svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ณัฐชา" อ้าง MOU ตึง 8 พรรคร่วมจะดัน "พิธา" เป็นนายกฯ อย่างสุดความสามารถ

"ณัฐชา" อ้าง MOU 8 พรรคร่วม จะร่วมผลักดันนายกฯ ชื่อ "พิธา" อย่างสุดความสามารถ ระบุ เพิ่งโหวตไปครั้งเดียว ลั่น "เราถอยไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว"

17 กรกฎาคม 2566 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวถึง การเตรียมความพร้อมโหวตนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 ก.ค. ว่า วันนี้(17 ก.ค.) มีการประชุมเตรียมความพร้อมว่า วันที่ 19 ก.ค. จะมีการอภิปรายอย่างไร ที่จะเชิญชวนให้มีเสียงสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพิ่มขึ้น รวมถึงการเจรจาต่อรองกับสมาชิกวุฒิสภา( ส.ว.) และ ส.ส.ที่ยังไม่ได้โหวตให้ งดออกเสียง และไม่เห็นชอบ ก็อยากจะใช้เวทีรัฐสภาในการพูดคุยว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรและสิ่งที่เราต้องการจะทำคืออะไร เมื่อความเห็นตรงกันแล้ว ก็จะทำให้สามารถผ่านไปได้ เนื่องจากประชาชนรอคอยรัฐบาลใหม่เข้าไปช่วยเหลือความเป็นอยู่

ส่วนจะมีการหารือกันหรือไม่ว่า จะนำข้อบังคับการประชุมเรื่องญัตติการเสนอชื่อ นายพิธา ได้ครั้งเดียว เป็นข้อกังวลของพรรคหรือไม่ นายณัฐชา ชี้แจงว่า หมวดของการเสนอนายกรัฐมนตรีและหมวดของการเสนอญัตติ เป็นคนละหมวดกันอยู่แล้ว และการโหวตนายกรัฐมนตรี พรรคได้อ่านข้อบังคับอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า เสนอได้ ไม่เช่นนั้น การเสนอโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งต่อไปไม่สามารถทำได้ และการโหวตนี้เป็นเรื่องการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เสนอนายพิธา ดังนั้น ในสภาผู้แทนราษฎรมีมติที่จะเสนอโดยเสียงรับรองของ ส.ส. ถ้าผ่าน ก็จะสามารถเสนอตัวนายกรัฐมนตรีให้กับรัฐสภา ได้มีเสียงสนับสนุนต่อไป

\"ณัฐชา\" อ้าง MOU ตึง 8 พรรคร่วมจะดัน \"พิธา\" เป็นนายกฯ อย่างสุดความสามารถ

เมื่อถามว่า กรณีโหวตนายพิธา ครั้งที่ 2 ไม่ผ่าน การโหวตครั้งที่ 3 จะมีท่าทีอย่างไร นายณัฐชา กล่าวว่า พรรคก้าวไกลได้ออกไทม์ไลน์การต่อสู้ไว้ชัดเจนแล้ว ทั้งการโหวตนายกรัฐมนตรี ในครั้งที่ 2 หากเสียงสนับสนุนผ่านก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หากไม่ผ่านก็มี 2 ทาง โดยหากเสียงเพิ่มขึ้นจะโหวตครั้งที่ 3 หากเสียงเท่าเดิมหรือน้อยลงจะเดินหน้า แก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรี

ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ที่สื่อสารให้ประชาชนที่เฝ้าติดตามได้รับทราบเพราะมีกระแสวิพากวิจารณ์การโหวตนายกฯไปต่างๆนาๆ ส่วนหากครั้งที่ 2 และ 3 ยังไม่ได้ชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เป็นไปตามที่นายพิธาได้แถลงไว้ว่าจะสู้ใน 2 สมรภูมิ หากผ่านหรือไม่ผ่านอย่างไร ก็จะเป็นไปตามลำดับที่ควรจะเกิดขึ้น โดยมีการหารือกันภายในพรรคก้าวไกลแล้ว

