีภาระอะไรมาก
เมื่อถามว่ารัฐบาลอาจมีแนวคิดในการจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการตามความต้องการใช่หรือไม่ที่มีทั้งต้องการแบบ 2 งวด กับจ่ายในงวดเดียว โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพิ่มเติมว่า เป็นแนวคิดและให้กรมบัญชีกลางไปวิเคราะห์มาว่าจะสามารถสร้างระบบการจ่ายเงินเดือนให้ตอบสนองทั้งสองรูปแบบได้หรือไม่ ยืนยันเรื่องนี้คงไม่ช้า และจะมีคำตอบเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยเพิ่มเติมด้วยว่า เรื่องนโยบายเบิกจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ครั้งนั้น รัฐบาลเศรษฐาไม่ได้บังคับ แต่จะมีช่องให้ติ๊กเลือกว่า จะรับครั้งเดียวเหมือนเดิม หรือแบ่งจ่าย สามารถเลือกได้ แล้วแต่ความต้องการของตัวข้าราชการ จึงขอชี้แจงไปยังพี่น้องข้าราชการ และพี่น้องประชาชนให้เข้าใจตรงกันด้วย
ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ระบุว่า
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
เป็นปีที่ 70 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควร แก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558"
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 50/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
"มาตรา 50/1 ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็น เพื่อเป็นการเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ
ได้รับเงินเดือน หรือเงินประจำตำแหน่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม ก.พ. อาจกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับการเยียวยาโดยให้ได้รับเงินเดือน หรือเงินประจำตำแหน่งตามที่เห็นสมควรเป็นกรณี ๆ ไปก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด"
มาตรา 4 ให้ยกเลิกบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญ ท้ายพระราชบัญญัติ
ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และให้ใช้บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำชั้นสูง ของข้าราชการพลเรือนสามัญท้ายพระราชบัญญัตินี้แทน
มาตรา 5 ในวาระเริ่มแรก ให้ปรับเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ได้รับอยู่เดิม เข้าสู่อัตราในบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับปฏิบัติการ และระดับชำนาญการ และผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน และระดับชำนาญงาน ได้รับเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่ได้รับอยู่เดิม ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ อีกร้อยละสี่ของเงินเดือนที่ได้รับอยู่ ในกรณีที่การปรับเงินเดือนดังกล่าว ทำให้มีเศษไม่ถึงสิบบาท ให้ปรับตัวเลขเงินเดือนดังกล่าว เพิ่มขึ้นเป็นสิบบาท
ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ - เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับอัตราเงินเดือน ของข้าราชการพลเรือนสามัญให้เหมาะสม เป็นธรรม และได้มาตรฐาน โดยคำนึงถึงค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป ค่าตอบแทนในภาคเอกชน ฐานะการคลังของประเทศ ความแตกต่างระหว่างรายได้ของข้าราชการระดับต่าง ๆ ในประเภทเดียวกัน และต่างประเภทกัน และปัจจัยอื่นที่จำเป็น สมควรปรับบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และกำหนดมาตรการเยียวยาให้ข้าราชการพลเรือนสามัญ ได้รับเงินเดือน หรือเงินประจำตำแหน่ง ที่เหมาะสมและเป็นธรรม ตามควรแห่งกรณี ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญ ท้ายพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558