เมื่อถามว่าการแก้ไข ม.272 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลดูเหมือนจะไม่เห็นด้วย นายณัฐชา กล่าวว่า เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นพูดคุย ส่วนพรรคร่วมฯจะเห็นว่าอย่างไร ก็คงต้องหารือกันต่อ ส่วนแนวทางในการแก้ไข ม.272 เชื่อว่า พรรคฝ่านค้านในอดีตเคยเห็นพ้องมาแล้วว่า ม.272 มีปัญหา ส่วนใครที่บอกว่าม. 272 มีปัญหาแล้วจะไม่โหวตให้ ก็ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่าเพราะอะไร และพรรคก้าวไกลก็ยืนยันมาตลอดว่า กฎหมายนี้มีปัญหาและวันนี้ก็เสนอแก้ตามระบบรัฐสภา

เมื่อถามว่า มีเสียงจากฝั่งพรรคร่วมฯมองว่าพรรคก้าวไกล สนใจวาระการเมือง ไม่สนใจวาระปากท้องประชาชน นายณัฐชา ชี้แจงว่า เสียงของประชาชนสำคัญ

"วันนี้การต่อสู้เพิ่งจะผ่านไปครั้งเดียว แล้วบอกจะไม่สู้ต่อด้วยเหตุผลอะไร ผมไม่ทราบ เพิ่งจะผ่านการโหวตไปเพียงครั้งแรก มีเสียงวุฒิสภามาถึง 13 เสียง มีเสียงพรรคร่วมฯ 8 พรรคผนึกกำลังอย่างเข้มแข็ง ผมเชื่อว่าพรรคร่วมฯ ผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง 312 เสียง การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นไปไม่ได้เลย การต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่เพียงพรรคก้าวไกลผลักดันประเด็นต่างๆ แต่เป็นเพราะเราหลังพิงพี่น้องประชาชน "เราถอยไม่รู้จะถอยอย่างไรแล้ว" วันนี้เราหันหลังไปเจอพี่น้องประชาชนบอกว่าการเลือกนายกฯครั้งที่ 1 ผ่านไปแล้ว พี่น้องประชาชนเฝ้ารอการโหวครั้งที่ 2 อยู่ แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากพรรคการเมืองฝั่งเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง" นายณัฐชา กล่าว

เมื่อถามว่า ท่าทีของพรรคเพื่อไทย เรื่องโรดแมป อยากให้จบในวงประชุม ก่อนที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชน นายณัฐชา กล่าวว่า เป็นเพียงสิ่งที่อยากสื่อสารให้ประชาชนเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียงกระบวนการธรรมดาทั่วไป สามารถเข้าใจได้ตามปกติ แต่หากวันนี้ไม่เปิดแผนภูมิออกมา ประชาชนก็จะเข้าใจไปว่า อาจจะสู้ไป 5 ครั้ง 10 ครั้งหรือ หรือจนกว่า ส.ว.จะหมดวาระ แต่การที่ก้าวไกลออกมาบอก เพื่อย้ำในเส้นทางการต่อสู้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่จะพูดคุยกับประชาชนและพรรคร่วม 8 พรรค ก็พูดคุยตกลงกันแบบนี้อยู่แล้ว และในการลง MOU ก่อนเลือกประธานสภาฯ ก็ระบุไว้ว่า เราจะผลักดันนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อย่างสุดความสามารถ

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ไปพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยพัฒนา ให้มาโหวตนายพิธา จะมีเงื่อนไขใดที่พรรคก้าวไกลรับได้หรือไม่ได้บ้าง นายณัฐชา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบเงื่อนไข ว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไปพูดคุยเงื่อนไขใดบ้าง และหากเกิดขึ้นจริงอยากให้นำมาพูดคุยกันในพรรคร่วมฯ

เมื่อถามว่า การพูดคุยที่ยังไม่ลงตัวระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมถึงการไม่เห็นด้วยในการแก้ไข ม.272 จะเป็นสัญญาณการแตกหักหรือไม่ นายณัฐชา กล่าวว่า การแก้ไข ม.272 จะเกิดขึ้นหลังจากการเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 วันนี้ถึงอยากทุกคนใน8พรรคร่วมโฟกัสที่การโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ก่อนและให้ช่วยดันหาหนทางดึง2สภามาช่วยกันให้โหวตผ่านครั้งที่2ไปได้ แล้วจะไม่มีการพูดคุยเรื่องอื่นๆต่อ

วันเซ็นโอยู เลือกประธานและรองประธานสภาฯ 22 พ.ค.66

ส่วนจะมีการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างหรือไม่นั้น มองว่า พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลผนึกกำลังกันแข็งขัน ไม่มีทางพลิกไปทางไหนได้เลย เพราะ 188 คือเสียงข้างน้อยในสภา และ ส.ว.บางส่วนก็ประกาศงดออกเสียงไปตลอด ก็ไม่ได้หมายความว่าจะโหวตให้ฝั่ง 188 เสียง ดังนั้นจึงเชื่อว่า ฝั่ง 188 เสียงก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะผลักดันใครเป็นนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่า วันนี้ยังไม่มีสัญญานสลับขั้วเพราะ 8 พรรคจับมือกันอย่างเข้มแข็ง

ส่วนก้าวไกลจะหากจะพลิกเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ คิดว่า หากพลิกต้องพลิกทั้งก้อน 312 เสียงเพราะจับกันแน่น จะพลิกแค่ของเราอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ ถ้าพรรคจัดตั้งรัฐบาล ผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง 312 เสียง จะเป็นฝ่ายค้านไม่ได้เลย เพราะฝ่ายค้านจะมี 312 เสียงไม่ได้

 "ต่อให้พรรคหนึ่งพรรคใดใน 8 พรรคหลุดออกไป แต่ก้าวไกลกับเพื่อไทย 2 พรรค 151 และ 141 เสียง จับมือกันอย่างแน่วแน่ ฟังเสียงของพี่น้องประชาชน และทำตามสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง ผมคิดว่าไม่สามารถพลิกขั้วเปลี่ยนข้าง เพราะวันนี้สิ่งที่ประชาชนมอบให้คืออยากเห็นรัฐบาลประชาธิปไตย รัฐบาลที่เป็นฝ่ายค้านในอดีต ต่อสู้เคียงข้างกันมา 4 ปี ทำงานได้ดีจึงได้รับคะแนนจากพี่น้องประชาชน เพื่อให้มาเป็นรัฐบาลตามความต้องการของประชาชน" นายณัฐชา กล่าว

เมื่อถามว่า ยืนยันหรือไม่ว่า ณ วันนี้ จะไม่มีการปล่อยมือกันอย่างแน่นอน แม้หลายฝ่ายจะให้ความเห็นว่าหย่ากันแล้ว นายณัฐชา ยืนยันว่าไม่มีอย่างแน่นอน แม้วันนี้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีเสียงแตกออกไป แต่ตนเชื่อว่าพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย รวมถึง 8 พรรคร่วมฯ มีการหันหน้าพูดคุยผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง เพราะการต่อสู้ร่วมกันมาตลอด 4 ปี รู้ว่าประชาชนต้องเจ็บปวดอย่างไร วันนี้สิ่งที่ต้องการเข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ได้ต้องการแค่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล แต่เราต้องการจะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่หมักหมมให้กับประชาชน ถ้าพลิกขั้วไปเอาขั้วรัฐบาลเดิมที่เคยสร้างปัญหามาแก้ปัญหาเก่า ตนเชื่อว่า ประชาชนก็คงไม่ไว้ใจ

ทั้งนี้ เอ็มโอยู ข้อที่ 3 ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ที่ทำไว้ในวันเคาะนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา เป็นประธาน ระบุว่า 

"ข้อตกลงเรื่องตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นไปเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพระหว่าง 8 พรรคในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงการเสนอและสนับสนุนตนเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างสุดความสามารถ ตามข้อตกลงร่วม (MOU) ที่แถลงไว้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566"

เอ็มโอยู ที่พรรคก้าวไกลทำร่วมกับพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภาฯ